“28 ครั้ง เหตุเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดปี 2564 สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด-19″
จำนวนครั้งที่เกิดเหตุ ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2564 นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้รวบรวมและจดบันทึกไว้ทั้งหมด ทำให้เห็นว่าแต่ละเหตุการณ์มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของโรงงานที่เก่ามีอายุหลายสิบปี ส่งผลให้ไม่มีการปรับปรุงระบบระบบความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบการทำงานของเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการตรวจซ่อมบำรุง ส่งผลเมื่อเกิดเพลิงไหม้จึงทำให้การควบคุมเพลิงเป็นไปได้ยาก

….เพลิงไหม้โรงงาน กับ โควิด-19” เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
การลดต้นทุนความปลอดภัยในระบบโรงงาน กลายเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจน้อยมากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพราะการขาดทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องลดอัตราจ้างพนักงาน คงเหลือไว้เฉพาะเพียงแค่ฝ่ายผลิตเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น ทดแทนการขาดทุน เกี่ยวเนื่องไปถึงการลดซ่อมบำรุง การติดตั้ง หรือตรวจสอบอุปกรณ์ระบบความปลอดภัยที่จะต้องมีในทุกปี จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของเพลิงไหม้ในทุกโรงงาน โดยคาดว่าในปี 2565 หากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความรุนแรงอยู่ หลายโรงงานก็ยังคงเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัยขึ้นได้อีก
“แม้กระทั่งโฟมดับเพลิง ที่จะต้องมีการเปลี่ยนเพื่อสำรองไว้ทุก 2-3 ปี อาจหมดอายุการใช้งาน หลายโรงงานก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนตามกำหนด เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ อุปกรณ์ดับไฟที่มีอยู่จึงไม่สามารถใช้ในการควบคุมเพลิงให้อยู่ในวงจำกัดโดยไม่ลุกลามได้ หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุก็จะมีการใช้น้ำดับไฟ ซึ่งเมื่อสารเคมีในโรงงานผสมกับน้ำก็จะยิ่งทำให้เพลิงลุกลามมากขึ้น”
…เมื่อการตรวจสอบโรงงาน กลายเป็นความหย่อนยานของเจ้าหน้าที่ ..กลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำให้เกิดโศกนาฎกรรมเพลิงไหม้ซ้ำซาก
โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ จะมีการเก็บสารเคมีไว้จำนวนมาก เมื่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความหย่อนยาน หรือไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้เกิดความชะล่าใจในการควบคุม โดยจะเห็นว่าสถิติ 28 ครั้ง ในปี 2564 เกิดเพลิงไหม้ในโรงงานโรงงานผลิตพลาสติก –โฟม 9 แห่ง, โรงงานเคมีภัณฑ์ /ปิโตรเคมี 11 แห่ง, อุตสาหกรรมทำสี และตัวทำละลาย 1 แห่ง , รีไซเคิล 4 แห่ง , สิ่งทอ และเส้นใย 2 แห่ง, และโรงงาน แปรรูปไม้ 1 แห่ง

ในจำนวนนี้มี 23 ครั้ง ที่เกิดในจังหวัดภาคกลาง คือ จ.สมุทรปราการ 7 ครั้ง ,จังหวัดนครปฐม 2 ครั้ง ,กรุงเทพมหานคร 5 ครั้ง , จังหวัดเพชรบุรี 2 ครั้ง, จังหวัดสมุทรสาคร 5 ครั้ง , จังหวัดปทุมธานี 2 ครั้ง ส่วนในภาคอื่นๆ คือ จังหวัดระยอง 2 ครั้ง ,จังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 ครั้ง ,จังหวัดปราจีนบุรี 1 ครั้ง และจังหวัดชลบุรี 1 ครั้ง
โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการ เสี่ยงเกิดเหตุซ้ำอีก เนื่องจากปัจจุบันมีโรงงาน 6,814 แห่ง อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 630 แห่ง นอกนิคมอุตสาหกรรมใน อ.เมือง 2,043 แห่ง ,อ.บางพลี 1,931 แห่ง ,อ.พระประแดง 925 แห่ง มีสารเคมีที่เก็บรวมอยู่ในโรงงานทั้งหมดจำนวน 2,951 รายการ รวมสารเคมีอันตรายกว่า 205,476 ตัน/ปี ที่มีการเก็บไว้ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ
“สารเคมีทั้งหมดที่เก็บอยู่ในโรงงาน หากไม่มีการเก็บที่ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการป้องกันอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ.2552 บังคับให้มีการติดตั้งระบบปัองกันอัคคีภัย ก็นับเป็นการก่อให้เกิดโศกนาฎกรรมซ้ำซาก ที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ดังนั้นหน่วยงานรัฐต้องทำหน้าที่กำกับดูแลให้ได้มาตรฐานเดียวกัน โดยไม่ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่”


.. สารเคมีจากไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรม ตัวกระตุ้นให้อากาศแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และชั้นบรรยากาศในระยะยาว
เพลิงไหม้แต่ละครั้ง จะเกิด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ที่เรียกว่า PM2.5 รวมถึง ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ในอากาศซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกมีผลทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ,ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้เกิดฝนกรด เมื่อฝนตกลงมาสู่พื้นดินส่งผลให้เกิดปัญหาดินเปรี้ยวที่มีส่วนทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย และทำลายระบบนิเวศในแหล่งน้ำ, คลอรีน สารประกอบของสารตั้งต้นของสารทำความเย็น เป็นตัวทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศทำให้โอโซนที่ห่อหุ้มโลกรั่ว แสงอาทิตย์จึงส่องเข้ามาที่โลกเพิ่มขึ้น แต่กลับมีการสะท้อนออกได้น้อยมาก เนื่องจากถูกก๊าซเรือนกระจกดูดซับไว้ทำให้โลกร้อนขึ้น ,ขณะที่ เขม่าควันดำ ก็เป็นตัวที่บดบังแสงอาทิตย์ที่ทำเกิดอากาศแปรปรวนในลักษณะครึ้มฟ้าครึ้มฝน แต่กลับไม่มีฝนตกลงมา ส่วน สารเคมีอื่นๆ เมื่อถูกชะล้างจะไหลลงสู่พื้นดิน ก่อนจะซึมลงสู่แหล่งน้ำบริเวณชั้นผิวดิน และส่งต่อไปยังน้ำใต้ดิน เข้าสู่บ่อตื้นหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ จากนั้นเมื่อมีการนำมาใช้บริโภค หรือน้ำไปใช้ในการเกษตรก็จะถูกส่งต่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ที่เป็นวัฏจักรวนเวียนไม่รู้จบ
