Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

อุทกภัยในท่าจีน : ทางเลือกและทางรอดประสบการณ์จากปี 2554 -2564

ลักษณะทางกายภาพของแม่น้ำท่าจีน  ที่มีความลาดชันน้อยกว่าแม่น้ำสายอื่นในประเทศไทย  โดยส่วนตอนบนมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง เพียง5-6เมตร และตอนกลางจนถึงตอนล่างสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง  ประมาณ 1-2 เมตร  ส่งผลให้การระบายน้ำของแม่น้ำท่าจีนตลอดสาย อยู่ในระดับ 350-450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้จึงมักเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ได้ง่ายทั้งยังระบายออกได้ช้า  โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนเดือนกันยายน-เดือนธันวาคม ของทุกปี  ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำหลากจากทางตอนเหนือของประเทศไทย ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านประตูน้ำ 4 แห่งตามลำดับ คือ ประตูน้ำพลเทพ,ประตูน้ำท่าโบสถ์,ประตูน้ำสามชุก, และประตูน้ำโพธิ์พระยา   หากในเวลาเดียวกันเป็นช่วงที่ภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ประจวบเหมาะกับมีพายุเข้า และมีร่องความกดอากาศต่ำ และมรสุมพาดผ่าน เกิดฝนตกหนัก เข้าสู่ภาวะน้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมเรือกสวนไร่นา ชุมชน เขตเศรษฐกิจ  จนล้นทุ่งรับน้ำธรรมชาติด้านตะวันออกจากเจ้าพระยา  พื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนจึงทำหน้าที่เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำช่วยชะลอน้ำ ไม่ให้เข้าท่วม พื้นที่เขตกรุงเทพและปริมณฑล  

จากการเป็นพื้นที่น้ำท่วมบ่อยครั้ง จึงทำให้เกิดตะกอนทับถมส่งผลให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น  เสมือนเป็นการเติมปุ๋ยในดิน เห็นได้จากหลังน้ำท่วมผลผลิตข้าวได้ปริมาณสูงขึ้นทุกปี เกษตรกรจึงได้มีการปรับตัวด้วยการปลูกข้าวเก็บเกี่ยวให้ทันก็น้ำเหนือหลากมา เพื่อเตรียมพื้นที่นาเป็นพื้นที่รับน้ำใช้ในการเลี้ยงปลา และปรับยกบ้านให้สูงขึ้นเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้อย่างสะดวก 

ลุ่มน้ำท่าจีนตั้งอยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทย  มีแม่น้ำท่าจีนไหลแยกจากทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและไหลลงอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสาคร รวมความยาว 325 กิโลเมตร มีลำน้ำสาขาที่สำคัญคือห้วยกระเสียว ปริมาณน้ำฝนต่อปี 1,310 มิลลลิเมตร ,การใช้ประโยชนที่ดินส่วนใหญ่เป็นนาข้าว ร้อยละ 37 ,พื้นที่เกษตรอื่นๆ ร้อยละ 37,พื้นที่ชุมชนร้อยละ13 ,พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 7.5 ,พื้นที่แหล่งน้ำร้อยละ 1,พื้นที่อุตสาหกรรมร้อยละ0.1 และอื่นๆ 2.4 ตามลำดับ เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็น “แหล่งมั่นคงทางอาหาร “

แม้ว่ากายภาพของลุ่มน้ำท่าจีนปัจจุบัน เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก  เป็นความท้าทายของการบริหารจัดการน้ำในบริบทปี พ.ศ.2564 เป็นต้นไป ที่ทุกฝ่ายกำลังเผชิญกับความซับซ้อนและความไม่แน่นอนของสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นภาวะที่ยากต่อการคาดเดา การมีระบบหรือกลไกเฝ้าระวังแจ้งข้อมูลจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้มีกลไกนี้เกิดขึ้นในลุ่มน้ำท่าจีน และในอนาคตหากจะมีมาตรการโครงสร้างใดๆที่จะเกิดขึ้นอาจจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชนซึ่งอาจจะมีข้อดี แต่ภาครัฐต้องมีความจริงใจและสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการ ชาวลุ่มน้ำท่าจีนจึงอยากให้ การบริการจัดการน้ำ เป็นไปตามเจตนารมย์และบทบัญญัติในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2561

