แนวคิดในการจัดทำโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บเขื่อนภูมิพล ( โครงการผันน้ำยวม ) เกิดจากหน่วยงานรัฐเล็งเห็นว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ถือเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรสำคัญ ปัญหาน้ำขาดแคลนมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นทุกปี จึงหาแนวทางการแก้ด้วยการ จัดสรรน้ำมาเติมน้ำให้เพียงพอ

กรมชลประทาน ยังระบุว่า วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศต่าง ๆ ไว้แล้วตามข้อเสนอแนะของคณะ คชก. ที่ครอบคลุมในทุกด้าน เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ซึ่งพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการเจ้าพระยาใหญ่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพลประมาณ 1,323,244 ไร่
ส่วนข้อกังวลของชาวบ้าน เช่นการสร้างเขื่อน จะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น รวมถึงในหน้าแล้งน้ำอาจไม่เพียงพอ ยืนยันว่าหากมีเขื่อนแม่เงา ระดับน้ำไม่เข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชน ส่วนการสูบน้ำ จะทำการสูบเฉพาะหน้าฝน โดยนำสถิติน้ำ ย้อนหลังมาศึกษาแล้ว
แผนงานก่อสร้างโครงการ
การขุดวางท่ออุโมงค์จากลุ่มน้ำสาละวิน ข้ามมายังเขื่อนภูมิพล รวมระยะทางประมาณ 60 เมตร
ในโครงการ ประกอบด้วย
1. เขื่อนกั้นแม่น้ำยวม เป็นเขื่อนดิน ความสูงจากระดับท้องน้ำถึงสันเขื่อน 69.5 เมตร ความยาวสันเขื่อน 260 เมตร
2. สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา ติดตั้งเครื่องสูบน้ำลึกจากพื้นดินประมาณ 40 เมตร และปรับปรุงลำน้ำยวม 6.4 กม.
3. อุโมงค์อัดน้ำ อุโมงค์พักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ 61.85 กม. ขุดเจาะด้วยวิธีเจาะระเบิด และเครื่องเจาะ
4. ทางออกอุโมงค์ส่งน้ำลำห้วยแม่งูด ปรับปรุงลำห้วยแม่งูด 2.1 กม.

เมื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอระบุว่า โครงการฯ ขอใช้พื้นที่ป่าไม้ 3,467 ไร่ ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง (ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าอมก๋อย ป่าแม่แจ่ม ป่าแม่ตื่น) พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง (อุทยานแห่งชาติแม่เงา)
ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
นอกจากประเด็นด้านการบริหารจัดการน้ำ ที่นักวิชาการน้ำมองว่าการผันน้ำแม่ยวม มาเติมเขื่อนภูมิพล ไม่ใช่การแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน และถูกต้อง รวมถึงยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถแก้ปัญหาน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระบาไม่เพียงพอ ยังมีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ หลายคนยังพูดถึงเรื่องความคุ้มค่า

