หลังจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประกาศเพิ่มการระบายน้ำเพิ่ม และพบข้อมูลเช้าวันนี้ (30 กันยายน 2564 09.00 น. ) ปริมาณน้ำกักเก็บ มากถึง 1,014.15 ลบ.ม. ต่อวินาที หรือคิดเป็น 106 % ของความจุ จึงต้องเร่งระบายน้ำและอาจเพิ่มถึง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ อ.วังม่วง อ.แก่งคอย อ.เมืองสระบุรี อ.เสาไห้ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้น
ล่าสุด ทีมข่าวสอบถามไปยังนายฉัตรชัย อากาศโสภา เจ้าหน้าที่ส่งน้ำเขื่อนพระราม 6 ระบุว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนพระราม 6 มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งระดับน้ำจะค่อยๆ เพิ่มระดับทีละนิด เพราะมวลน้ำที่ไหลมาจากเขื่อนป่าสักฯ ถึงเขื่อนพระรามหก ต้องใช้เวลา 1-2วัน
สำหรับเขื่อนพระรามหก รับน้ำจากเขื่อนป่าสัก ปัจจุบันระบายน้ำอยู่ที่ประมาณ 700 ลบ.ม.ต่อวินาที แบ่งการระบายน้ำเป็น 2 เส้นทาง ด้านท้ายเขื่อน ไปตามแม่น้ำป่าสักฯ ผ่าน อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนไหลไปสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณวัดพนัญเชิง
ด้านข้าง ระบายน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ ที่ประมาณ 250 ลบ.ม.วินาที มวลน้ำเส้นนี้ เริ่มต้นจากตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนจะไหลลงมาที่อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี และแยกออกเป็นสองสาย คือ คลองระพีพัฒน์แยกใต้ หรือที่เรียกกันว่า คลอง 13 ผ่าน อ.องครักษ์ จ.นครนายก ต่อเนื่องเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เข้าคลองแสนแสบ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ก่อนไปที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ และไหลลงสู่ทะเล
ส่วนอีกสายคือ คลองระพีพัฒน์แยกตะวันตก ระบายน้ำผ่าน อ.หนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ก่อนสิ้นสุดประตูนนำพระอินทร์ ซึ่งแยกตะวันตกสามารถผันน้ำเข้าสู่คลองรังสิตได้ด้วยเช่นกันซึ่งเป็นประกาศจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่16/2564 เรื่องการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ชลประทาน ต้องระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ เพื่อความปลอดภัยของเขื่อน เมื่อมวลน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ มาถึงแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถแบ่งน้ำไปทางด้านซ้าย และขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ลงทุ่งรับน้ำได้ พร้อมระบุว่า พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เช่น ริมคลองโผงเผง จ.อ่างทอง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำ อย่างแน่นอน เพราะเป็นพื้นที่น้ำท่วมอยู่แล้วตามธรรมชาติ ส่วนตัวมองว่า มวลน้ำที่มาจำนวนมาก ต้องให้น้ำมีทางไหลออก เพื่อลงสู่ทะเล พร้อมแนะนำให้ประชาชนต้องเตรียมตัว โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ คือเก็บของขึ้นที่สูง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