  • มหาอุทกภัย 2554

ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี  มีพื้นที่ประสบภัยกระจายตัวไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ  โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานาน ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นพื้นที่น้ำท่วมหนักในรอบ 70 ปี หากนับเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานครในปี 2485 อุทกภัยครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักที่ภาคเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคอื่น ๆ อีกมาก

  • ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ

1. ฝนมาเร็วกว่าปกติและปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคม สูงกว่าค่าเฉลี่ย 35% เนื่องมาจาก

              1.1 ปรากฎการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีทำให้ฝนมาเร็วกว่าปกติตั้งแต่เดือนมีนาคมและมีฝนมากกกว่าปกติทุกเดือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย 277 และ 45 ตามลำดับ

              1.2 พายุปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อน ไห่หมา นกเต๊นไห่ถาง เนสาดและนาลแก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพายุ “นาลแก” ที่มีอิทธิพลของพายุส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากขึ้นและทำให้ฝนตกมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก

             1.3 น้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีระดับสูงมากเป็นประวัติการณ์และมีข้อจำกัดในการระบายเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ท้ายเขื่อน

2. น้ำทะเลหนุนบริเวณอ่าวไทยช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ทำให้การระบายเป็นไปอย่างล่าช้า

3. ความเสื่อมโทรมของพื้นที่ต้นน้ำและจำนวนพื้นที่ป่าลดลง

4. พื้นที่หน่วยน้ำภาคเหนือตอนล่างขาดการดูแลและถูกรุกล้ำเช่น บึงบอระเพ็ด บึงสีไพ

5. โครงสร้างน้ำไม่มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ฝนในปัจจุบัน

6. ระบบโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมมีประสิทธิภาพลดลงจากการทรุดตัวของพื้นที่  ขาดการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับทุ่งเจ้าพระยาตะวันตก มวลน้ำจำนวนมากได้เริ่มท่วมพื้นที่ทุ่งตอนบนตั้งแต่เดือนสิงหาคม – ธันวาคม 2554  และเริ่มไหล่บ่าตามแนวคลองเหนือใต้และเริ่มขยายน้ำท่วมออกไปโดยรอบผลการพังทะลายของพนังกั้นน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกบริเวณอำเภอสามโคกและเมืองปทุมธานีจำนวน 14 แห่ง ส่งผลให้น้ำหลากเข้ามาคลองพระพิมลราชาและคลองบางบัวทองเข้ามายังทุ่งพระพิมลราชาเข้ามายังพื้นที่ทุ่งพระพิมลจนทำให้น้ำท่วมเปนเวลา  5 เดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 เข้าสู่ภาวะปกติปลายเดือนมกราคม 2555

  • ส่อเค้าวิกฤต 2564

ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยอีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ปัจจุบัน ในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกที่กำลังประสบอุทกภัยขณะนี้ และส่งผลเสียหาอย่างหนักต่อภาคเกษตร และชุมชน ประชาชนเขตที่อยู่อาศัยทั้งที่ปริมาณน้ำฝนตกเฉลี่ยสูงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ความเสียหายหนักไม่แพ้มหาอุทกภัยปี 2554

  • ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ
  1. สภาวะภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนปลงทำให้พฤติกรรมฝนตกเปลี่ยนไป ตกเฉพาะที่ตกบริเวณเดิม เป็นระยะเวลานาน ฝนตกไม่หนักแต่ตกนานทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากในบริเวณนั้น ๆ
  2. ปรากฏการณ์ลานีญา ช่วงปลายปีทำให้นำความชื้นมาจากมหาสมุทรแปซิฟิค เข้ามาประเทศไทยทำให้เดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2564 มีฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
  3. พายุที่พัดเข้าสู่ประเทศไทย 3 ลูก ในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2564 มี 3 ลูก ได้แก่ ไลออนร็อค คมปาซุ และญาโตะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพายุ “คมปาซุ” มีอิทธิพลส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากขึ้น และทำให้ฝนตกมากในพื้นที่ภาคกลางตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  4. ปริมาณน้ำฝนเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำจำนวนมาก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา และเขื่อนกระเสียวมีปริมาณน้ำจุล้นเขื่อนทั้งหมด ต้องรีบเร่งระบายน้ำออกทำให้พื้นที่ท้ายน้ำใต้เขื่อนทั้งหมดได้รับผลกระทบจากการรระบายน้ำ
  5. น้ำทะเลหนุนสูงในอ่าวไทยช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า
  6. พื้นที่หน่วงน้ำทุ่งรับน้ำ 12 ทุ่ง (แก้มลิง) ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี อ่างทอง สุพรรณบุรี ที่มีแนวคิดป้องตะวันออก (นิคมอุตสาหกรรม) พักตะวันตก (เก็บน้ำไว้ใน 12 ทุ่ง) ระบายลงใต้ (สุพรรณบุรีและนครปฐม) รวมความจุ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร การนำน้ำเข้า 12 ทุ่ง มีปัญหาอุปสรรคไม่สามารถนำน้ำเข้าทุ่งได้ทันการเวลาทำให้พื้นที่บางทุ่ง เช่น ทุ่งบางบาล-บางไทรน้ำท่วมสูง เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐ
  7. พื้นที่ระบายน้ำลดลงมีพนังกั้นแม่น้ำระดับน้ำยกตัวสูงขึ้นมีกำลังแรงทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำ ท่าจีน เมื่อน้ำแบ่งระบายจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่แม่น้ำท่าจีนผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่าน 12 ทุ่งรับน้ำและน้ำล้นจากเขื่อนกระเสียวมาประดังรวมกันจึงทำให้จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดนครปฐม ประสบภัยน้ำท่วมหนักเกือบเท่าหรือมากกว่าปี พ.ศ. 2554
  8. โครงสร้างน้ำด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาขาดความยืดหยุ่นในการรองรับสถานการณ์น้ำฝนในปัจจุบัน ไม่มีศักยภาพรองรับการระบายน้ำที่มีความแรง ระบบอาจจะพังเสียหายได้ เมื่อการบริหารจัดการน้ำในอดีต มักให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดให้ความสำคัญกับโครงสร้างการป้องกันน้ำท่วมเพื่อที่จะลดขนาดหรือปริมาณน้ำท่วม โดยขาดความระมัดระวังในเรื่องของผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจและเพื่อสิ่งแวดล้อม ขาดการพิจารณาถึงองค์ประกอบและความสัมพันธ์ของระบบการจัดการน้ำในภาพรวม ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำท่วม
  • แนวทางการแก้ไขปัญหา: ทางเลือก ทางรอด

1. แก้ปัญหาปรับปรุงระบบระบายน้ำจากเหนือ-ใต้ จากคลองนราภิรมย์ คลองมหาสวัสดิ์ และคลองทวีวัฒนา ให้เป็นไปอย่างสะดวก เนื่องจากคลองมีขนาดแคบ มีลักษณะเป็นคอขวดบริเวณช่วงเสียบถนนเพชรเกษม 69 รวมถึงคลองราชมนตรี คลองบางน้ำจืด คลองสี่วาพาสวัสดิ์ ให้สามารถส่งน้ำไปสู่คลองภาษีเจริญ เข้าสู่โครงการพระราชดำริสนามชัย- มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้มีกำลังระบายน้ำสู่แม่น้ำท่าจีน ได้ 7.14 ลูกบาศก์เมตร  ทำให้น้ำระบายออกสู่ทะเลได้เต็มประสิทธิภาพ