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่เคยให้ความเห็นในงานเสวนาโครงการผันน้ำยวม ของศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ และเขียนอธิบายในเฟซบุ๊ก ส่วนตัวว่า จากต้นทุนการก่อสร้าง (ซึ่งมีทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำต้นทางที่แม่น้ำยวม และการสร้างอุโมงค์) โดยหากเฉลี่ยต้นทุนเป็นหน่วยต่อลูกบาศก์เมตรแล้ว (ใช้อัตราคิดลด 9% ตามที่สภาพัฒน์แนะนำ) น้ำแต่ละลูกบาศก์เมตรที่ลอดอุโมงค์มาจะมีต้นทุน ค่าก่อสร้างเท่ากับ 4.21 บาท/ลบ.ม.
สำหรับการผันน้ำในโครงการนี้ ต้องสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปขึ้นปากอุโมงค์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายการสูบน้ำ ในแต่ละปี ประมาณ 3,000 ล้านบาท หากคิดเป็นต้นทุนต่อลูกบาศก์เมตร ก็จะเท่ากับต้นทุนค่าสูบน้ำ 1.66 บาท/ลบ.ม.
“เมื่อรวมกับ ต้นทุนในการปฏิบัติงานและบำรุงรักษา อีก 0.17 บาท/ลบ.ม. แล้ว ต้นทุนของน้ำในโครงการนี้จะเท่ากับ 6.04 บาท/ลบ.ม. ( 4.21+1.66+0.17 บาท/ลบ.ม.)
หากนำน้ำดังกล่าวมาใช้ในทำนาปรัง ( โดยอ้างอิงจากข้อมูลใน EIA ที่ระบุตัวเลขการใช้น้ำทำนาปรัง1,106 ลบ.ม./ไร่) มูลค่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้น้ำทำนาปรังจะเท่ากับ 2.11 บาท/ลบ.ม.
“คิดง่ายๆ น้ำที่นำมาใช้ มีต้นทุน 6.04 บาท/ลบ.ม. มาผลิตสินค้า คือข้าว ที่ได้มูลค่า 2.11 บาท/ลบ.ม. มันไม่คุ้มค่าอย่างแน่นนอน“

ขณะที่ ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ในด้านต้นทุนนี้มีข้อสังเกตสำคัญ 2 ประการ คือ ข้อแรก ราคาที่ใช้เป็นเกณฑ์ราคาปี 2555 จากกรมบัญชีกลาง และ ข้อสอง ราคาระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จะไม่ถูกนำมาคิดในต้นทุนโครงการเพราะที่ปรึกษากล่าวว่า เป็นหน้าที่ของ กฟผ.
เมื่อตั้งข้อสังเกต พบว่า โครงการนี้ใช้วิธีคำนวณที่แปลกประหลาดคล้ายกับการศึกษา EHIA เขื่อนแม่วงก์ เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไม่ถูกคิดในการคำนวณ ในขณะที่ผลประโยชน์ไฟฟ้าที่ได้กลับนำมาใส่ไว้ในโครงการ ซึ่งโดยปกติแล้ว การคำนวณผลกระทบโดยรวม มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องแสดงข้อมูลไว้โดยไม่คำนึงว่าโครงการเป็นของใคร เพราะเป็นการคิดเรื่องต้นทุนและผลประโยชน์ของโครงการทั้งหมด หากคิดต้นทุนรวมเชื่อว่า โครงการฯ นี้ ไปต่อไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะไม่คุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์

ทบทวนการ ทำ EIA
EIA หรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็น การประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง
หลักง่ายๆ คือ โครงการที่ผ่าน EIA แล้ว เป็นเครื่องการรันตีได้ว่า สามารถเดินหน้าต่อได้ แต่ในช่วงหลังพบว่า EIA เป็นเพียงหนังสือผ่านทาง หรือ ตรายางเท่านั้น เช่นเดียวกับโครงการผันน้ำแม่ยวม

“กระบวนการจัดทำรายงาน EIAจริงจริงแล้วควรจะมีกองทุน หรือหน่วยงานกลาง โดยให้เป็นกองทุนกลางของรัฐบาล เมื่อมีโครงการ กองทุนนี้ไปว่าจ้าง บริษัทเอกชน หรือมหาวิทยาลัย ประมูลเข้ามาศึกษาผลกระทบ แต่ปัจจุบัน เจ้าของโครงการเป็นผู้ว่าจ้างการจัดทำ EIA โดยตรง ดังนั้นผู้จัดทำ EIA ก็เป็นลูกจ้างของหน่วยงาน ยังไงเขาก็ต้องทำให้โครงการมันผ่าน ยังไงเขาก็บอกว่ากระทบแค่ …. หมู่บ้าน กระทบแค่ 2 ครอบครัว ทำให้ลดจำนวนผู้ได้รับผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อที่จะทำให้โครงการผ่านได้” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์และสื่อสาร (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) องค์กรแม่น้ำนานาชาติ