เครื่องหมายอัศเจรีย์

ไม้กลายเป็นหิน บันทึกธรณีพิบัติ

ท่ามกลางความสนใจเรื่อง “ไม้ตาก” ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก ที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) ที่ “ความยาว 69.70 เมตร” ซึ่งได้รับการรับรองสถิติโลกจากกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ชนิดทิ้งขาดลอยจากเจ้าของสถิติเดิม  คือ ไม้กลายเป็นหิน มณฑลซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีความยาวประมาณ 38 เมตร

สิ่งที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน ก็คือ  ในพื้นที่บริเวณที่พบไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกต้นนี้ ยังค้นพบไม้กลายเป็นหินที่เป็นต้นไม้ใหญ่อีก 6 ต้น ความยาวราว 30 – 45 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-2 เมตร  และคาดว่าน่าจะมีมากกว่า 100 ต้นในบริเวณใกล้เคียง กินพื้นที่มากกว่า 40 ตารางกิโลเมตรนับเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะไม่มีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ใดในโลกที่มีการพบไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่รวมกันเช่นนี้มาก่อน

เมื่อพิจารณากระบวนการเกิดไม้กลายเป็นหิน สันนิษฐานได้ว่า ในบริเวณดอยสอยมาลัยนี้เป็นป่าดิบชื้น ดึกดำบรรพ์ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่ขึ้นตามแนวลาดเอียงของเชิงเขา เมื่อเกิดมีพายุใหญ่หรือฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานหลายวัน จนมีมวลน้ำปริมาณมากไหลลงมาจากภูเขาด้านบนที่มีความลาดชันสูง พัดพานำตะกอนกรวดทรายจากภูเขาไหลทะลักลงมาสูงที่ลาดชันต่ำและได้ดันต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ให้ล้มตายทั้งราก ถูกพัดพาไหลลงมาสะสมตะกอนรูปพัด (Alluvial fan) ซึ่งน่าจะมีการพัดพาตะกอนจากภูเขามาอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน ทำให้มีตะกอนกรวดทรายปริมาณมากไหลลงมาทับถมหลายต่อหลายครั้งและได้ฝังต้นไม้ไว้ใต้ชั้นดินลึกมากในระดับที่จุลินทรีย์ไม่สามารถเข้าไปย่อยสลายเนื้อไม้ เป็นเวลายาวนานนับแสนปี  และสารละลายซิลิกาจากตะกอนกรวดทรายได้เข้าแทนที่เนื้อไม้อย่างช้าๆ โมเลกุลต่อโมเลกุล กระทั่งแทนที่ทั้งหมด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้างเดิม จนกลายเป็นหินทั้งต้นให้เราได้เห็นพร้อมๆ กันเป็นบริเวณกว้างขวางเช่นนี้ ในขณะที่ นักวิชาการบางคนมีข้อสันนิษฐานว่า การค้นพบไม้กลายเป็นหินพร้อมก้อนกรวดกลมมนทั้งเล็กใหญ่ จึงเชื่อว่าในอดีตกาลหลายแสนปี พื้นที่ตรงนี้เคยมีแม่น้ำโบราณไหลผ่าน แต่ปัจจุบัน แม่น้ำได้เปลี่ยนทิศไปทางตะวันตก อันเป็นผลมาจากรอยเลื่อนแม่เมย ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนมีการยกตัวของพื้นดิน ทำให้ไม้กลายเป็นหินเหล่านี้ โผล่พ้นดินมาให้เราได้เรียนรู้

นอกจากนี้ พันธุ์ไม้เหล่านี้ ล้วนเป็นไม้ในป่าดิบชื้นที่สูญพันธุ์ไปจากภาคเหนือและภาคอื่นๆของประเทศไทยแล้ว  ขณะนี้พบเพียงบริเวณชายแดนภาคใต้ของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาะบอร์เนียวเท่านั้น  บ่งชี้ว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ในบริเวณนี้จากอดีตมาถึงปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่น่าค้นหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้ล่วงรู้จากไม้กลายเป็นหิน ที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) โดยเฉพาะการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับธรณีพิบัติภัยในอดีต และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงถึงประวัติของโลกที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ ที่มีความเป็นพลวัต หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

จากการศึกษาของนักธรณีวิทยา  ยังพบว่าโครงสร้างเซลล์ไม้ถูกรบกวนจากสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นผลจากการกดทับของชั้นตะกอนกรวดด้านบน การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศตลอดระยะเวลานับแสนปี ซึ่งมีการยืดและหดตัวของเซลล์ตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิรอบข้าง และผลจากกระบวนการแปรสัณฐาน ซึ่งสามารถใช้เพื่อการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในอดีตสู่การพยากรณ์ปัจจุบันและอนาคตได้มากกว่าการรับรองจาก กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ที่ทำให้คนไทยภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของสถิติ “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก”  มรดกธรรมชาติทางธรณีวิทยาล้ำค่าที่มนุษย์ไม่อาจสร้างขึ้นมาได้เองนี้  ยังรอคอยการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโบราณ  โดยเฉพาะภัยพิบัติครั้งใหญ่ๆที่เกิดขึ้นในอดีต  เพื่อที่เราจะได้รับมือกับปัจจุบันอย่างรู้เท่าทัน

แชร์