เครื่องหมายอัศเจรีย์

ทำไม ประชาชน ไม่สามารถหาข้อมูลน้ำมันรั่ว จากบริษัทต้นเหตุได้ ?

ครบ 1 สัปดาห์ หลังเกิดเหตุท่อน้ำมันดิบใต้ทะเล อ่าวมาบตาพุด จ.ระยอง รั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร  แต่จนถึงขณะนี้ข้อมูลน้ำมันที่รั่วออกมาก ไปจนถึงการใช้สารเคมีกำจัดมีจำนวนเท่าไร ยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ  

จำนวนน้ำมันรั่วที่แท้จริง ?

คำถามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต และอยากรู้ที่สุด ณ เวลานี้ เพราะตัวเลขดังกล่าวมีผลต่อการคำนวณมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ช่วงเกิดเหตุวันแรก มีรายงานว่า เหตุการณ์นี้มีน้ำมันรั่วไหลถึงกว่า 400,000 ลิตร  ต่อมากรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า น้ำมันที่รั่วอยู่ที่ประมาณ  160,000 ลิตร ขณะที่ประกาศจากบริษัทฯประเมินว่า มีน้ำมันรั่วไหลเพียง 50,000 ลิตร 

แต่เมื่อมีการนำภาพถ่ายดาวเทียมทางอากาศมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ในปี 2556 ซึ่งครั้งนั้น มีน้ำมันรั่วไหล 50,000 ลิตร กลับพบว่าครั้งนี้ปริมาณน้ำมันได้กระจายตัวเป็นวงกว้างและดูมีปริมาณมากกว่า “สิ่งที่ปรากฏกับข้อมูลที่เปิดเผยออกมา ไม่สะท้อนกับความจริง” คือคำพูดที่ นายสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาคตะวันออก สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มพยายามบิดเบือนข้อมูลทำให้ความรุนแรงของภัยพิบัติดูเล็กลง 

นายสมนึก อธิบายเสริมว่า ในกรณีเกิดภัยพิบัติร้ายแรงลักษณะนี้ ควรมีการระดมกำลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาควบคุมสถานการณ์ เช่น การจ้างบริษัทที่ดูแลเรื่องนี้ในประเทศให้เข้ามาจัดการทันที แต่ในครั้งนี้จะเห็นว่า มีการรอให้เจ้าหน้าที่จากต่างประเทศที่บริษัทไว้ใจเข้ามาดำเนินการ ทำให้ต้องเสียเวลา และที่เห็นได้ชัดคือการให้กองทัพเรือ ซึ่งไม่ได้มีบทบาทหน้าที่หรือความรู้เฉพาะในด้านนี้เข้ามาดำเนินการ ส่วนนี้จึงทำให้การติดตามข้อมูลเป็นไปได้ยาก เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับบริษัทฯ

ทำไมประชาชนไม่สามารถหาข้อมูลน้ำมันรั่วจากบริษัทต้นเหตุได้ ?

“อย่าว่าแต่ประชาชนทั่วไปจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้เลย สื่อมวลชน หรือ นักวิชาการ เองยังไม่มีโอกาส” นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาคตะวันออก เน้นย้ำ พร้อมระบุว่า ประชาชนทั่วไป รวมถึงชาวบ้านไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ แม้จะมีภาพความเสียหายออกมา ที่มากกว่าปี 2556 แต่บริษัทยืนยันว่าตัวเลขน้ำมันที่รั่ว คือจำนวน 5 หมื่นลิตร 

กรณีนี้ ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ไม่ชัดเจนจนสร้างความกังขาให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ 

“ร่าง พ.ร.บ. การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) คือเครื่องมือสำคัญที่ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาคตะวันออก มองว่าจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ เพราะหากมีการบังคับใช้จริง บริษัทที่ประกอบกิจการทั้งหมดจะต้องบันทึกข้อมูลการเก็บสารพิษ, การนำสารเคมีมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ รายงานต่อกรมควบคุมมลพิษ เช่น กรณีน้ำมันรั่วระยอง ข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล, จำนวนสารกระจายคราบน้ำมัน ที่ถูกใช้ไปในการกำจัด จะปรากฏต่อสาธารณชน ผ่านรายงานที่บริษัทแจ้งไว้กับกรมควบคุมมลพิษ แต่น่าเสียดาย ที่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวถูกปัดตกไป”  และแม้ว่าร่างพ.ร.บ.นี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ด้วยระดับความรุนแรงของภัยพิบัติ รัฐควรเร่งติดตามนำข้อมูลมาเสนอต่อสาธารณะแบบรายวัน “เหมือนยอดผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ, ผู้เสียชีวิต และ ยอดผู้ป่วยสะสม กรณีนี้ก็เช่นการ ควรมีการรายงานข้อมูลทั้งจำนวนน้ำมัน คุณภาพน้ำ และคุณภาพอาหารทะเล ว่าอยู่ในระดับใด”

1 สัปดาห์ของเหตุการณ์ นอกจากข้อมูลที่ยังคลุมเครือ  แผนการเยียวยาที่ชัดเจน ยังไม่ถูกชี้แจง มีเพียงการตั้งโต๊ะรับเรื่องหลังเกิดเหตุ 6 วัน “มันช้ามาก ขนาดปี 2556 ยังติดต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบเร็วกว่านี้” นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาคตะวันออก พูดปิดท้ายคำถาม  

เหตุการณ์นี้ “ใคร” ควรมีบทบาทมากที่สุด ?

กรณีดังกล่าว นายสมนึก วิเคราะห์ว่า หลังเกิดเหตุ ควรมีการตั้งหน่วยงานกลางมาเป็นศูนย์ฯเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินงานทันที โดยมีผู้สั่งการเพียงคนเดียว ซึ่งตรงนี้ มองว่าผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการที่จะสามารถสั่งให้บริษัทฯ ต้นเหตุ นำข้อมูลข้อเท็จจริงมาเปิดเผยอย่างโปร่งใส รวมถึงสั่งให้ทำแผนฟื้นฟูเยียวยาอย่างเด็ดขาดและเป็นธรรม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่ในความเป็นจริง จะเห็นว่า ขณะนี้ ไม่มีความเคลื่อนไหวจากฟากของผู้นำประเทศต่อกรณีดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม  และยังพบว่าแนวทางการดำเนินงานและแก้ไขปัญหา ก็ไม่มีความเป็นเอกภาพ จะเห็นได้จากการที่มีรัฐมนตรีกระทรวงฯ, หน่วยงาน และ กรม ต่าง ๆ ลงพื้นที่ตรวจสอบ และออกมาให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน  จนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน อีกทั้งปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไปหลายวันแล้วแต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องแผนการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ระยะสั้น ระยะยาว ทั้งในด้านของการทำประมง, ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว 

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นายสมนึกยอมรับว่า รู้สึกกังวล เนื่องจากผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่ว มีผลต่อระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาว ซึ่งขณะนี้อาจจะยังไม่ปรากฏในทันที และอาจต้องอาศัยระยะเวลาหลายปี กว่าจะเห็นภาพชัดเจน และแม้ว่าบริษัทฯจะอ้างว่าพร้อมเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์นี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนจังหวัดก็มีการตั้งโต๊ะรับเรื่อง แต่ตรงนี้มองว่าน่าจะเป็นเพียงละครฉากหนึ่งเท่านั้น

แชร์