เครื่องหมายอัศเจรีย์

…เมื่อความรุนแรงของมนุษย์ กลายเป็นความหวาดระแวงของช้างป่า การตอบโต้กลับ จึงเป็นจุดไม่สิ้นสุด ของความขัดแย้ง…

10 ปี ที่ผ่านมา“ความขัดแย้งของคนกับช้างป่า” ทวีความรุนแรง ลุกลามไปสู่ความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย  สถิติในช่วง 3 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – ธันวาคม 2564  มีจำนวนช้างป่าที่เสียชีวิต 45 ตัว บาดเจ็บ 29 ตัว  สาเหตุส่วนใหญ่ถูกยิงด้วยปืน ,ติดบ่วงกับดักล่าสัตว์, ไฟช็อต,และจมน้ำ  ขณะที่ชาวบ้าน และคนทั่วไป เสียชีวิต 45 คน บาดเจ็บ 55 คน  ถูกตอบโต้รุนแรงจากความหวาดระแวงของช้างป่า  

ในประเทศไทยมีพื้นที่อนุรักษ์ ในรูปแบบของ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พบช้างป่าอาศัยอยู่ จำนวน 69 แห่ง จากพื้นที่รวม 189 แห่ง  คิดเป็น 36.5%   โดยพบปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า จำนวน 41 แห่ง คิดเป็น 21.7 %  ข้อมูลปี 2560 จำนวนประชากรช้างป่ารวมทั่วประเทศ ขั้นต่ำ 3,124 ตัว

 

7 จังหวัด ภาคตะวันออก พื้นที่ของความขัดแย้งรุนแรงที่สุด…..

นายพิทักษ์​  ยิ่ง​ยง​  ซึ่งปัจจุบัน​ทำหน้าที่หัวหน้า​เขต​รักษา​พันธุ์​สัตว์​ป่าเขา​เขียว​-เขา​ชม​ภู่​ จังหวัดชลบุรี​   ได้เปิดเผยกับศูนย์​พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ​ ว่า ​จากประสบการณ์​ที่ได้ทำความเข้าใจกับพฤติกรรมช้างป่าในหลายพื้น​ที่โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าภาคตะวันออก​ มาเป็นระยะเวลานานกว่าสิบปี​  ยืนยันว่า​ ภาพรวมความขัดแย้งของคนกับช้างป่าในภาคตะวันออกที่ดูเหมือนจะรุนแรงในสายตาของคนทั่วไปนั้น​   แต่ในความเป็นจริงหากเจาะลึกลงไปในแต่ละพื้นที่​ ปรากฏว่าในหลายพื้นที่สถานการณ์​เริ่มคงที่  ในหลายพื้นที่สภาพปัญหาเริ่มลดลง​ แต่จะมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่สถานการณ์​เริ่มขยายตัว   เหมือนกับความเข้าใจผิดที่หลายคนมองว่าจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งมาจากที่มนุษย์ขยายพื้นที่ทางการเกษตรไปในพื้นที่ป่า ส่งผลให้อาหารในป่าลดลง  ตรงกันข้าม..ป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารเหมือนเดิม เพียงแต่ช้างป่าได้เริ่มเรียนรู้รสชาติความหวานอร่อยของพืชผลทางการเกษตรที่มีมากกว่าอาหารในป่า

“เมื่อช้างเพศผู้​ 1​ ตัว​ ที่เป็นนักสำรวจได้เริ่มลิ้มรสพืชเกษตรที่มีรสชาติที่ดีกว่าพืชที่มีอยู่ตามธรรมชาติในป่า​  โดยเฉพาะพืชที่มีรสหวานต่างๆ​ ซึ่งรสหวานก็เปรียบเสมือนสารเสพติดที่เข้าไปกระตุ้นความอยาก​  ประกอบกับอาหารต่างๆที่เคยมีอยู่ในป่าก็หาได้ง่ายในชุมชนด้วยเช่นกัน​ ช้างเพศผู้เหล่านี้ก็จะนำทางช้างป่าอีกหลายตัวที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน​ ฝูงเดียวกัน​ มาลิ้มลองพืชเกษตรและพืชอาหารที่อยู่ภายนอกป่า​ ในที่สุด”

