เครื่องหมายอัศเจรีย์

เกษตรกร บังกลาเทศ พึ่งพาการปลูกพืชลอยน้ำรับมือระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง

เกษตรกร 8
เกษตรกร 1

Mohammad Mostafa เกษตรกร ในที่ลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทางตะวันตกเฉียงใต้ของบังกลาเทศหันกลับไปใช้แนวทางการปลูกพืชบนแปลงผักแพลอยน้ำ เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงกับน้ำท่วมจากพายุคุกคามพื้นที่ทางการเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ

น้ำที่ขังอยู่ในดินต่อเนื่องเป็นเวลานานนับเป็นภัยคุกคามต่อครัวเรือนที่ปลูกผักกินเองและมีหลายครอบครัวที่หันไปใช้การปลูกผักบนแพแทน ทั้งปลูกแตงกวา หัวไชเท้า มะระ มะละกอ และมะเขือเทศ ซึ่งส่วนมากมักขายเป็นหน่ออ่อน

เกษตรกร 2

แพแปลงผักเหล่านี้ถักขึ้นจากก้านของผักตบชวาที่เป็นวัชพืชแต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ช่วยเลี้ยงปากท้องของหลายครอบครัวในช่วงฤดูมรสุมที่มีความรุนแรงมากเป็นพิเศษจนทำให้ผืนดินที่แห้งปราศจากน้ำท่วมหาได้ยาก

เทคนิคเก่าแก่อายุกว่า 200 ปีนี้เริ่มใช้กันในหมู่ เกษตรกร ในชนบทระหว่างช่วงฤดูน้ำหลาก ที่เคยกินเวลาประมาณ 5 เดือนในแต่ละปี แต่ในปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้มีน้ำท่วมขังนาน 8-10 เดือน และยังกินบริเวณกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

“ทุกวันนี้น้ำท่วมที่ดินนานขึ้น เทคนิคโบราณแบบนี้จึงช่วยให้เรายังทำมาหากินได้” Mostafa วัย 42 ปีกล่าวขณะฝังก้อนเมล็ดพืชลงไปบนแพ “ทั้งพ่อและบรรพบุรุษของเราทำแบบนี้กันหมด แต่วิธีการไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ตอนแรกผมเคยพยายามปลูกผลไม้ขายแต่สุดท้ายกลับต้องเป็นหนี้” Mostafa เป็นกำลังหลักเพียงหนึ่งเดียวในการหารายได้เลี้ยงครอบครัวที่มีสมาชิกถึง 6 คน “พอได้ลองปลูกพืชบนแพเมื่อ 5 ปีก่อน ชีวิตก็เปลี่ยนไป”

เกษตรกร 3

ปัจจุบันมีเกษตรกรใช้วิธีนี้อยู่ประมาณ 6,000 คน ทั่วทั้งภาคตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ นี่อาจกลายเป็นกลไกสำคัญท่ามกลางปัญหาระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและพายุมรสุมที่รุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

Digbijoy Hazra เจ้าหน้าที่เกษตรใน Pirojpur ระบุว่าจำนวนเกษตรกรที่ใช้วิธีนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมช่วง 5 ปีก่อนที่มีประมาณ 4,500 ราย โดยแปลงผักลอยน้ำมีพื้นที่รวมมากกว่า 980 ไร่ ในเขต Pirojpur “วิธีนี้ใช้พื้นที่น้อยกว่าการปลูกพืชแบบปกติและยังไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงอีกด้วย” Hazra กล่าว “เมื่อเราต้องต่อสู้กับผลกระทบของโลกร้อน เราอาจพึ่งพิงแปลงผักลอยน้ำได้ในอนาคต”

เกษตรกร 4

บังกลาเทศถึงเป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางต่อสถานการณ์สภาพภูมิอากาศมากที่สุดเนื่องจากมีพื้นที่ลุ่มต่ำ และยังเผชิญผลกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมโดยพายุ น้ำท่วม และปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศยังถูกซ้ำเดิมโดยปัจจัยทางธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกที่ทำให้พื้นดินทรุดตัวลง หรือเขื่อนต้นน้ำซึ่งเป็นตัวการกักเก็บตะกอน แทนที่ตะกอนเหล่านี้จะได้ช่วยเต็มเติมพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เผชิญปัญหาการกัดเซาะได้

