เมื่อ 1,000 ปีที่แล้ว ชาวไวกิ้งนามว่า อิงกริด สร้างท่าเทียบเรือเพื่อขนย้ายสินค้าที่อ่าวตรงชายฝั่งของ สวีเดน และได้สร้างอนุสรณ์หินเพื่อระลึกถึงความสำคัญของท่าเรือนี้

ทุกวันนี้ท่าเรือที่อิงกริดได้สร้างไว้ กลับอยู่บนพื้นที่สูงและปราศจากน้ำเข้าถึง โดยอยู่บนพื้นดินสูงกว่า 5 เมตรจากระดับน้ำทะเล และไกลกว่าชายฝั่งของกรุงสต็อกโฮล์มเป็นระยะกว่า 20 กิโลเมตร รายล้อมด้วยต้นสนและแมกไม้
พื้นดินรอบทวีปนอร์ดิกสูงขึ้นตั้งแต่การสิ้นสุดของยุคน้ำแข็งเมื่อ 12,000 ปีก่อนหลังจากที่น้ำแข็งหนาถึง 3 กิโลเมตรละลายตัวลง ดังนั้นทวีปนอร์ดิกจึงควรจะเป็นภูมิภาคที่ไม่ต้องเผชิญปัญหาจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก เมื่อน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นและธารน้ำแข็งละลาย ซึ่งนับเป็นภัยสำหรับหลายประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำและติดทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นนครเซียงไฮ ประเทศจีน หรือเมืองไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา
วันนี้ใจกลางของกรุงสต็อกโฮล์มคลาคล่ำไปด้วยรถเครนสีเหลือง รถปราบดิน รถบรรทุก และเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง ส่งสัญญาณว่าความโชคดีของกรุงสต็อกโฮล์มที่เคยเป็นเมืองปราการที่รอดพ้นจากน้ำทะเลเพิ่มสูงกำลังจะหมดลง
สวีเดน กำลังใช้งบประมาณเป็นจำนวนเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อปรับปรุงประตูควบคุมน้ำ โดยหวังจะรักษาทะเลสาบ Mälaren ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่มของประชากรกว่า 2 ล้านคน ให้รอดพ้นการรุกล้ำของทะเลบอลติกที่จะไหลมาบรรจบกันในกรุงสต็อกโฮล์ม

ระดับน้ำทะเลทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นราว 4 มิลลิเมตรทุกปี นับเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงศตวรรษที่ 20 และจะสูงกว่า 5 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มสูงของพื้นดินในทวีปนอร์ดิกในอีกไม่นาน
ปัจจุบันทะเลสาบ Mälaren อยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเล 70 เซนติเมตร โดยโครงการ Slussen มีกำหนดเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2563 ได้รับการออกแบบให้สามารถผลักดันน้ำทะเลได้ในกรณีเลวร้ายที่สุดที่ระดับน้ำเพิ่มสูงถึง 2 เมตรในอีก 100 ปี ข้างหน้า
เมื่อมีพายุเข้า ประตูน้ำในโครงการ Slussen นี้จะป้องกันน้ำเค็มจากทะเลบอลติกรุกล้ำทะเลสาบน้ำจืดที่มีความยาวกว่า 120 กิโลเมตร โครงการนี้ยังมีอีกหน้าที่สำคัญคือช่วยผันน้ำที่เกินจากทะเลสาบลงสู่ทะเลหลังจากฝนตกหนักหรือหิมะละลายเพื่อป้องกันน้ำท่วม
Sofie Schöld ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงจากสถาบันอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาของสวีเดน กล่าวว่า สวีเดนโชคดีมากที่แผ่นดินมีระดับสูงขึ้นทุกปีจากน้ำแข็งละลาย โดยสวีเดนมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นพื้นที่ 10,000 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับขนาดของประเทศจาไมก้านับตั้งแต่ยุคไวกิ้งเป็นต้นมา อย่างไรก็ตามการเพิ่มสูงของแผ่นดินนี้เป็นไปอย่างช้าๆ และสวีเดนก็กำลังได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น
อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1.2 องศาเซสเซียส
นับตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรมและกำลังจะเพิ่มถึง 1.5 องศาเซลเซียสอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นระดับที่นักวิทยาศาสตร์ต่างกังวลว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสู่ผลกระทบจากภาวะโลกรวนที่หนักหนาสาหัสกว่าและก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
ข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เกือบ 200 ประเทศบรรลุร่วมกันเมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้ระบุเป้าหมายการจำกัดภาวะโลกร้อนไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูงเกินกว่า 2 องศาเซสเซียส โดยตั้งมั่นที่จะควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกินกว่า 1.5 องศาเซสเซียส
นักวิทยาศาสตร์แนวหน้าของโลกกล่าวว่า แม้ว่าจะมีการให้คำมั่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดโลกร้อน แต่การใช้พลังงานฟอสซิสอย่างต่อเนื่องทั่วโลกจะทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงเกินระดับ 1.5 องศาเซสเซียสภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี

นักวิทยาศาสตร์ต่างกังวลว่าการเพิ่มของอุณหหูมิในระดับดังกล่าวจะนำไปสู่จุดเปลี่ยนทางนิเวศวิทยาที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเลที่เพิ่งสูง การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ไปจนถึงอุณหหูมิที่เพิ่งสูงจากปริมาณก๊าซมีเทนที่ระเหยจากชั้นดินเยือกแข็งคงตัว หรือเพอร์มาฟรอสต์ (permafrost)
โลกที่ร้อนขึ้นจะก่อให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว พืชผลถูกทำลาย การสูญพันธ์ของสัตว์นานาชนิด การย้ายถิ่นฐาน และความสูญเสียทางการเงินและในระดับบุคคลอย่างมหาศาลของมนุษย์ทั่วโลก
เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กล่าวว่า การเพิ่มสูงของระดับน้ำทะเลทั่วโลกอาจหยุดอยู่แค่ 30 เซนติเมตรในศตวรรษนี้ หากมนุษย์สามารถลดการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดโลกร้อนจนทำให้อุณหภูมิไม่เพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซสเซียส โดยหากการปล่อยก๊าซยังคงดำเนินต่อไป ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงถึง 1 เมตร
คณะกรรมการฯ ยังเตือนว่า ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงเกือบ 2 เมตร หากการปล่อยก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นก่อให้เกิดการถล่มของแผ่นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์
นอกจากนี้ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Science เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คาดว่า ทวีปกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาตะวันตกซึ่งมีปริมาณน้ำแข็งที่สามารถทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงได้ราว 10 เมตร จะเผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 องศาเซสเซียส ทำให้เกิดการละลายที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้จนรุกล้ำชายฝั่งต่างๆ ทั่วโลก

