รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ถึงแนวโน้มปริมาณฝนในพื้นที่ ภาคใต้ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2565 ประมาณการไว้เดือนละ 600 มม. มากกว่า 4% ของปริมาณฝนในปี 2560

ฝนเริ่มเทมาทางด้านทิศตะวันออกมากขึ้น ยาวไปถึงเดือนธันวาคม
สำหรับฝนที่ตกในช่วงนี้ (กลางเดือนตุลาคม – ปลายเดือนตุลาคม) ได้รับอิทธิพล ลมที่พัดมาจากไต้ฝุ่นทางทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมทางด้านมหาสมุทรอินเดียที่ยังแรง มีผลทำให้ ภาคใต้ ฝั่งตะวันตกเกิดฝนตกหนักน้ำท่วมใน จ.ภูเก็ต จ.พังงา และ จ.กระบี่ ขณะที่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป มวลอากาศเย็นจากภาคเหนือจะเริ่มเคลื่อนตัวลงมาในช่วงแนวปะทะของลมจากฝั่งทะเลจีนใต้ และทางด้านมหาสมุทรอินเดีย มีผลให้ฝนตกทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก แต่จะตกหนักติดต่อกันหลายวันในด้านตะวันออก ทำให้มีพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ จ.เพชรบุรี, จ.สุราษฎร์ธานี, จ.นครศรีธรรมราช, จ.พัทลุง, จ.ปัตตานี หลังจากนั้นในเดือนธันวาคม อิทธิพลของลมทางด้านมหาสมุทรอินเดียจะอ่อนลง จะเป็นฝนที่มาจากด้านเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก

รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า เมื่อดูระดับน้ำของภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำตาปี ปากพนัง และทะเลสาบสงขลา ปริมาณน้ำยังอยู่ที่ 60% ฉะนั้นภายในเดือนพฤศจิกายน ที่จะมีฝนตกหนัก แม่น้ำเหล่านี้จะยังสามารถรองรับน้ำได้ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล แต่…..ที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากในช่วงกลางพฤศจิกายน จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง ประกอบกับลักษณะทางกายภาพภาคใต้ฝั่งตะวันออก เป็นพื้นที่ราบที่ในช่วงระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาและการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พื้นที่กักเก็บน้ำลดลง อีกทั้งลักษณะฝนภาคใต้ เป็นฝนที่ตกสะสมน้ำไว้บนเขาก่อนจะค่อยๆ ไหลลงมา ช่วงแรกจึงยังไม่รู้สึกว่าน้ำท่วม แต่เมื่อฝนที่ตกหนักต่อเนื่องสองสามวัน จะเกิดการสะสมของฝนจำนวนมากที่ไหลเข้าพื้นที่จึงทำให้เกิดน้ำท่วม

“ในอดีตฝนที่ไหลลงมาจากเขา จะมีพื้นที่โล่งที่เปรียบเสมือนเป็นทุ่งรับน้ำ อยู่ระหว่างแนวเขากับแนวเส้นทางรถไฟ เป็นพื้นที่พักน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองไปลงทะเล แต่ปัจจุบันพื้นที่โล่งกลายเป็นสิ่งปลูกสร้าง และหมู่บ้านจัดสรร มีการถมที่ ทำคันกั้น ลดพื้นที่พักน้ำ ทำให้เมื่อฝนตกลงมาไม่มีพื้นที่พักน้ำ จึงทำให้น้ำไหลผ่านตัวเมืองจำนวนมากและเกิดน้ำท่วม”
ดังนั้น….ในปี 2565 หากยังไม่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ คาดการณ์ว่าน้ำอาจจะท่วมเท่ากับปี 2560 โดยต้องคำนึงถึงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่เปลี่ยนไปจากการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นการเตรียมตัวของเทศบาลและเมืองต่างๆ หากทำได้ดีก็จะลดผลกระทบที่เกิดจากความเสียหายลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบเครื่องสูบน้ำ การเคลียร์ทางระบายน้ำ และการตรวจสอบคันกั้นน้ำที่มีอยู่

