เครื่องหมายอัศเจรีย์

ลำเชียงไกร ยังซ่อมไม่เสร็จ ชาวบ้านหวั่นซ้ำรอย หลังมีประกาศภาวะเสี่ยง

จากกรณีเกิดฝนตกหนักระหว่างวันที่ 14-16 ต.ค. 64 ส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง, ลำเชียงไกรบน, ลำเชียงไกรล่าง และ คลองสาขาต่าง ๆ มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำของลุ่มน้ำลำตะคอง ให้เฝ้าระวังสถานการณ์ เช่นเดียวกับที่บริเวณลุ่มน้ำลำเชียงไกร โดยเฉพาะแถบ ต.หนองบัวละคร อ.ด่านขุนทด ที่ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น ซึ่งมวลน้ำจากจุดนี้จะไหลลงไปยัง อ.โนนไทย, โนนสูง จากการประเมินคาดว่าพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับผลกระทบ ในระดับที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรล่างชำรุด

ทีมข่าวศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติได้ติดต่อสอบถามไปยัง ประสิทธิ์ นนท์ขุนทด ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำลำเชียงไกร ได้รับข้อมูลว่า ปัจจุบันยังไม่ได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนดังกล่าว จากผู้นำชุมชนมายังชาวบ้าน จึงทำให้ชาวบ้านไม่ได้เริ่มตั้งตัว แต่ก็สังเกตพบความผิดปกติ เพราะน้ำเริ่มท่วมถนน และพื้นที่การเกษตรแล้วบางจุด ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ หรือ เยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเพียงถุงยังชีพที่ได้รับเท่านั้น โดยหลังจากทราบเรื่อง ตนเองจะประสานไปยังผู้นำชุมชน ให้แจ้งเตือนชาวบ้านเตรียมตัวเก็บสิ่งของมีค่าไว้บนที่สูงและขนย้ายปศุสัตว์ไปยังพื้นที่ปลอดภัยต่อไป ส่วนความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ส่วนตัวเชื่อว่ามีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมาเพราะล่าสุดดินในพื้นที่มีสภาพอิ่มน้ำทุกพื้นที่

ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นระบุว่า ปัจจุบันการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรล่างในจุดที่ชำรุดยังไม่แล้วเสร็จ โดยชลประทานได้อาศัยวิธีการทำทำนบดินผสมหินเป็นรูปเกือกม้าล้อมรอบบริเวณที่เสียหายไว้ แต่ขณะนี้พบว่าดินที่ก่อไว้เริ่มประสบปัญหาดินสไลด์แล้ว ประกอบกับ ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดความกังวลว่า หากฝนตกลงมามาก จะทำให้ทำนบที่ทำไว้ไม่สามารถรับน้ำได้และเกิดการพังเสียหายทำให้น้ำจากอ่างไหลเข้าท่วมเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ด้าน กฤษฏิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมจ.นครราชสีมา มาจาก การที่น้ำในลำห้วย และ ทุ่งต่าง ๆ ยังขังอยู่เต็มทุกพื้นที่ แม้ว่าฝนจะตกเพียงเล็กน้อย แต่ก็จะส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมอยู่ดี เพราะไม่มีพื้นที่รับน้ำ เบื้องต้น ชลประทานได้วางแนวทางการระบายน้ำ เน้นผันออกผ่านไปยังฝั่งลำเชียงไกร ร้อยละ 70 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเขตเศรษฐกิจ ฝั่งอ.เมือง แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องระบายผ่านเมือง ในอัตราร้อยละ 30

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ คือ อ.ด่านขุนทด โนนไทย โนนสูง เทพารักษ์ พิมาย และ อ.เมืองนครราชสีมา โดยน้ำจะเริ่มท่วมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปและสถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อประมาณ 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ ล่าสุด เจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังเตรียมความพร้อมด้านการให้ความช่วยเหลือ ตั้งจุดอพยพ และเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

แชร์