เมื่อมนุษย์​เห็นว่าถูกช้างป่าบุกรุกก็เริ่มใช้ความรุนแรง​ เพียงเข้าใจผิดคิดว่าช้างจะถอยหนี  แท้ที่จริงช้างป่าเป็นสัตว์ที่มีกระบวนการคิดที่ใกล้เคียงกับมนุษย์​  แต่อาจจะช้ากว่าบ้าง​ แต่ช้างก็มีความสามารถอย่างอื่น​ ที่เหนือกว่ามนุษย์​ โดยเฉพาะการรับและการจำแนกเสียง​และกลิ่น​ การจดจำ​ นอกจากนี้ยังสามารถส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่นได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อช้างถูกทำร้ายก็จะเกิดความหวาดระแวงและจะตอบโต้ด้วยความรุนแรงกลับมา​ เพื่อป้องกันตัว​ตามสัญชาติญาณ ซึ่งก็จะเห็นได้ตามข่าวสารต่างๆอยู่เสมอ​  ที่ผ่านมาจึงได้สื่อสารให้สังคมโดยทั่วไปและชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้โดยตลอดมาเพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ทำความเข้าใจพฤติกรรมของช้างป่าและสามารถประเมินอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากช้างได้​ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปประยุกต์​ใช้ได้ในสถานการณ์​จริง​ จะได้ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากช้างป่าได้

“ส่วนใหญ่คนที่ถูกช้างป่าทำร้าย​ มักจะไม่มีทักษะและไม่เข้าใจบริบทของช้าง​ป่า​​ โดยส่วนใหญ่การที่ช้างจะทำร้ายคนนั้นมักเกิดจากการที่ช้างหวาดระแวง​  หรือตกใจ​ โดยที่ผู้ประสบเหตุไม่ทราบพฤติกรรมของช้างป่าและไม่สามารถประเมินความเสี่ยงจากพฤติกรรมช้างป่าที่แสดงออกมาให้เห็น​ จึงไม่สามารถรับมือหรือแก้ไขสถานการณ์​ที่เกิดขึ้นได้”

…เมื่อปัญหาความขัดแย้งของคนกับช้าง กลายเป็นช่องว่างของการแสวงหาผลประโยชน์..

นายสุพิสิฐ  จิตร์วิจักษณ์   ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มช้างป่าเอเชีย  IUCN SSC – Asian Elephant Specialist Group ผู้ซึ่งทำงานด้านช้างมากว่า 15 ปี สะท้อนให้ฟังว่า  นอกเหนือจากความขัดแย้งเรื่องพื้นที่หากินของคนกับช้างแล้ว ยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่แฝงอยู่ทำให้ช้างและคนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ กลายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง  ปัญหาที่สะสมมานาน แม้จะใช้งบประมาณมากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถแก้ได้ ปัญหาที่สะสมจึงกลายเป็นภาระและความท้าทายที่หนักมากของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์แต่ละแห่ง ที่มีความตั้งใจจริงในการทำงานร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า

เราอาจต้องย้อนไปที่ จุดเริ่มต้นที่ง่าย แต่ชัดเจน เพราะต้องยอมรับว่า ความเรื้อรังของสถานการณ์ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานที่ไม่มีการบูรณาการของทุกภาคส่วน   ไม่มีการนำข้อเท็จจริงมาโต้แย้งด้วยเหตุผลเพื่อหาทางออกร่วมกัน  การทำงานจึงเป็นไปคนละทิศคนละทาง

“ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนยังยึดติดกับความคิดของตัวเอง ยึดติดกับหน่วยงาน ไม่มีการปล่อยวาง เพื่อนำข้อเท็จจริงมาโต้แย้งเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ที่ผ่านมาตนเองได้พยายามเสนอมาตลอดให้เกิดคณะทำงานระดับชาติ ภายใต้สำนักนายรัฐมนตรี ในการแก้ปัญหาเพื่อครอบคลุมทุกบริบท แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า”

