ทั่วโลก มีโลมาที่เหลืออาศัยในแหล่งน้ำจืดเพียง 5 สายพันธุ์ คือ พอร์พอยส์ไร้ครีบ (Yangtze Finless Porpoise) ในแม่น้ำแยงซี โลมาอิรวดี (Irrawaddy River Dolphin) ในแม่น้ำอิรวดี แม่น้ำโขง โลมาแม่น้ำแอมะซอน (Amazon River Dolphin) ในแม่น้ำแอมะซอน โลมาแม่น้ำเอเชียใต้ (South Asian River Dolphin) ในแม่น้ำคงคา แม่น้ำสินธุและโลมาทูคูซี่ (Tucuxi River Dolphin)

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 65 โลมาอิรวดี น้ำจืดตัวสุดท้าย ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง บริเวณพรมแดน สปป.ลาวและกัมพูชา ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เสียชีวิตลงแล้ว หลังจากติดอวนจับปลาของชาวประมงในพื้นที่ เท่ากับว่า โลมาน้ำจืดได้สูญพันธุ์จากลาวอย่างเป็นทางการแล้ว
ส่วนประเทศไทย มีโลมาอิรวดี ในแหล่งน้ำจืดเพียงแห่งเดียว คือ ในทะเลสาบสงขลา โดยเหลือเพียง 14 ตัวเท่านั้น ข้อมูลปี 2547-2564 ยังพบว่า โลมาเกยตื้นตายถึง 94 ตัว หรือเฉลี่ยปีละ10 ตัว สาเหตุที่ทำให้โลมาอิรวดีตายเป็นจำนวนมาก มาจากการทำประมงที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังปี 2545 โดยพบว่า มีโลมาติดเครื่องมือประมงมากถึงร้อยละ 60
การทำประมงที่เติบโตขึ้น ยังทำให้สัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหารของโลมา ถูกแย่งชิงไปในคราวเดียวกัน ยังไม่นับรวมอุบัติเหตุชนใบพัดเรือ และการเพิ่มขึ้นของตะกอนที่ถูกชะล้างจากบนบกจนเกินพอดี ทำให้ที่อยู่อาศัยของโลมาเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงภาวะเลือดชิด จากจำนวนที่เหลือน้อย จนต้องผสมพันธุ์กันในวงจำกัด ส่งผลต่อสภาวะร่างกายที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ

โลมาอิรวดี เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศจากการประชุมCITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2546 ที่ประเทศไทยเสนอให้โลมาอิรวดี เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 ส่งผลให้โลมาอิรวดี ได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติ ขณะเดียวกัน ยังถูกจัดสถานภาพ endangered เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับโลก (IUCN) ด้วย
ส่วนความคืบหน้าการผลักดันโลมาอิรวดีเป็นสัตว์สงวนของไทย คณะกรรมการทะเลแห่งชาติรับข้อเสนอ นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการทะเลชาติ (กทช.) ที่มีรองนายก เป็นประธาน มีรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ซึ่งที่ประชุมให้ความเห็นชอบ ขั้นตอนต่อจากนี้ จะเป็นการดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ นำเสนอผ่านคณะกรรมการก่อนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อเนื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา

ระหว่างรอประกาศให้โลมาอิรวดี เป็นสัตว์สงวนลำดับต่อไปของไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้หารือเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา ร่วมกับนักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่างแผนการดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดี มีเป้าหมายเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีให้เป็น 30 ตัว ภายใน 10 ปี ผ่านแผนระยะสั้นและระยะยาว
แผนระยะสั้น พ.ศ. 2565-2566 มี 5 แผนงาน ประกอบด้วย การลดภัยคุกคามโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของโลมาอิรวดี และจัดทำพื้นที่หวงห้ามการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการสร้างจูงใจในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี การศึกษาวิจัยโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย และการช่วยชีวิตและดูแลรักษาโลมาอิรวดีเกยตื้น
ส่วนแผนระยะยาว พ.ศ. 2566 -2570 ประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดี โครงการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา การพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่าย
อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนเวลา ภัยคุกคาม และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลต่างคาดการณ์ตรงกันว่า “หากอัตราการตายต่อปียังเฉลี่ยเท่าเดิม อนาคตของโลมาอิรวดีคงหนีไม่พ้น การสูญพันธุ์”
ที่มา
มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร https://www.seub.or.th/bloging/news/global-news/last-irrawaddy-dolphin/
ThaiWhales : https://www.facebook.com/thaiwhales