Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

นักวิทย์หวังศึกษา “ ต้นไม้ โดดเดี่ยวที่สุดในโลก” ไขคำตอบปัญหาโลกร้อน

นักวิทย์หวังศึกษาต้นไม้ โดดเดี่ยวที่สุดในโลก ไขคำตอบปัญหาโลกร้อน
ต้นไม้ 1

นักวิจัยในนิวซีแลนด์เชื่อว่าต้นสนสปรูซพันธุ์ซิตกา ต้นไม้ ในวงศ์สนไม่ผลัดใบที่ตั้งตระหง่านอย่างโดดเดี่ยวบนเกาะ Campbell จะช่วยไขความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้

ต้นสนสปรูซต้นนี้สูง 9 เมตร ได้รับการบันทึกสถิติโดย Guinness World Record ให้เป็นต้นไม้ที่ห่างไกลที่สุดในโลก มันคือไม้ยืนต้นเพียงต้นเดียวบนเกาะที่เต็มไปด้วยไม้พุ่มซึ่งตั้งอยู่ห่างจากนิวซีแลนด์ไป 700 กิโลเมตร ในมหาสมุทรใต้ และเป็นไม้ยืนต้นเพียงต้นเดียวในรัศมี 222 กิโลเมตร ถ้าจะมองหาเพื่อนบ้านไม้ยืนต้นที่ใกล้กันที่สุด จะพบได้บนหมู่เกาะ Auckland

ต้นไม้ 2

ก่อนที่ต้นสนสปรูซบนเกาะ Campbell จะครองสถิตินี้ ว่ากันว่าต้นไม้แห่ง Ténéré ที่ประเทศไนเจอร์เป็นไม้ยืนต้นที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก ก่อนจะโค่นลงเพราะถูกรถชนเมื่อปี 1973

เชื่อกันว่าต้นสนสปรูซพันธุ์ซิตกาต้นนี้ปลูกโดย Lord Ranfurly ผู้ปกครองนิวซีแลนด์ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1900 ทำให้มันมีชื่อเรียกเล่นๆ อีกชื่อหนึ่งว่าต้น Ranfurly ด้วย

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษายืนยันได้ว่าต้นไม้ต้นนี้มีอายุเท่าไรกันแน่ และแม้ว่าจะเป็นที่รู้จักในฐานะต้นไม้ที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก แต่ Guinness World Records หมายเหตุไว้ว่าปัจจุบันคำว่า “ต้นไม้” ยังคงไม่มีคำนิยามอย่างเฉพาะเจาะจงซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

นอกจากนี้ บางคนยังมองว่าพืชนี้จัดเป็นชนิดพันธุ์รุกราน และนักวิทยาศาสตร์บางส่วนอาจจะยินดีถ้ามันล้มหายตายจากไป แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนกัมมันตรังสี ต้นไม้ต้นนี้อาจเป็นเครื่องมือล้ำค่าในการทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในแถบมหาสมุทรใต้

ต้นไม้ 3

Jocelyn Turnbull ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนกัมมันตรังสีจาก GNS Science ที่ศึกษาเรื่องนี้ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราสร้างขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะถูกดูดซับเอาไว้โดยผืนดินและมหาสมุทร ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะถูกกักอยู่ในชั้นบรรยากาศ และมหาสมุทรใต้เป็นแหล่งหนึ่งที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้เอาไว้ถึง 10% จากปริมาณทั้งหมดที่มนุษย์สร้างขึ้นตลอดช่วง 150 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อยู่ระหว่างการหาคำตอบว่าหากวันหนึ่งแหล่งกักเก็บคาร์บอนเหล่านี้เกิดเต็มขึ้นมา จะทำให้โลกร้อนเร็วขึ้นหรือไม่ หรือหากสามารถทำความเข้าใจกลไกการทำงานของแหล่งกักเก็บคาร์บอนเหล่านี้ได้ เราอาจจะช่วยเพิ่มดูดซับคาร์บอนได้มากขึ้นและช่วยลดปัญหาโลกร้อนลงได้หรือไม่

ในการศึกษาเกี่ยวกับแหล่งกักเก็บคาร์บอน วิธีการวัดความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือการเก็บตัวอย่างจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งนักวิจัยสามารถเก็บตัวอย่างน้ำลึกมาตรวจสอบด้วยการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีเพื่อเป็นข้อมูลเสริมได้ด้วย

แต่ปัญหาคือนักวิจัยไม่สามารถเก็บตัวอย่างอากาศเมื่อ 30 ปีก่อนมาตรวจสอบได้ ดังนั้นแนวคิดการศึกษาวงปีของต้นไม้จึงเกิดขึ้น เนื่องจากต้นไม้ที่เจริญเติบโตด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงจะดูดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศและนำไปใช้ในการขยายโครงสร้าง ซึ่งคาร์บอนจากในอากาศนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงปีของต้นไม้

วิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมาก แต่ลักษณะสภาพแวดล้อมบริเวณมหาสมุทรใต้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น นี่จึงเป็นจุดที่ต้นสนสปรูซพันธุ์ซิตกาต้นนี้ได้เข้ามามีบทบาท เนื่องจากทีมวิจัยมองว่าน่าจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีเพราะเป็นต้นไม้ที่เติบโตอย่างรวดเร็วกว่าต้นไม้อื่นๆ ในบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้วงปียังมีขนาดใหญ่กว่าและทำให้ง่ายสำหรับการจำแนกเพื่อเก็บข้อมูลอีกด้วย

ต้นไม้ 4

นักวิจัยใช้สว่านมือเจาะเอาแกนไม้ขนาด 5 มิลลิเมตรออกมาจากต้นไม้ต้นนี้เมื่อปี 2016 แต่ขณะนี้ผลการศึกษายังไม่ได้รับการตีพิมพ์ส่วนในเรื่องสถานะการต้นไม้ที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก อาจจะขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนที่ได้เห็น เพราะสำหรับนักวิจัยอย่าง Turnbull ที่กว่าจะเข้าไปถึงต้นไม้ต้นนี้ได้ต้องเดินผ่านฝูงสัตว์นานาชนิดทั้งแมวน้ำช้าง สิงโตทะเล เพนกวินและนกอัลบาทรอส เขามองว่าอันที่จริงแล้วต้นไม้ต้นนี้ไม่ได้ดูหงอยเหงาโดดเดี่ยว แต่น่าจะมีความสุขเป็นอย่างดีทีเดียว

ที่มา :

https://www.theguardian.com/world/2022/sep/06/scientists-hope-worlds-loneliest-tree-will-help-answer-climate-questions

https://www.abc.net.au/news/2022-09-05/the-worlds-loneliest-tree-advance-climate-change-research/101247300

แชร์