เครื่องหมายอัศเจรีย์

เช็กพื้นที่ได้รับผลกระทบ หากโรงไฟฟ้าซาปอริซเซียระเบิด

จากกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียในยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากโดนกองทัพรัสเซียโจมตี สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวโลกว่าหากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเกิดการระเบิดจริง จะสร้างความเสียหายต่อโลกอย่างไรบ้าง

ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ชวนจำลองภาพเหตุการณ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า จะมีระดับความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และประเทศไทย จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย และผู้ร่วมก่อตั้งกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลผ่านการเปรียบเทียบจากเหตุการณ์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ระเบิดในปี ค.ศ.1986 ว่า

“กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ยุโรปทั้งทวีป และบางส่วนของทวีปเอเชียกลางได้รับผลกระทบ จากสารกัมมันตรังสีจำนวนมากที่ถูกพัดกระจายออก ซึ่งครั้งนี้คาดว่าผลกระทบอาจไม่ต่างกัน  แต่จะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับทิศทางลม” 

ส่วนพิกัดหรือระดับความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีที่ชัดเจนไม่สามารถระบุได้  เนื่องจากต้องอาศัยปัจจัยการคำนวณจากสภาพอากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ หากในระยะ ใกล้เคียงมีประชาชนอาศัยอยู่ จะได้รับผลกระทบจากแรงระเบิดและความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีระดับรุนแรง ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิตทันทีหรือมีอาการป่วย 

“กรณีเชอร์โนบิล กำหนดพื้นที่หวงห้าม (Exclusive Zone) ในรัศมีประมาณ 30 กม. ตามสภาพภูมิประเทศ ซึ่งความหมายของพื้นที่หวงห้ามในที่นี้ คือ พื้นที่ที่มีระดับความเข้มข้นของสารกัมมันตภาพรังสี อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มนุษย์ไม่สามารถอยู่อาศัยหรือทำการเพาะปลูก รวมถึงเข้าไปใช้ประโยชน์ได้  ขณะที่กรณีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย พื้นที่หวงห้ามอาจกินรัศมี 2 – 10 เท่า ของเชอร์โนบิล คือ ระหว่าง 60 กม. – 300 กม. เนื่องจากมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากกว่า 2 เตา แต่ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะกินระยะถึง 300 กม.ซึ่งข้อเท็จจริงนี้จะขึ้นอยู่กับการวัดจากแบบแผนการกระจายของรังสี และปริมาณของรังสีที่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม” 

ส่วนกรณีที่มีการคาดการณ์ถึงความรุนแรงมากกว่า เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ถึง 10 เท่า

นายธารา อธิบายเพิ่มเติมว่า “ความรุนแรงอาจไม่ใช่แค่ระยะทางพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ แต่อาจมองในมิติ การรั่วไหลปริมาณการปลดปล่อยรังสีนิวเคลียร์หรือวัสดุกัมมันตรังสีที่หลุดออกจากเตาปฏิกรณ์ออกมาสู่สิ่งแวดล้อม”    

ซึ่งนอกจากสารกัมมันตรังสีแล้ว กากนิวเคลียร์ยังนับเป็นสิ่งที่น่าเป็นกังวล เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการจัดการ ส่วนการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยจะวัดจากการตรวจวัดค่าการปนเปื้อนรังสี ซึ่งจะใช้หน่วยมิลลิซีเวิร์ต (mSv) เป็นเกณฑ์ โดยปกติแล้วหากคนได้รับปริมาณรังสีเข้าสู่ร่างกาย ประมาณ 1 มิลลิซีเวิร์ต (mSv) อาจไม่เป็นอันตราย แต่หากได้รับต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 1 ปี ก็อาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้

ส่วนผลกระทบระยะยาว คือการปนเปื้อน ของสารกัมมันตรังสี ในดิน อากาศ พืชผลทางการเกษตร และ ห่วงโซ่อาหาร ที่สามารถคงอยู่ได้เป็นเวลานานตั้งแต่ 1,000 – 10,000 ปี ซึ่งจะทำให้โลกเกิดวิกฤติทางด้านอาหาร เพราะหากเกิดการปนเปื้อนทั้งทวีปยุโรป และเอเชียกลาง การส่งออกสินค้า อย่าง นม เนื้อสัตว์ พืชผลการเกษตรจะไม่สามารถทำได้ เพราะถูกแบน และ ประเทศไทย จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหานี้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่หลายประเทศทั่วโลกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าเกษตร และ สินค้าประมงที่มาจากพื้นที่รอบเขตจังหวัดฟูกุชิมะ เป็นเวลาหลายปี และปัจจุบันก็ยังมีบางประเทศที่ตรวจตราระดับรังสีในสินค้าที่มีจากจังหวัดฟุกุชิมะอยู่

แชร์