ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 16 ระบุว่าเมื่อเวลา 07.00 น. ของวันนี้ (13 ก.ย. 64) พายุดีเปรสชัน “โกนเซิน” บริเวณชายฝั่งของเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดมุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นไป มีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งต่อไป จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง และพื้นที่เกิดฝนฟ้าคะนอง
- ภาคเหนือ
- พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร
- พื้นที่ที่มีฝนฟ้าคะนอง รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จ.กำแพงเพชร เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย นครสวรรค์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง 7 จังหวัด ได้แก่ จ.มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี
- พื้นที่ที่มีฝนฟ้าคะนอง 9 จังหวัด ได้แก่ จ.บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา
- ภาคกลาง
- พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี นครนายก สมุทรปราการ
- พื้นที่ที่มีฝนฟ้าคะนอง ได้แก่ จ.ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตราด กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
- ภาคใต้
- ระวังคลื่นลมแรงและฝนฟ้าคะนองใน 14 จังหวัด ได้แก่ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล
ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ข้างต้น ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสาร โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเมือง อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังระยะสั้น ๆ พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่ริมลำน้ำ อาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมในระดับสูง ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อันตรายจากกระแสไฟฟ้า