
แนะนำผู้เสียหายถูกแฮกบัตรเดบิต- เครดิต ต้องรีบอายัดก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนแจ้งความตำรวจ ปอท. ตรวจสอบข้อมูล ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย พบข้อมูลผู้เสียหายบางส่วนถูกหักเงินจากบัตรเครดิตที่ผูกบัญชีไว้กับร้านค้าออนออนไลน์ในต่างประเทศ
ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ออกมาชี้แจงกรณีความผิดปกติในการตัดเงินผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต โดยจากการตรวจสอบผู้เสียหายหลายคนพบว่าไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลจากธนาคาร แต่ผู้เสียหายมีการผูกบัญชีบัตรเครดิตไว้กับร้านค้าต่างประเทศเพื่อชำระสินค้าและบริการต่างๆ และทำระบบผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือแอพพิเคชั่นเพียงอย่างเดียว
ปัจจุบันการซื้อขายสินค้า บริการ หรือติดต่อธุรกรรมต่างๆ ถูกใช้งานผ่านโมบายแบงค์กิ้งที่ผูกไว้กับบัญชีธนาคาร ,บัตรกดเงินสด หรือบัตรเครดิตต่างๆเพื่อความสะดวกในการชำระเงิน หรือที่เรียกว่า “สังคมไร้เงินสด” กลายเป็นช่องว่างให้กลุ่มมิจฉาชีพใช้เทคโนโลยีแฮกระบบข้อมูลส่วนตัว เพื่อสวมรอยไปหลอกเหยื่อให้โอนเงิน


จุดจับสังเกต!
- มิจฉาชีพมักอ้างเหตุผลว่ากำลังเดือนร้อน ขอยืมเงินด่วน
- ชื่อบัญชีธนาคารที่มิจฉาชีพให้โอนเงินไปจะเป็นชื่อบัญชีที่เราไม่รู้จัก
- หากเหยื่อโทรหา หรือวิดีโอไป มิจฉาชีพจะไม่มีรับและตัดสายทิ้งทันที
นางประไพ หนึ่งในผู้เสียหาย เล่าว่าถูกมิจฉาชีพ แฮกบัญชีเฟสบุ๊กและไลน์ส่วนตัว ก่อนจะสวมรอยเป็นตัวเองและทักแชทไปหาเพื่อนที่อยู่ในโซเชี่ยลต่างๆ โดยจะเน้นคนที่มีประวัติการคุยค้างไว้หรือคนที่คุยกันล่าสุด อ้างว่าต้องการเงินด่วนให้โอนเข้าบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพ ซึ่งก็มีเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินให้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องจริง นอกจากวิธีการข้างต้นที่มิจฉาชีพใช้เพื่อหลอกเหยื่อแล้ว ขณะนี้พบว่ามีกลุ่มเฟสบุ๊ก“แชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว” ที่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า5หมื่นคน รวมตัวกันเล่าประสบการณ์ถูกตัดเงินออกจากบัญชีธนาคารอย่างเป็นปริศนา
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. แนะนำว่า ผู้เสียหายที่รู้ตัวว่าถูกหลอกให้นำหลักฐานการโอนเงิน ที่มีชื่อเจ้าของบัญชี เลขที่บัญชี เข้าแจ้งความกับตำรวจในพื้นที่ได้ทันที เพราะเป็นการกระทำผิดลักษณะการเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ และนำใบแจ้งความไปมอบให้ธนาคารเพื่อสั่งอายัดบัญชีอย่างเร่งด่วน ส่วนกรณีเงินในบัญชีถูกตัดหายไปอย่างปริศนา ตำรวจจะมีการประสานกับธนาคารเพื่อขอข้อมูลว่าเป็นการแฮกระบบหรือไม่
