‘มลพิษทางอากาศ’ หนึ่งในปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (Particulate Matters :PM2.5) ซึ่งถูกยกเป็นวาระแห่งชาติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”
แม้สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีคุณภาพอากาศปานกลางถึงดีมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีถึงต้นปี ปัญหาคุณภาพอากาศเลวร้ายก็จะกลับมาอีกครั้ง
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า พื้นที่ที่มีปัญหาหรือเสี่ยงต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในบางช่วงเวลา ได้แก่
– ภาคเหนือ 9 จังหวัด สาเหตุหลักมาจากความแห้งแล้ง เกษตรกรเผาเศษวัสดุเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก หรือเผาเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์
– กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง รวมถึงยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ทั้งนี้ สถิติพบว่า ปี 2561 มีรถยนต์จดทะเบียนสะสมมากกว่า 12 ล้านคัน
– จังหวัดในภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากการเผาพรุในประเทศอินโดนีเซีย
และแม้ขณะนี้ตามแผนปฏิบัติการฯ วางเป้าหมายขับเคลื่อนไปสู่ “การสร้างอากาศดี เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน” ภายใน 5 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ.2562-2567) แต่ก็อาจยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ภาคประชาชน นำโดยหอการค้าไทย จึงรวบรวมรายชื่อ 1.2 หมื่นรายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …ขึ้นเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เมื่อกลางเดือน ก.ค. 2563 เพื่อเป็นอีกแรงขับเคลื่อนนำพาประเทศสู่เมืองไร้ฝุ่น
“มลพิษเกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่มีอากาศเย็นและแห้ง ทำให้มีฝุ่นค่อนข้างมากในจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากระงับการเดินทาง ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน”
จีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุถึงที่มาของการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
ทั้งยังกล่าวว่าแม้ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดเน้นสาธารณภัยเป็นหลัก ทำให้ไม่ครอบคลุมประเด็นปัญหาเพียงพอ ในขณะที่ปัจจุบันพบว่า โลกเปลี่ยนแปลงไป ลักษณะของฝุ่นก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
“สิ่งสำคัญต้องพยายามดึงประเด็นเหล่านี้ให้เกิดการสร้างความรับรู้ของประชาชน จึงมองว่า จะทำอย่างไรทำให้เกิดการป้องกันและสร้างจิตสำนึกร่วมกัน ไม่ให้เกิดปัญหา เพราะเกิดแล้วจะค่อนข้างมีปัญหา รวมถึงจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน”
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวยืนยันด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … จะไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ๆ ที่บังคับใช้อยู่ อย่างเช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก เป็นต้น เพราะพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเน้นการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดและสร้างการรับรู้เรื่องฝุ่น PM2.5 มีคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดในระดับชาติ จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ดำเนินการ เพื่อให้ทุกคนมีจิตสำนึกร่วมกัน และอาจมีบทลงโทษ พร้อมกันนี้ยังได้วางกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายประเทศไทยไม่มีปัญหาฝุ่น PM2.5
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวคงไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จภายใน 1 – 2 วัน แต่เราต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อตอบสนองเรื่องนี้และทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตไปเรื่อย ๆ
“เราต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วม และทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาด ยกตัวอย่าง ถ้าคนขับรถบรรทุกดินมีจิตสำนึกเรื่องอากาศสะอาด รู้ว่า เรื่องเหล่านี้มีผลต่อตนเอง ครอบครัว จะพยายามขับอย่างระมัดระวังมากขึ้น ไม่ให้ก้อนดินตกลงพื้น และเป็นฝุ่นกระจาย” จีรพันธ์ กล่าว และย้ำว่า กุญแจสำคัญ คือ การสร้างจิตสำนึก เพราะคงไม่สามารถจัดให้มีเจ้าหน้าที่กำกับดูแลได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ แม้ในบางประเทศมีกฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาด แต่ประเทศไทยคงยึดต้นแบบจากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศมีโครงสร้างไม่เหมือนกัน ความคิดความอ่านของประชาชนก็ไม่เหมือนกัน จึงต้องออกแบบให้เหมาะสมกับประเทศไทย
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ยังมองว่า การให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเอง จะทำให้คนไทยมีเอกภาพในการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับกรณีการใส่หน้ากากป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19
สำหรับร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … มีทั้งหมด 9 หมวด 55 มาตรา ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบและพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งถือเป็นร่างกฎหมายที่เสนอจากประชาชนฉบับแรกภายใต้การนำของรัฐบาลยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หากคลอดเป็นกฎหมายบังคับใช้สำเร็จ เชื่อว่า จะแก้ปัญหาความรุนแรงจากฝุ่น PM2.5 ได้อย่างยั่งยืน