เกษตรกร 5

ช่วงปี 2000-2019 บังกลาเทศติดอันดับที่ 7 ในรายชื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ตามข้อมูลดัชนี Global Climate Risk Index 2021 ที่จัดทำโดยกลุ่มไม่แสวงกำไร Germanwatch

ส่วนรายงานประจำปี 2021 ของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียระบุว่า “เพราะที่นี่คือสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก พื้นที่ส่วนใหญ่ของบังกลาเทศจึงเผชิญอุทกภัยบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเหตุน้ำท่วมฉับพลันพร้อมการกัดเซาะของแม่น้ำ”

นอกจากนี้ บังกลาเทศยังเจอพายุไซโคลนที่พัดถล่มอ่าวเบงกอลอยู่บ่อยครั้ง พร้อมกับที่ภาวะโลกร้อนทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลแต่มักกลับตกหนักรุนแรงกว่าเดิม โดยบังกลาเทศมีประชากร 165 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 อาศัยอยู่แถบริมชายฝั่ง

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นและการกัดเซาะชายฝั่งอาจทำให้บังกลาเทศสูญเสียผืนแผ่นดิน 17% และทำให้ผลิตอาหารได้ลดลง 30% ภายในปี 2050 ตามข้อมูลในรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เมื่อปี 2019

เกษตรกร 6

ขณะที่การทำเกษตรลอยน้ำของ Mostafa ทำให้เขาหาเลี้ยงครอบครัวได้ “โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือ” แต่ส่วนต่างกำไรกำลังลดต่ำลงท่ามกลางค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปีนี้เขาใช้เงินไปแล้วประมาณ 4,500 ตากา หรือประมาณ 1,700 บาท สำหรับซื้อผักตบชวา 1 ลำเรือที่มีน้ำหนักรวมกว่า 1.2 ตัน สำหรับถักขึ้นเป็นแพสำหรับปลูกต้นไม้ในปีนี้ ต่างจากปีที่แล้วซึ่งซื้อได้ในราคาเพียง 1,000 ตากา หรือราว 375 บาทเท่านั้น

แพเหล่านี้ใช้เวลาทำนาน 2 เดือน มักมีความยาวประมาณ 6 เมตร กว้าง 1 เมตร หรืออาจจะยาวกว่านี้หลายเท่าตัวก็ได้ และเมื่อใช้ไปได้ 3-4 เดือนจะต้องเปลี่ยนแพใหม่

Mohammad Ibrahim วัย 48 ปี เกษตรกรอีกคนในพื้นที่ระบุว่าแพลอยน้ำเหล่านี้ทำให้เขาปลูกพืชได้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้น “ระดับน้ำสูงขึ้น ผมยังจำได้ว่าเคยเล่นฟุตบอลในที่ซึ่งตอนนี้แค่น้ำขึ้นตามปกติก็จะถูกน้ำท่วมแล้ว”

เกษตรกร 7

เขานำต้นอ่อนแตงที่ปลูกบนแพมาขายบนเรือ แต่งานเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ภรรยาของเขาต้องทำงานวันละมากกว่า 8 ชั่วโมงเพื่อปั้นก้อนเมล็ดพืชสำหรับปลูกบนแพ แต่ผักตบชวาก็มักจะทำให้คันและเป็นแผลทั่วทั้งมือและนิ้ว “งานนี้หนักและสร้างความเจ็บปวด กลางคืนฉันนอนไม่ได้เพราะปวดเอว แต่ฉันจะทำอะไรอื่นได้ล่ะในเมื่อมีน้ำท่วมทุกที่เกือบตลอดเวลาแบบนี้”

ที่มา : https://www.reuters.com/world/asia-pacific/seas-rise-bangladesh-farmers-revive-floating-farms-2022-10-20/

แชร์