Tim Lenton อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะโลกรวนและระบบโลกศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัย Exeter ซึ่งเป็นผู้เขียนงานวิจัยชิ้นดังกล่าวให้ความเห็นว่า มนุษย์คงได้แต่ใช้วิธีปลอบใจตัวเองถึงหายนะที่จะเกิดขึ้นด้วยการตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงไม่เกิน 10 เมตรในระยะเวลา 1,000 ปี
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นเล็กน้อยของระดับน้ำทะเลได้สร้างผลเสียต่อเมืองใหญ่และประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำแล้ว โดยเฉพาะเมื่อสภาพอากาศรุนแรงทำให้เกิดพายุรุนแรงพัดน้ำทะเลเข้าสู่ฝั่ง
สำหรับประเทศในกลุ่มพันธมิตรรัฐเกาะขนาดเล็ก (the Alliance of Small Island States) หรือ AOSIS นั้น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงได้สร้างความเสี่ยงฉับพลันให้กับชุมชนชายฝั่ง โครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น พื้นที่ทางการเกษตรและการท่องเที่ยว
Walton Webson ประธานของกลุ่มประเทศ AOSIS จากประเทศแอนติกาและบาร์บูดา กล่าวว่า ประเทศตูวาลู ซึ่งเป็นหมู่เกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส ทั้งน้ำบาดาลคุณภาพไม่สามารถดื่มได้ น้ำเค็มบุกรุกทำลายพืชผล การประมงมีผลผลิตลดลง และผู้คนต่างเผชิญความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจากน้ำเพิ่มขึ้น
ฟิจิ ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งในหมู่เกาะแปซิฟิก ใช้งบประมาณราว 500,000 เหรียญสหรัฐในการย้ายชุมชนชาวประมง Vunidogoloa ออกจากชายฝั่งเมื่อปี พ.ศ. 2557 และมีโครงการจะย้ายชุมชนอื่นอีกกว่า 40 ชุมชนเช่นกัน
Walton Webson กล่าวอีกว่า การสูญเสียพื้นที่ทำกินเป็นสิ่งที่นอกเหนือกว่าจะปรับตัวเพื่ออยู่รอด ซึ่งความหายนะเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของมนุษย์ การเสพติดการใช้พลังงานฟอสซิสอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศหมู่เกาะอย่างมาก เพราะต้องเผชิญความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมากที่สุด
เขาเน้นย้ำว่า ขณะที่ประเทศในกลุ่ม AOSIS สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเพื่อความอยู่รอด แต่กลับต้องเผชิญกับความผิดหวังเพราะประเทศอุตสาหกรรมไม่มีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้การเพิ่มของอุณหภูมิเพียงแค่ 1.5 องศาเซียสอาจก่อให้ผลกระทบต่อประเทศหมู่เกาะกำลังพัฒนาอย่างคาดไม่ถึง
ณ กรุงสต็อกโฮล์ม โครงการป้องกันทะเลสาบจากการรุกล้ำของน้ำทะเลชื่อว่า Slussen กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะมีทั้งคาเฟ่ บาร์ สะพาน ถนน และรถใต้ดิน
ป้ายที่ติดอยู่ที่งานก่อสร้างขนาดใหญ่นี้มีข้อความเขียนไว้เพื่อเตือนใจผู้คนว่า “Slussen ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว”

Magnus Tengblad ผู้ประสานงานโครงการก่อสร้างนี้ กล่าวว่า โครงการนี้จะทำให้สวีเดนปลอดภัยไปอีกเป็นเวลา 100 ปี
นักวิทยาศาสตร์ต่างชื่นชมถึงวิสัยทัศน์ของโครงการดังกล่าวซึ่งคาดการณ์ถึงความเสี่ยงในอนาคตมากกว่าที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยสวีเดนจะสามารถประหยัดเงินและยับยั้งความสูญเสียที่เกิดจากภาวะโลกรวนที่รุนแรงขึ้นได้
David Armstrong McKay ผู้นำทีมงานวิจัยเรื่องจุดเปลี่ยนภาวะโลกรวนจากมหาวิทยาลัย Exeter และนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัย Stockholm กล่าวว่า แม้ความโชคดีของสวีเดนใกล้จะหมดลง แต่สวีเดนก็ได้ลงมือทำอะไรบางอย่างแล้ว
แม้กระทั่งในพื้นที่ทางตอนเหนือของสวีเดน ซึ่งพื้นดินมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดราว 9 มิลลิเมตรต่อปี ความกังวลเรื่องระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงก็กำลังเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ณ เมืองท่า Luleå สภาท้องถิ่นได้มีมติห้ามการก่อสร้างในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลน้อยกว่า 2.5 เมตร เพื่อรับมือกับน้ำท่วมและพายุที่รุนแรงขึ้น และเพื่อไม่ขัดขวางการเพิ่มสูงของพื้นดิน