2. การระบายน้ำจากทุ่งเจ้าเจ็ดบางยี่หนให้เฉลี่ยน้ำปริมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยออก 3 ทิศทาง ดังนี้

          2.1 คลองพระยาบรรลือออก ปตร. สำแล อ.เมืองปทุมธานี

          2.2 ปากคลองพระยาบรรลือ ตัดแม่น้ำท่าจีนที่บ้านบางตาเถร อ. สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

          2.3 คลองแนวเหนือ-ใต้ ระหว่างคลองพระยาบรรลือและคลองพระพิมล ออกคลองสามบาท สุดตาและบางเตย ลงแม่น้ำท่าจีน ในอัตราการระบายน้ำที่เหมาะสมและสัมพันธ์กับระบบน้ำขึ้น-ลง ของทะเล

 3. พื้นที่ปกป้องอย่างเร่งด่วน ภาครัฐต้องระดมเครื่องมือระบายน้ำและอุปกรณ์สร้างแนวคันล้อมปกป้องสวนส้มโอ นครชัยศรีและสามพราน ที่สวนส้มโอทั้งสองพื้นที่ประสบอุทกภัยส้มโอจมน้ำ หากระบบระบายน้ำไม่ทัน ส้มโอทั้งหมดจะตายคล้ายกับอุทกภัยเมื่อ พ.ศ. 2554  สวนส้มโอป้องกันได้เพียง 10 % จากนั้นรัฐกับประชาชนในพื้นที่เกาะส้มโอต้องออกแบบเครื่องมือป้องกันสวนส้มโอนครชัยศรีอย่างยั่งยืน            

4. มีประชาชนขอเสนอให้ภาครัฐ ออกแบบโครงสร้างใช้เส้นทางพุทธมณฑลสาย 7 ปรับสร้างเป็นถนนคลอง (Canal Street) เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำช่วยคลองลัดงิ้วรายไทยาวาส- สู่คลองลัดท่าตลาด-หอมเกร็ด สนทช. พึงส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นแต่ละลุ่มน้ำเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้สร้างความตระหนักการเรียนรู้และความร่วมมือในชุมชนของนิเวศลุ่มน้ำเดียวกัน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำของตนเองมีระบบและรูปแบบเฉพาะที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่เชิงนิเวศ สร้าง พัฒนาระบบและรูปแบบการสื่อสารที่ประชาชนทุกระดับชั้นสามารถเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาร่วมกัน สามารถนำข้อมูลและความรู้ไปใช้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ ได้ทันการณ์ โดยรัฐให้การสนับสนุนงบประมาณผ่านมหิทยาลัยนั้น ๆ

 5. สนทช.  ต้องส่งเสริมให้ประชาชน ประชาสังคมและท้องถิ่น ในนิเวศลุ่มน้ำนั้น ๆ ออกแบบผังน้ำของตนเอง เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นประชาชนเป็นเจ้าของผังน้ำนั้น ๆ สร้างความรู้ ความรัก ความผูกพันกับผังน้ำของตน ร่วมคิดออกแบบตั้งแต่ต้นทางของระบบวางผังน้ำ

 6. รัฐพึงต้องเร่งรีบยกระบบกรมอุตุนิยมวิทยาให้เป็นกรมระดับแนวหน้า มีงบประมาณพอเพียงที่จะพัฒนาระบบโดยใช่เทคโนโลยี ที่ทันสมัย บริหารจัดการด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านการอุตุนิยมวิทยาที่แท้จริงมากำกับและดูแลขับเคลื่อนให้ประชาชน เรียนรู้และเข้าใจในข้อมูล ที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ ทันเวลา เพื่อให้ตื่นรู้สร้างความตระหนักลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน





นายประเชิญ คนเทศ
ที่ปรึกษาชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนนครปฐม

(ผู้เขียนบทความ)

แชร์


  • ที่ปรึกษาด้านเครือข่ายและภูมิปัญญาภาคประชาชน ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ

  • ที่ปรึกษาด้านเครือข่ายและภูมิปัญญาภาคประชาชน ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