ตกมัน (ว.) หมายถึง ลักษณะที่ต่อมน้ำมันที่ขมับของช้างบวมโต และมีน้ำมันใส ๆ ไหลออกมา
ช้างป่า ตกมัน เป็นพฤติกรรมในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ส่วนใหญ่มักเป็นช่วงฤดูหนาว ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของตัวเมีย (ปกติช้างผสมพันธุ์ได้ตลอดปี) โดยการตกมันจะเกิดขึ้นได้กับช้างป่าทั้งเพศผู้ และเพศเมียที่มีร่างกายสมบูรณ์ในวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 16-60 ปี)
อาการตกมันของช้าง จะมีของเหลวข้นคล้ายนํ้ามันเหนียวสีเข้ม มีกลิ่นแรง ไหลออกมาจากรูเล็ก ๆ บริเวณต่อมที่ขมับทั้งสองข้าง ระหว่างรูหูกับตา ระยะที่ตกมันเป็นช่วงที่ช้างป่าแสดงอาการดุร้ายฉุนเฉียวมากที่สุด โดยช้างเพศผู้จะฉุนเฉียว เหวี่ยงงวงไปมาไม่อยู่นิ่ง ดุร้าย ส่วนช้างเพศเมียจะเซื่องซึม ดุร้ายน้อยกว่า

หากตกอยู่ในสถานการณ์เผชิญกับ ช้างป่า ตกมัน ควรประเมินสถานการณ์ ดังนี้
ขั้นที่ 1: สังเกตอารมณ์ของช้าง
– ช้างอารมณ์ดีหูและงวงจะสะบัดไปมา หางจะแกว่ง ไม่ค่อยสนใจคน
– ช้างอารมณ์ไม่ดีหูจะตั้งกาง งวงและหางจะหยุดแกว่ง พร้อมจ้องมองมาทางคน บางครั้งจะชูงวงขึ้นพร้อมกับยืดโน้มตัวให้สูงขึ้นไปด้านหน้า แสดงออกถึงการขู่หรือจู่โจม
– ช้างเดินหรือวิ่งเข้าหา โดยหูโบกไปมา หรือแกว่งงวงและขาไปมา มักเป็นลักษณะของการส่งสัญญาณถึงการขู่ หรือเพียงแค่ต้องการทดสอบ
– หากหูกางออกและงวงนิ่ง หรือม้วนงวงร่วมด้วย โดยมากเป็นการจู่โจมจริง
ขั้นที่ 2: ถอยให้ห่างบริเวณที่พบช้าง
– หากพบช้างป่าโดยบังเอิญต้องถอยออกจากพื้นที่บริเวณนั้น พึงระลึกไว้ว่าอย่าวิ่งกลับหลังหัน หรือหันหลังให้กับช้าง
– กรณีที่ต้องวิ่งหนี จำไว้ว่า ช้างป่าวิ่งเร็วมาก และห้ามวิ่งเป็นเส้นตรง ควรวิ่งตัดเฉียง 45 องศา ไปในทิศทางข้างหน้า ไม่ควรวิ่งหักฉาก 90 องศา เพราะจะทำให้ช้างป่าเข้าใกล้ได้มากยิ่งขึ้น
– หลบหลีกขึ้นที่สูง เช่น ปีนต้นไม้ที่มีความแข็งแรงและมีความสูงเพียงพอเกินระยะที่ช้างป่าจะใช้งวงจับยึดได้
– กรณีไปเป็นกลุ่ม การส่งเสียงดังเพื่อขับไล่ช้างเป็นอีกทางเลือกในการช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มให้ปลอดภัย
– สังเกตสิ่งรอบข้าง สิ่งกำบังเพื่อหลบซ่อนตัว เช่น ต้นไม้ใหญ่ ก้อนหิน กองดิน รวมถึงหลบในหลุมที่ลึกหรือคู แต่ต้องแน่ใจว่าหลุมหรือคูนั้น ลึกมากพอและไม่กว้างขวางมากนัก
ขั้นที่ 3: หากอยู่ในระยะกระชั้นชิดหรือช้างจู่โจม ในระยะใกล้มาก
– ให้ทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็น เพื่อการเคลื่อนที่สะดวก รวดเร็วและคล่องตัว และเพื่อใช้สิ่งของดึงดูดความสนใจจากช้าง

ข้อมูลจาก : งานวิจัยความรู้เรื่องช้าง และข้อปฏิบัติเมื่อเจอช้าง : กลุ่มงานวิจัย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช