“26 ปีข้างหน้า ประเทศไทยเตรียมรับภัยพิบัติเพิ่มขึ้น จากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงขั้นเลวร้าย ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลง”
จากอดีต (พ.ศ.2543) – ปัจจุบัน (พ.ศ.2562) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคำนวณจากการเสียชีวิตและมูลค่าทรัพย์สินที่เสียหายรวมกว่า 9.8 หมื่นล้านบาทต่อปี ที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พายุ น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม (ซึ่งเกิดจากน้ำ) ภัยแล้ง
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า การจัดอันดับดังกล่าวเป็นของ “Germanwatch” ซึ่งเป็นองค์กรจากประเทศเยอรมนีที่ไม่แสวงหากำไรและสนใจเรื่องการค้า อาหาร นโยบายการเกษตรและสิ่งแวดล้อม องค์กรนี้ได้ตีพิมพ์เอกสารรายงานที่ชื่อว่า “ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index-CRI)” ซึ่งมีรายงานออกมาทุกปีติดต่อกันเป็นปีที่ 16 แล้ว

นอกจากนี้ ทาง Swiss Re Institute ยังได้พยากรณ์ว่าในอีก 26 ปี ข้างหน้า หรือใน พ.ศ.2591 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 48 ประเทศ ที่คาดว่าจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากที่สุด โดยกรณีที่ดีที่สุดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP จะลดลง 4.9% และกรณีที่เลวร้าย GDP ของไทยอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงถึง 43.6 % เมื่อเทียบกับปัจจุบัน จากเหตุของภัยพิบัติที่จะเพิ่มขึ้น
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่อดีต -ปัจจุบัน”
สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก
“ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบระยะยาวในอนาคตจาก 3 ปัจจัยหลัก”
คนจะมีความเครียดจากความร้อนมากขึ้น ปัจจัยแรกจะทำให้แรงงานที่การประกอบอาชีพกลางแจ้งสามารถทำงานได้น้อยลง โดยเฉพาะด้านแรงงานในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางอ้อมและทางตรง นอกจากนั้น อากาศที่ร้อนขึ้นก็จะทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น จนทำให้ขั้นเกิดปะการังฟอกขาวและกระทบกับระบบนิเวศซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยตรง เพราะส่วนใหญ่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพราะความสวยงามของท้องทะเลและป่าเขา แต่ก็จะถูกทำลายไปจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ การเกษตร ที่ถือเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจหลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ก็จะได้รับความเสียหายจากผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงเนื่องจากความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม ทำให้รายได้ของเกษตรกรและรายได้จากการส่งออกของประเทศลดลง
“เกษตรกรรม ได้รับผลกระทบมากที่สุด หากไม่มีการปรับตัว”
รศ.ดร.วิษณุ วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า ความเสี่ยงมาจากการที่เกษตรกรมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือผลกระทบจำกัด โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีกว่า 80% ของเกษตรกรทั้งหมด เกษตรกรเหล่านี้มีอายุมาก เงินทุนน้อย และการศึกษาต่ำ ซึ่งไม่เพียงพอในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการแปรปรวนของสภาพอากาศ

“การปรับตัวทุกอย่างต้องใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นการขุดบ่อเพื่อรองรับน้ำเมื่อถึงหน้าแล้ง การขยายพันธุ์พืชที่ทนต่อสภาพอากาศร้อน แล้ง หรือแม้แต่การกำจัดการขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูพืชที่จะเพิ่มมากขึ้น เหล่านี้คือต้นทุนที่พวกเขาจะต้องแบกรับ หากรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นระบบตั้งแต่ตอนนี้”
“ภาคธุรกิจ ตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารจะได้รับผลกระทบ”
ธุรกิจขนาดเล็ก SME จะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนและองค์ความรู้ในการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า เพราะในอนาคตทุกประเทศจะมีมาตรการเข้มงวดในการนำสินค้าเข้าประเทศ หรือเรียกว่า “ภาษีข้ามแดนเพิ่มขึ้น” ที่จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งระบบโลจิสติกส์ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้มีโอกาสถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะริมทะเลจะถูกกัดเซาะสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจโดยตรง เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่จะมีการกู้ธนาคารเพื่อลงทุน แต่หากไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการ เนื่องด้วยผลกระทบแรงงาน ผลผลิตจากภาคเกษตรน้อยลง ก็ส่งผลต่อการส่งออกจนเกิดการขาดทุน จนไม่สามารถนำเงินที่กู้ยืมมาจ่ายธนาคารได้ตรงเวลา สุดท้ายเมื่อส่งออกได้น้อย รายได้เข้าประเทศก็น้อยตามไปด้วย
“เมื่อรัฐบาลรู้ล่วงหน้า แต่กลับไม่วางแผนและมาตรการการปรับตัว”
รศ.ดร.วิษณุ เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีการปรับตัวโดยอัตโนมัติ เช่น เกษตรกรพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกโดยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ แต่ความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรมีจำกัด และเกษตรกรแต่ละรายก็ปรับตัวได้แตกต่างตามสถานะทางเศรษฐกิจและองค์ความรู้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปัญหาความเหลื่อมล่ำทวีความรุนแรงมากขึ้น การปรับตัวแบบวางแผน จึงนับว่ามีความจำเป็นอย่างมากซึ่งเป็นบทบาทและหน้าที่ของภาครัฐ อาทิ การขยายระบบชลประทานและเพิ่มแหล่งน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานเพื่อให้พร้อมรับมือกับภัยแล้ง การสนับสนุนการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชทนร้อนและทนแล้ง เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง พร้อมการวางแบบแผนเพิ่มภูมิคุ้มกันในการปรับตัวอย่างเป็นขั้นตอน หากพื้นที่ไหนเปราะบางมากต้องเร่งปูพรมเพื่อดำเนินการลดผลกระทบอย่างเร่งด่วน

“เรายังมีเวลาที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการวางแผนและลงมือปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่รัฐจะต้องเปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการทำนา น้ำท่วม อุทกภัยต่างๆ เช่น หากพื้นที่ไหนปลูกข้าวไม่ได้ แทนที่รัฐจะให้เงินเยียวยาอย่างเดียวแล้วจบ ต้องมีเงื่อนไขให้เปลี่ยนการปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ถึงจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยา เพราะไม่เช่นนั้นเกษตรกรที่ประสบปัญหาก็จะปลูกแต่ข้าวอย่างเดียวต่อไป ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะได้ผลผลิตไม่ดี และรัฐบาลก็จะต้องรับภาระการจ่ายเงินแผ่นดินหนักมากกว่าเดิมในแต่ละปี”