เครื่องหมายอัศเจรีย์

“ถ้ำพระยานคร” ธรรมชาติ-ประวัติศาสตร์ ที่ยังหายใจ

เขาหินปูนสูงชันทอดตัวระโยงระยางยาวเป็นทิวเขา แต่งแต้มสีสันเขียวชอุ่มจากแมกไม้นานาพันธุ์ ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่งจากผืนน้ำทะเลสีเทาครามยามแสงอาทิตย์ส่อง

ธรรมชาติอันรื่นรมย์จากสายตาสะท้อนผ่านความรู้สึก เมื่อยามถึงอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่นี่มีพื้นที่มากถึง 61,300 ไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งแรกของประเทศไทย

คำว่า “สามร้อยยอด” มีตำนานบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตมีเรือสำเภาจีนแล่นผ่าน ประสบกับพายุจนอับปาง มีผู้รอดชีวิตเพียงสามร้อยคน ได้อาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของ “สามร้อยรอด” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น “สามร้อยยอด” ในปัจจุบัน

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดเต็มเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์อันน่าอัศจรรย์ มีธรรมชาติและประวัติศาสตร์ เรียงร้อยเรื่องราวบอกเล่าสืบต่อรุ่นสู่รุ่นหนึ่งในความอัศจรรย์ คือ “ถ้ำพระยานคร” เรื่องราวที่ยังมีลมหายใจ ถ้ำที่นี่มีลักษณะเป็นถ้ำหินปูนมีโพรง ถูกค้นพบโดยเจ้าพระยานคร ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช  ขณะนำเรือจอดหลบพายุ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

ห้องแรกเมื่อลงมาถึงจะมีสะพานหินธรรมชาติพาดอยู่ด้านบน อันเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เล่าว่า สมัยก่อนมักมีสัตว์ป่าตกลงมาตายบ่อยครั้ง ส่วนห้องถัดไปเป็นคูหากว้างขวาง โอ่งโถง ที่ตั้งของ “พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์”

พระที่นั่งองค์นี้เป็นทรงจตุรมุขสะท้อนแสงระยิบระยับจากแสงแดดที่สาดส่องผ่านช่องโพรง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ออกแบบโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของผู้มาเยือน ที่มักจะไม่พลาดเก็บภาพกลับไปเป็นที่ระลึก โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมที่แสงจะตกลงมากระทบยังพระที่นั่งพอดิบพอดี

การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ไม่ยากอย่างที่คิด มีสองเส้นทาง คือ เดินผ่านภูเขาหินปูนสองลูก และอีกเส้นทางหนึ่งคือการนั่งเรือโดยสารมาลงที่หาดแหลมศาลา จากนั้นเดินผ่านภูเขาหินปูนเพียงหนึ่งลูกเท่านั้น

ระหว่างเส้นทางเดินจะได้พบกับหินปูนที่มีแร่แคลไซด์ตกผลึก หินงอกหินย้อยที่มีการสะสมของตะกอน เศษหินปูนแบบก้อนเหลี่ยมและหินปูนโดโลไมต์ รวมถึงค่างแว่นถิ่นใต้ จอมทโมนที่คอยต้อนรับอย่างเป็นมิตร

ผู้มาเยือนไม่ต้องกังวลว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนจะได้รับอันตราย เพราะถ้ำแห่งนี้ไม่มีน้ำไหลผ่าน อย่าง ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่มีประกาศห้ามเข้าในฤดูฝนโดยเด็ดขาด จึงสามารถเข้าชมความสวยงามได้ตลอดทั้งปี มีก็แต่นักท่องเที่ยวเองจะลื่นล้มระหว่างทาง

เจ้าหน้าที่แนะนำว่า สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัว ควรใช้บริการโดยสารเรือแทนการเดิน และหากรู้สึกร่างกายอ่อนแอสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งเตรียมอุปกรณ์ภาคสนามคอยให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ส่วนใครเที่ยว “ถ้ำพระยานคร” ไม่หนำใจ อยากจะท่องสำรวจถ้ำอื่น ๆ อีกล่ะก็ สิ่งที่ควรรู้ไว้ คือ วิธีการเอาตัวรอด เมื่อ “ไปถ้ำ” และ “ติดถ้ำ”

ก่อนเดินทางจำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่และบุคคลใกล้ชิดทราบเสมอ ขาดไม่ได้ คือ อุปกรณ์จำเป็น เช่น อาหาร เชือก มีด ยารักษาโรค ไฟฉาย อุปกรณ์จุดไฟให้ความอบอุ่น และย้ำว่า ไม่ควรไปสำรวจถ้ำในฤดูฝนเด็ดขาด

หากติดถ้ำระยะเวลานาน โดยไม่สามารถหาแหล่งน้ำได้ สามารถดื่มน้ำปัสสาวะของตนเองได้ โดยไม่ถือเป็นของเสีย และพยายามหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมจากน้ำค้างหินย้อย น้ำค้างยอดใบไม้ รวมถึงต้องทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ ด้วยการก่อกองไฟ เพราะอุณหภูมิในถ้ำมักลดลงในเวลากลางคืน

ที่สำคัญ ในระหว่างการเดินทาง ควรทำสัญลักษณ์ระหว่างทาง เพื่อให้ผู้ตามหาสามารถรู้ตำแหน่งของผู้ติดถ้ำได้ แต่ห้ามขีดเขียนผนังถ้ำโดยเด็ดขาด ที่สำคัญ อย่าลืมตั้งสติและหาทางออกจากถ้ำให้เร็วที่สุด โดยการจุดเทียนดูทิศทางลม หากพบว่าลมผ่านมาทางไหน ให้สันนิษฐานว่า นั่นคือทางออก

นี่เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นในการเที่ยวถ้ำอย่างปลอดภัย สำคัญคือ ต้องปฏิบัติคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

แชร์