เครื่องหมายอัศเจรีย์

เปลี่ยนนาเป็นสวนเกษตรผสมผสานปลูกผลไม้ตามฤดูกาล

“ตะลิงปลิง” ผลไม้ชื่อที่ไม่ค่อยจะคุ้นหู เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็กสีเหลืองปนเขียว ลักษณะกลมยาวปลายมนที่ร่วงเรียงรายอยู่บนพื้นในสวนเกษตรผสมผสานจิตตังดี ต.สาริกา อ.เมืองฯ จ.นครนายก ของครอบครัวจิตตังดี ที่เปลี่ยนพื้นที่จากนาข้าวมาทำสวน ปลูกผลไม้ตามฤดูกาลหลายชนิด 

“การทำนามันเหนื่อยพอเหนื่อยก็เลยอยากเลิกมีเรื่องของผลผลิตที่ได้ลดลง จึงมาทำสวนปลูกผลไม้พอดีมีเพื่อนที่ทำสวนส้มโอได้ผลผลิตดีจึงปลูกตาม และรายได้ดี แต่พอมาทำดีช่วงแรกผลผลิตลดลงจึงปรับเปลี่ยนสวนปลูกหลายอย่างเพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนตลอด”

ฐานิดา จิตตังดี : เกษตรกร ต.สาริกา อ.เมืองฯ จ.นครนายก

ผลไม้ในสวนจะออกผลตามธรรมชาติ ไม่ได้ผ่านระบวนการตกแต่งหรือถูกกระตุ้นจากปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าที่ใส่ลงไปเร่งการเจริญเติบโต จึงมั่นใจได้ว่าเป็นผลไม้ที่ปลอดสารเคมี ซึ่งในแต่ละเดือนก็จะมีผลไม้ประจำฤดูกาลที่หลากหลาย และผลไม้หลายชนิดให้ผลผลิตส่งขายได้ตลอดทั้งปี หนึ่งในผลไม้ที่สร้างรายได้ให้กับสวนแห่งนี้คือ “หมากเม่า” หรือมะเม่าหลวงภูพาน ลักษณะของผลเป็นทรงกลมขนาดเล็กและเป็นพวง ที่เห็นนี้คือผลที่สุกแล้วก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดงและม่วงดำ โดยผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยวและฝาด นำต้นพันธุ์มาจากแถบภาคอีสาน หมากเม่าถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจของที่บ้าน ขายได้ราคาดีลูกค้าชอบ ออกผลสุกในช่วงเดือนสิงหาคม ถึง กันยายน ขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง 

“เพราะแม่ค้าเขาขายในแหล่งท่องเที่ยว คนที่มาเที่ยวก็ซื้อเขาก็มารับเราไปขายต่อ ในช่วงฤดูกาลที่ออกลูกแต่ตอนนี้ได้รับผลกระทบของโควิด เขาขายไม่ได้เราก็ขายไม่ได้ เราก็ทำได้แค่ขายเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่หน้าบ้านจากที่ขายส่งได้ทุกอย่างเหมือนหยุดชะงัก”

ฐานิดา จิตตังดี : เกษตรกร ต.สาริกา อ.เมืองฯ จ.นครนายก

เมื่อมีผลไม้ออกมาแล้วไม่สามารถชะลอการเก็บเกี่ยวได้ ยังไงก็ต้องเก็บมาขายแต่กลับไม่มีคนกลางมารับซื้อ เช่น ตะลิงปลิง จากที่แต่ก่อนถึงฤดูต้องเก็บขายแต่ตอนนี้ต้องปล่อยให้ร่วงหล่นคาต้น ผลไม้บางอย่างยอมขายในราคาที่ถูกลงยังดีกว่าขายไม่ได้ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้  ปัจจุบันจึงตั้งร้านเล็ก ๆ ขายที่หน้าบ้าน มีลูกค้าในพื้นที่ช่วยอุดหนุนกันเองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้

แชร์