“กรุงเทพฯ เมืองจมน้ำ” วลีที่ถูกพูดถึงและถกเถียงกันมายาวนานในแวดวงนักวิชาการ ในหลากหลายมุมมอง
นักวิชาการอย่าง รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวในเวทีเสวนา “ตระหนักรู้ อยู่ฉลาด กับภูมิอากาศที่รุนแรง” ถึงอนาคตว่ากรุงเทพมหานคร มีโอกาศจะจมน้ำมากที่สุด ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากปัญหา“Climate Change”การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ที่กำลังกลายเป็นภัยคุกคาม สร้างหายนะที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย และปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือการปรับตัวรับมือ
“ปัญหา Climate Change แก้ไขไม่ทันแล้ว สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือต้องปรับตัว”
เริ่มต้นวงเสวนาครั้งนี้ รศ.ดร.เสรี พาทุกคน ดูข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่สภาพอากาศแปรปรวนสูง เช่น ฝนทิ้งช่วง เกิดปัญหาแล้งและการแย่งน้ำ ชาวนาต้องปรับพฤติกรรมจากการทำนาปรัง เป็นนาปี จนทำให้ผลผลิตข้าวตกต่ำ เฉลี่ยลดลง 450 กิโลกรัมต่อไร่ และเมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จากภาคพลังงาน เช่น การผลิตเชื้อเพลิง และไฟฟ้า พบว่าประเทศไทยมีอัตราการปล่อยเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 ช่วงปี พ.ศ.2543 – พ.ศ.2556 เพียงแค่ 2 ตัวอย่าง ที่ถูกยกขึ้นมาก็ทำให้กลุ่มนักวิชาการเชื่อว่า การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคงไม่ทันการ เพราะกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกยังคงดำเนินอยู่ การที่จะไปลด หรือควบคุมต้นกำเนิดยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเจาะลงไปเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย พบว่า กรุงเทพฯ คือจังหวัดที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด

ชัชชาติ และกรุงเทพฯ เกี่ยวข้องอย่างไร กับ Climate Change ?
ผู้เขียนมีโอกาส พูดคุยกับ รศ.ดร.เสรี นอกรอบเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้รับข้อมูลว่า งานวิจัยของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ IPCC ระบุว่า กรุงเทพฯ เป็น 1 ในเมืองหลวง ที่จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีต้นเหตุมาจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น
“Climate Change ทำให้เกิดอากาศแปรปรวน ส่งผลโดยตรงกับกรุงเทพฯ เพราะเป็นเมืองที่เจอปัญหา 3 น้ำ คือน้ำทะเล น้ำหลาก และน้ำฝน ผู้ว่าฯ กทม.ที่เป็นผู้ดูแลโดยตรง ควรทราบรายละเอียดของปัญหาให้ตรงจุด เพื่อให้การแก้ไขมีประสิทธิภาพ” รศ.ดร.เสรี ระบุ
“นโยบายทบทวนแผนการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน”
“ปี 2040 หรืออีกเกือบ 20 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 0.5 เมตร และจะเพิ่มขึ้นอีก 0.5 เมตร รวมเป็น 1 เมตร ในปี 2060” เป็นข้อมูลที่ รศ.ดร เสรี เปิดเผยจากผลการเก็บข้อมูลการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำที่วัดจากสถานีป้อมพระจุลฯ นำมาใส่สูตรคำนวณ อ้างอิงจากรายงาน Red Code ของ IPCC ก่อนสรุปมาเป็นภาพถ่ายลักษณะภูมิประเทศของกรุงเทพฯ ที่คาดการณ์ในอีก 30-100 ปีข้างหน้า
“เมื่อได้ข้อมูลจากการคำนวณ นำมาทับซ้อนกับภาพแผนที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้เห็นพื้นที่เสี่ยงสีแดงตามรูป ซึ่งเขตบางขุนเทียน เป็นพื้นที่แรกที่ได้รับผลกระทบ”
รูปที่นำมาแสดงในงานเสวนาฯ เริ่มจาก ปี 2030 ที่ภาพทับซ้อนแสดงเขตพื้นที่บางขุนเทียน ได้รับผลกระทบ เป็นที่แรกของกรุงเทพฯ ส่วนที่เหลือ คือ จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด เพราะสภาพภูมิประเทศติดทะเล แต่ในอีก 20 ปี คือปี 2050 ภาพทับซ้อนแสดงพื้นที่ได้รับผลกระทบขยายวงกว้างมากขึ้น จากเขตบางขุนเทียนจุดเดียว กลายเป็นได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลที่สูงขึ้นทั้งหมด มีเพียงเขตหนองจอกเท่านั้น ที่ไม่ได้รับผลกระทบ

กรุงเทพฯ ต้องปรับตัวอย่างไร ?
ทางออกของปัญหา “กรุงเทพเมืองจมน้ำ” รศ.ดร.เสรี เชื่อว่าการปรับตัว (Adaptation) เป็นวิธีที่ดีที่สุด การปรับตัว มีด้วยกันทั้งหมด 3 แนวทาง อย่างแรกคือ แนวทางถอยร่น คือการย้ายเมืองหลวง ซึ่งจะคล้ายกับประเทศอินโดนีเซีย ที่ย้ายเมืองหลวงกรุงจาการ์ตา จากเกาะชวา ไปยังเกาะบอร์เนียว แต่จากการประเมินสถานการณ์เชื่อว่ากรุงเทพฯ ยังไม่วิกฤตเหมือนประเทศอินโดนีเซีย
ดังนั้นแนวทางที่เหมาะสมคือ แนวทางการป้องกัน ได้แก่ การให้รัฐบาลเวนคืนที่ดินริมทะเลทั้งหมดเพื่อสร้างคันดินกั้นน้ำทะเล โดยนอกแนวคันกั้นให้ปลูกป่าชายเลน ระยะทาง 2 กิโลเมตร เพื่อเป็นเกาะลดการกัดเซาะชายฝั่ง ส่วนแนวทางสุดท้าย คือ แนวทางนวัตกรรม ได้แก่การสร้างคันกั้นคอนกรีตนอกชายฝั่งที่มีประตูปิดเปิดในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง และน้ำที่ขังอยู่ภายในคันกั้นก็จะกลายเป็นน้ำจืดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ รวมทั้งคันกั้นคอนกรีตนี้ยังสามารถทำเป็นถนนที่มีระยะทาง 80 กิโลเมตร เพื่อใช้สัญจรระหว่างชะอำและพัทยา

ถึงแม้ว่าปัญหากรุงเทพเมืองจมน้ำจะมีทางออก แต่ รศ.ดร.เสรี สะท้อนว่าทุกทางออก ล้วนมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์ และผู้เสียผลประโยชน์ ซึ่งสิ่งที่ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครจะต้องทำหลังจากนี้ คือการนำแนวทางการปรับตัวทั้ง 3 แนวทางไปหาจุดตรงกลางที่เหมาะสม เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ภาครัฐ และภาคประชาชนได้ทำงานร่วมกัน และเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบจากปัญหานี้น้อยที่สุด
“จากการพูดคุยกับผู้ว่าฯ กทม. ประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งไม่ได้คุยแค่ครั้งเดียว แต่ในอนาคตจะมีการหารือ และลงพื้นที่เพิ่มเติม ทุกปัญหามีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียผลประโยชน์ ดังนั้นต้องหาจุดกึ่งกลางให้เจอ” รศ.ดร.เสรี ทิ้งท้าย กรณีส่งต่อข้อมูลปัญหา และการแก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกันแล้ว