
ฝนที่ตกหนักในหลายจังหวัด ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2565 จาก “ลานีญา” เพิ่มกำลังขึ้น และมีการวิเคราะห์ว่าฝนจะตกต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน และอุณหภูมิจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ …. หากมองในลักษณะทั่วไปนับเป็นเรื่องปกติ แต่ลึกลงไป …ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้สภาพอากาศแปรปรวนได้เริ่มขึ้นแล้ว
….งบวิจัยพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชของไทยมีน้อยมาก ในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง…
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า ความกังวลในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เกษตรกร หรือประชาชน ที่มีขีดความสามารถจำกัดในการปรับตัว “ภาครัฐ” ก็ไม่ได้มีท่าทีต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากนัก งบวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวมีน้อยมาก คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญน้อย หรือมีความพร้อมน้อยมากในการเตรียมรับมือกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต
“เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ทั้งที่นักวิจัยของไทยมีความสามารถในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าว และพันธุ์พืชต่างๆ ให้ทนแล้ง ร้อน และชื้น ตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต แต่กลับไม่สามารถทำได้ เพียงเพราะงบประมาณการวิจัยมีน้อยและไม่ต่อเนื่อง”

…การพัฒนาพันธุ์ข้าว-พืช สำคัญอย่างไร?
จากดัชนีชี้วัด (ด้านล่าง ⬇) แสดงให้เห็นว่า มูลค่าเพิ่มของแรงงานในภาคเกษตรไทยเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย และ บราซิล นอกจากนั้นผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เคยอยู่ในอันดับรองจากไทย อาทิ ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีค่าดัชนีผลิตภาพรวมภาคการเกษตรแซงหน้าไทยไปแล้ว ซึ่งหมายความว่า ภาคเกษตรไทยที่นับว่ามีความสำคัญต่อประเทศ กำลังสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในสินค้าเกษตรในตลาดโลก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้น้อยลงจากการส่งออกและเกษตรกรก็จะมีรายได้ที่ลดลงเช่นกัน

รศ.ดร.วิษณุ มองว่า ปัจจัยหลักมาจากสภาพอากาศที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ผลผลิตข้าวต่อไร่ลดลง คุณภาพของข้าวไม่ได้มาตรฐาน มีความชื้น เม็ดไม่โต ส่งผลให้เกษตรกรแทบจะไม่มีกำไรจากการขายข้าว ผลกระทบในระยะยาวข้าวไทยอาจจะเป็นที่ต้องการของตลาดโลกลดลง

….ไทยยังมีเวลา แต่ต้องบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน
ทั่วประเทศมีเกษตรกร ประมาณ 12.67 ล้านคน ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ยากมากเมื่อเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดูแลและให้องค์ความรู้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ดังนั้นต้องมีการบูรณาการร่วมกันทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงจะทำให้การพัฒนาเกษตรกรของไทยสามารถรองรับเทคโนโลยีในอนาคตได้ แต่ยังต้องอยู่บนพื้นฐานของการเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย จากข้อมูลงานวิจัยมีเกษตรกรรายย่อยเข้าถึงแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรน้อยมาก โดยเฉพาะภาคอีสาน เช่น อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และอุดรธานี ที่มีการใช้แอปพลิเคชัน เพียงแค่ร้อยละ 30 ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมด โดยยังใช้แอปพลิเคชันกันเพียง 1-3 แอปพลิเคชันเท่านั้นในการทำเกษตร
“เกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเก่าอยู่แล้ว การจะให้เข้าถึงข้อมูลการเกษตรในแอปพลิเคชัน เพื่อทราบข้อมูลเรื่องน้ำ อากาศ พืชที่ควรปลูก แต่ข้อมูลเหล่านี้กลับไม่รวมอยู่ในที่เดียวกัน มีการแยกออกเป็นส่วนๆ ทำให้การเข้าถึงยาก ดังนั้นควรเริ่มต้นการบูรณาการร่วมกันก่อน”
