
หลังจากนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.แถลงข่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา สร้างความ “เข้าใจผิด” ว่า ใครไม่มีแอปฯ ดังกล่าวในเครื่องถือว่ามีความผิดตามข้อกำหนดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 แม้เกิดกระแสจนต้องออกมาให้ข้อมูลใหม่ แต่ก็พลิกสถานการณ์ไม่น้อย เมื่อมีจำนวนผู้ดาวน์โหลดเพิ่มสูงขึ้นใกล้ทะลุ 7 ล้านดาวน์โหลด เพียงสัปดาห์เดียว
แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้หลายรายเริ่มตั้งคำถาม เรื่องการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล และการติดตามตัวผู้มีความเสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องแบบประเมินความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ที่พบว่า ไม่ว่าสถานการณ์จริงจะเสี่ยงมาก-เสี่ยงน้อย ประเมินอย่างไรก็กลับกลายเป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำทั้งหมด
จุลพงศ์ ผลเงาะ ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานรัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชันหมอชนะ กล่าวถึง ประเด็นแบบประเมินความเสี่ยงว่า “หมอชนะ” เป็นแอปฯ ที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก โดยใช้ภายในหน่วยงานที่ใช้สอบสวนโรคเท่านั้น แบบประเมินความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ตั้งใจจะตัดออกตั้งแต่แรก เนื่องจากอัลกอริทึมยังไม่สามารถคัดกรองบุคคลได้โดยละเอียด ซึ่งล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ฟีเจอร์การประเมินความเสี่ยงได้ถูกตัดออกไปจากแอปพลิเคชันแล้ว
“ถ้าในกรณีที่มีผู้ติดเชื้อและผู้ติดเชื้อคนนั้นใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ ทางกรมควบคุมโรคก็จะสามารถ Track ดูได้ว่าผู้ติดเชื้อคนนั้นเขาได้เดินทางไปที่ใดบ้างในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจริงๆ ก็จะคล้ายกับ Timeline ที่กรมควบคุมโรคได้มาตอนนี้จากการสอบสวนด้วยปากเปล่า แต่ในเคสผู้ที่มีหมอชนะ ทางคุณหมอก็จะมีเครื่องมือ Cross check ได้มากกว่าการสอบสวนด้วยปากเปล่า”
ส่วนประเด็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของแอปฯ ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สพร. ระบุว่า ตัวแอปฯ หมอชนะ ไม่ได้เก็บข้อมูลอะไรจากผู้ใช้งาน แม้กระทั่งชื่อ หรือเลขบัตรประชาชน ทำเพียงเปิดเผยตำแหน่งของเครื่องที่ดาวน์โหลดแอปฯ เท่านั้น จะไม่ทราบว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นเป็นของใคร สิ่งที่เข้าถึงมีเพียงเลขไอดี ซึ่งเป็นไอดีนิรนามของเครื่อง แต่จะสามารถทำการแจ้งเตือนได้เมื่อบุคคลนั้นเป็นกลุ่มเสี่ยง
สำหรับวิธีการที่ใช้ติดตามตัว คือ หากพบว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นเคยไปในพื้นที่เสี่ยงมา หมายความว่าเจ้าของเครื่องก็เป็นผู้มีความเสี่ยงเช่นกัน ทางกรมควบคุมโรค จะมีการส่งข้อความไปทางแอปฯ หมอชนะ ขอความร่วมมือให้บุคคลนั้นติดต่อกลับ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนนัดหมายเพื่อเข้าไปสอบสวนโรค เปิดเผยตัวตนผ่านกรมควบคุมโรคโดยตรง ไม่ผ่านทางแอปฯ หมอชนะแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ได้มีการแก้ไขระบบบางอย่าง อาทิ การเปิดใช้งานติดตามตำแหน่ง ซึ่งทำให้แบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือหมดเร็ว รวมถึง การ Run แอปพลิเคชันเป็น Background ที่มีปัญหาในระบบ iOS ก็ได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว