ความรุนแรงจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ขยะจากอาหาร มลพิษทางน้ำและอากาศ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ในทะเลมีความร้อนเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าลดลง หรือที่เรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” ที่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทำให้อาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งขาดแคลน รวมถึงที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร น้ำท่วมโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย และปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ทำให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพตามชายฝั่งและภาคธุรกิจได้รับความเดือดร้อน รวมไปถึงสภาพของน้ำทะเลมีความร้อนเพิ่มสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า “เอลนีโญ” ที่ทำให้สัตว์ทะเลมีปริมาณและขนาดลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ และมีต้นตอมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลจาก German watch (2021) รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2543- 2562 ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเสียหายเฉลี่ย 0.82% ของเศรษฐกิจประเทศ หรือ ประมาณ 9.8 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขอาจทำให้ในอนาคตเศรษฐกิจประเทศไทย จะลดลง 4.9%- 43.6% โดยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนเกิดความเครียดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น การท่องเที่ยวและการเกษตรที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ เนื่องจากถูกภัยธรรมชาติคุกคาม
