
เป็นเวลากว่า 3 วัน ที่น้ำเข้าท่วม อ.เมืองนครราชสีมา ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตซ้ำซ้อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ในพื้นที่ที่อาจจะเพิ่มขึ้น นายศตพรรษ เพ็งแจ่มศรี ปลัดอำเภอเมืองนครราชสีมา ฝ่ายความมั่นคง ยืนยันกับทีมข่าวศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรต้องวิตก ส่วนตัวมั่นใจกับทีมสอบสวนโรคที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการติดตามพบว่าการป้องกันโรคยังอยู่ในเกณฑ์สืบสวนติดตามที่มาของการติดเชื้อและควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจหลักของชาวโคราช เนื่องจากสถานการณ์ยังอยู่ในขั้นวิกฤติ จากระดับน้ำที่ท่วมสูง 30 ซม.-1 ม. และมีแนวโน้มสูงขึ้น และได้หลากเข้าท่วมแล้วใน 10 ตำบล มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 3,000 ครัวเรือน
อีกจุดที่ต้องติดตามคือบริเวณฟาร์มเลี้ยงจระเข้ ในตำบลหนองกระทุ่ม ที่มีจระเข้ภายในฟาร์มถึง 1,000 ตัว เบื้องต้น จากการตรวจสอบพบสภาพที่ตั้งของฟาร์มอยู่บนที่สูง ประกอบกับเจ้าของได้ก่อสร้างคันกั้นบ่อสูงไว้แล้ว 2 ม. ซึ่งคาดการณ์ว่าระดับน้ำไม่น่าจะท่วมถึงบริเวณคันกั้นบ่อ แต่ก็ได้มีการวางแผนรองรับกรณีฉุกเฉินไว้ 2 แนวทาง แนวทางแรกคือ ขนย้ายจระเข้นับพันตัวไปยังพื้นที่ปลอดภัยและแนวทางที่ 2 คือทำลายทิ้ง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะถึงขั้นต้องทำลายเพราะยังสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อยู่
นายนพดล มากทอง โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สิ่งที่ต้องติดตามต่อคือ ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 64 จากอิทธิพลมวลอากาศเย็นปะทะกับฝน หรือ ร่องความกดอากาศต่ำในภาคกลาง ก็อาจจะทำให้พื้นที่อีสานล่าง ยังคงมีฝนตกอยู่ โดยเฉพาะที่จ.นครราชสีมา ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 21 แห่ง จากภาพรวม 27 แห่ง มีน้ำกักเก็บเกินความจุ 100% แล้ว ส่วนที่เหลืออีก 6 แห่ง ก็อยู่ในระดับใกล้เต็ม โดยหากฝนตกมาเพิ่มก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อ แต่ยืนยันว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ ยังแตกต่างจากปี 53 ที่น้ำท่วมในตัวเมืองนครราชสีมาอยู่ เพราะในปีนั้นร่องมรสุมพาดผ่านตัวจังหวัดทำให้ฝนตกหนัก แต่ในปีนี้สาเหตุสำคัญมาจากการที่มีฝนตกสะสมที่บริเวณเขื่อนลำตะคอง ทำให้ต้องมีการพร่องน้ำ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกส่วนที่เกี่ยวข้องคือเรื่องของการก่อสร้างอาคารกีดขวางทางน้ำ รวมถึงการสร้างถนน , มอร์เตอร์เวย์ขวางทางน้ำไหล ซึ่งหากสังเกตจะพบว่า แม้ฝนจะไม่ตกหนัก แต่ตัวเมืองนครราชสีมา ก็มักจะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