นายสุพิสิฐ  ยอมรับว่าปัญหาของคนกับช้างไม่สามารถแก้ได้หมด ทำได้เพียงแค่บรรเทาปัญหาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ที่มีความแตกต่างกันในเรื่องของภูมิศาสตร์ ,สิ่งแวดล้อม,สภาพเศรษฐกิจและสังคม แต่สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จะต้องไม่ทำร้าย หรือใช้ความรุนแรงกับช้าง เพราะช้างป่าเป็นสัตว์สังคม ที่จดจำและเอาคืน  รวมถึงต้องตัดวงจรช้างป่ารุ่นใหม่ไม่ให้ออกมาสัมผัส หรือลิ้มรสชาติอาหารด้านนอกป่า

“ชาวบ้านในพื้นที่ และหน่วยงานท้องถิ่น ต้องตระหนักร่วมกันที่จะไม่ถูกนำไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ และไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง”

…ผลักดันช้างออกจากพื้นที่ชาวบ้าน ด้วยการสร้างแหล่งอาหารกลางป่าลึก  ความร่วมมือของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน..

อุทยานแห่งชาติทับลาน ครอบคลุมป่าภาคกลางและภาคตะวันออก เกือบ 2 ล้านไร่  มีช้างป่าเกือบ 500 ตัว  ในจำนวนนี้มีช้างเพียง 10% เท่านั้นที่บุกรุกพื้นที่มนุษย์  ความขัดแย้งจึงยังไม่ก่อตัวรุนแรงเท่ากับพื้นที่ภาคตะวันออก   จึงสามารถวางแนวทางได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อยับยั้งปัญหาก่อนบานปลาย   นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ   หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน   จึงเริ่มเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเพื่อดูมูลเหตุที่ทำให้ช้างป่าเข้ามารุกล้ำพื้นที่ทางการเกษตร  เพื่อทราบปัญหาก็เริ่มผลักดันชาวบ้านเป็นตัวหลักขับเคลื่อน โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนในด้านต่างๆ

เมล็ดพันธ์ต้นกล้วยป่า ไผ่ป่า และพืชพันธุ์ที่เป็นอาหารของช้างป่า ถูกส่งต่อให้กับชาวบ้านเพื่อเพาะพันธุ์เป็นต้นกล้า  ก่อนนำไปปลูกในป่าลึกสร้างแหล่งอาหารให้กับช้างป่า  โดยเฉพาะผาเม่น แหล่งอาหารสุดท้าย  ก่อนถึงพื้นที่ทำกินชาวบ้านในจังหวัดปราจีนบุรี   รวมทั้งการจัดตั้ง “ชุดอาสาเฝ้าระวังช้างป่า” ที่มีการเรียนรู้ขั้นตอนการผลักดันช้างสู่ป่าโดยไม่ใช้ความรุนแรง ถ้อยทีถ้อยอาศัยในลักษณะเป็นการเตือนให้ช้างป่ารู้ว่า “ที่นี้ไม่ใช่พื้นที่หากินของช้าง”

“จัดระเบียบพื้นที่ปลูกพืชผลทางการเกษตร  โดยอยู่ในขอบเขตของพื้นที่ตามเงื่อนไขของการรังวัดพื้นที่ โดยไม่สามารถขยายบุกรุกพื้นที่ป่า   และจะช่วยดูว่าพันธุ์พืชใดเหมาะสมกับการเพาะปลูก”

การใช้สมดุลจากธรรมชาติ เพื่อยับยั้งธรรมชาติ  หนึ่งในแนวทางที่สอดคล้องกับรูปแบบของการใช้ “ป่านศรนารายณ์”  พืชไม้เลี้ยงเดี่ยว ที่มีลักษณะเป็นหนาม  ปลูกเป็นแนวป้องกันรอบนอก เพื่อสร้างอาณาเขตให้ช้างได้รู้ แทนการใช้แนวรั่วไฟฟ้าที่ทำให้ช้างป่าเกิดความเครียด  ซึ่งขณะนี้อยู่ในระว่างเริ่มเพาะต้นกล้าเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน    

“เมื่อแหล่งอาหารของช้างสมบูรณ์ โดยไม่บุกรุกพื้นที่ชาวบ้าน  ก็จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยมีนายพรานซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เปลี่ยนจากการถือปืนมาถือกล้องแทน  เมื่อช้างป่าลดผลกระทบกับชุมชน และสร้างรายได้  พวกเขาก็จะรักช้างและเรียนรู้ที่จะอยู่กับช้าง”

แชร์