ถามว่า? ทำไมภาคใต้ถึงหลีกเลี่ยงน้ำท่วมไม่ได้
ฝนภาคใต้จะเป็นลักษณะที่ตกต่อเนื่องหลายวัน จนเกิดการสะสมของฝนบนเขาก่อนไหลลงมาด้านล่าง ด้วยปริมาณที่ฝนมากกว่าปกติทำให้การระบายลงทะเลไม่ทัน ส่วนพื้นที่ลุ่ม ที่มีลักษณะสโลปไม่มากนัก ก่อนจะไหลลงทะเลจะต้องมีทุ่งรับน้ำเพื่อชะลอน้ำ แต่ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยการก่อสร้างต่างๆแทน จึงทำให้น้ำไม่มีที่อยู่ อีกทั้งยังต้องเจอกับอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง และน้ำทะเลหนุน จึงทำให้หากในช่วงนั้นปริมาณฝนมากเจอกับน้ำทะเลหนุนก็จะทำให้มีโอกาสท่วมมากกว่าปกติ
รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า สิ่งสำคัญหลังจากนี้จะต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น ระยะสั้น ต้องกันพื้นที่เขตเมืองไม่ให้น้ำท่วมเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะควรมีระบบภาษีเพิ่มเพื่อเป็นเงินชดเชยเยียวยา นอกจากการชดเชยเยียวยาจากภาครัฐให้กับพื้นที่ที่ต้องเสียสละเป็นพื้นที่รับน้ำแทน ส่วนพื้นกึ่งท่วมก็จะต้องมีการให้ทำประกันภัยที่รัฐช่วยออกค่าทำประกันครึ่งหนึ่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ระยะยาว ต้องมีกฎหมาย หรือ เทศบัญญัติ จัดโซนนิ่งการใช้พื้นที่ตามความเสี่ยง เนื่องจากข้อมูลของพื้นที่น้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปีก็จะเป็นพื้นที่เดิมๆ ดังนั้น ทางออกหนึ่ง ควรควบคุมไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้าง หรือการขยายของเมืองเพิ่มขึ้นเพื่อเปลี่ยนให้เป็นจุดรับน้ำ ส่วนพื้นที่กึ่งท่วมก็จะต้องมีการบังคับให้สร้างบ้านในลักษณะอาคารที่เปิดโล่งชั้นล่างเพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านไปได้
“การกำหนดการใช้ที่ดินให้เหมาะสม ด้วยระบบเก็บภาษีเพิ่มในพื้นที่ไม่ถูกน้ำท่วม เพื่อจะได้เอาเงินชดเชยไปช่วยให้กับพื้นที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก ส่วนพื้นที่ท่วมบ้างไม่ท่วมบ้างก็จะช่วยโดยการให้ประกัน เมื่อปีไหนที่ไม่ท่วมก็จะไม่เสียหาย ปีไหนที่น้ำท่วมก็จะได้รับการช่วยเหลือจากเงินประกันได้ ก็เป็นการลดความเสียหายที่เกิดขึ้น ผมคิดว่ารูปแบบนี้จะต้องศึกษาล่วงหน้ารองรับต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นมากขึ้นในอนาคตไปพร้อมกัน”

“คลองบายพาส” โครงการส่งน้ำลงทะเล ไม่ผ่านตัวเมือง
ขณะที่การแก้ปัญหาระดับโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด ขณะนี้กรมชลประทานได้มีโครงการขุดคลองบายพาสเพื่อตัดน้ำผันลงสู่ทะเลก่อนเข้าสู่ตัวเมืองแต่ละจังหวัด เนื่องด้วยปกติ บรรเทาความเดือดร้อนของน้ำท่วมในเขตเมือง โดยเริ่มต้นโครงการที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซากทุกปี และโครงการที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งยังมีขั้นตอนการศึกษาโครงการ ที่จะช่วยให้การระบายน้ำออกทะเลได้ 200 – 300 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำแม่น้ำในเมืองได้ แต่ถ้าฝนตกหนักมากๆ ก็อาจจะมีน้ำท่วมขังได้ในบางพื้นที่ แต่แนวโน้มก็จะลดท่วมขังได้มากกว่าเดิม
