Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

กินอาหารทะเลช่วงหน้าฝน เสี่ยงท้องเสียจริงหรือไม่

เชื่อว่า “อาหารทะเล” น่าจะเป็นของโปรดปรานสำหรับใครหลายคน ยิ่งถ้ามาพร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ดสุดแซ่บ คงจะฟินน่าดู 😁 แต่ในความฟินนั้นแฝงบางอย่างที่คุณต้องรู้มาด้วย

เรากำลังพูดถึง “ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี” (Red tide) หรือ แพลงก์ตอนบลูม ที่คนไทยมักจะเรียก ว่า ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ ที่ทำให้น้ำทะเลกลายเป็นสีต่างๆ เช่น เขียว แดง น้ำตาล พร้อมกับส่งกลิ่นเหม็นเน่าอย่างน่ารำคาญใจ

ผศ.สมหมาย เจนกิจการ ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติว่า ปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นช่วงปลายฝนต้นหนาว (ต.ค.-ธ.ค.) ซึ่งสาเหตุเกิดจากสาหร่ายเซลล์เดียวกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต (Dinoflagellate) ที่เป็นแพลงก์ตอนพืชชนิดหนึ่งได้ปล่อยสารพิษอย่าง Paralytic shellfish poison เรียกสั้นๆ ว่า “PSP” ออกมาทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงส่งผลให้สัตว์น้ำตาย มีสารพิษติดในตัวเล็กน้อยเท่านั้น ขณะเดียวกันสัตว์หน้าดินอย่าง “หอยสองฝา” จะทำการกินแพลงก์ตอนเหล่านี้และกรองสารพิษกักไว้ที่ตัว เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม เป็นต้น

ไม่เป็นอันตรายกับหอยแต่เป็นอันตรายกับคน

ผศ.สมหมาย บอกเพิ่มเติมว่า หากไปจับหอยเหล่านี้มารับประทานจะมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะท้องเสียหรือถึงขั้นอาหารเป็นพิษได้ เพราะสารพิษจะไม่สลายไป แม้ว่าจะผ่านกรรมวิธีการทำอาหารแบบใดก็ตาม 

เมื่อก่อนนาน ๆ ครั้งจะเกิดปราฏการณ์นี้แต่ปัจจุบันเกิดขึ้นบ่อยมาก

ปกติแล้วแพลงก์ตอนกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติอาศัยอุณหภูมิและปริมาณแสงที่เหมาะสม มีคลื่นลมไม่แรงมาก จะเติบโตขยายตัวออกมาในช่วงเวลาตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อหมดเวลาสนุกสนานก็จะสร้างเกาะป้องกันตัวเองแล้วมุดจมลงใต้ดินคล้ายกบจำศีล

แต่ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาปริมาณสารอาหารในทะเลเต็มไปด้วยฟอสฟอรัสและไนโตรเจน ที่มาจากสิ่งตกค้างจากขยะหรือน้ำเสียที่ไหลลงทะเล เช่น ผงซักฟอก เป็นต้น นำไปสู่การเจริญเติบโตของแพรงก์ตอนอย่างรวดเร็ว

สามารถป้องกันเบื้องต้นได้อย่างไร

ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะคอยประกาศแจ้งเตือนชาวบ้านและชาวประมงในแต่ละพื้นที่ให้ระวังเมื่อเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี

อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารทะเลให้ปลอดภัยเบื้องต้นคือ “ความสด” และ “ปรุงสุก” และติดตามข่าวสารอยู่เสมอเพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้าง

แชร์