ระหว่างกองบรรณาธิการกำลังสรุปข้อมูลภัยพิบัติ และนั่งหาประเด็นสิ่งแวดล้อม เช้ากลางเดือนมิถุนายน ก็เห็นภาพจากสื่อออนไลน์ ของกลุ่มเกษตรกร ที่ส่วนมากเป็นคนสูงอายุ ถือป้ายเรียกร้องปัญหาการจัดการน้ำใน จ.ร้อยเอ็ด แต่พอลองค้นข้อมูลเพิ่มเติม ไม่พบรายละเอียดมากนัก ทำให้กอง บก.ตัดสินใจส่งผู้เขียนเดินทางไปพูดคุย ถึงสาเหตุที่พวกเขาต้องทิ้งอาชีพ และยอมเดินทางมาหลายร้อยกิโลเมตร เพื่อเรียกร้องการแก้ไข ในนามกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายชาวบ้าน ลุ่มน้ำชี ตอนล่าง”

ความหวัง
ผู้เขียนเดินทางทันที หลังได้รับมอบหมาย โดยมีหมุดหมายแรก คือ หมู่บ้านอีโก่ม ต.เทอดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด และการเดินทางครั้งนี้ เหมือนกับหลายๆครั้ง คือการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้ สะท้อนปัญหา ชาวบ้านบอกเสมอว่า ประเด็นที่พวกเขาพยายามเรียกร้องนั้น อาจแย่งพื้นที่ข่าวรายวันได้ไม่มาก แต่อย่างน้อยที่สุด การมีพื้นที่สื่อสารออกไป อาจทำให้ความหวังที่พวกเขาพยายามต่อสู้มาตลอด 14 ปี ได้รับการแก้ไม่มากก็น้อย
“….เขาทำเขื่อน คิดว่าจะควบคุมน้ำได้ แต่เขาควบคุมไม่ได้ สุดท้ายการบริหารจัดการน้ำมันไม่สัมพันธ์กับฤดูกาล….”
– สิริศักดิ์ สะดวก แกนนำเครือข่ายชาวบ้าน ลุ่มน้ำชี ตอนล่าง เริ่มต้นบทสนทนา

ภาพ ชาวนา บ้านบุ่งหวาย ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ไม่สามารถทำนาได้ เพราะน้ำจากแม่น้ำชี ไม่สามารถส่งมาถึงพื้นที่
จุดเริ่มต้นของการต่อสู้
โครงการโขง-ชี-มูล เกิดขึ้นจากการที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำโขงมายังลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล โดยมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ ก่อนปี 2532 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการ ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 18,000 ล้านบาท
ทันทีที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ และมีการเริ่มทดลองกักเก็บน้ำ ในปี พ.ศ.2543 ชาวบ้านบางส่วนเริ่มรับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลง แต่ ณ เวลานั้น พวกเขายังไม่รู้ถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และคิดว่าความรุนแรงของน้ำท่วมและภัยแล้งเกิดจากภัยธรรมชาติเท่านั้น “ปี 2543 เรารู้สึกว่าน้ำมันท่วมรุนแรงกว่าปกติ คือมันท่วมยาวนาน จากเดิมเคยท่วม 5-7 วัน แต่คราวนี้ มันท่วมนานหลายเดือน แล้วพอ 2 – 3 ปี หลังจากนั้นก็ยังเป็น เลยคิดว่าไม่น่าจะเกิดจากภัยธรรมชาติแล้ว……”
สมศักดิ์ ทูลธรรม ชาวนาริมฝั่งน้ำชี ในอ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด พาเดินสำรวจร่องรอยความเสียหายที่เกิดน้ำท่วมขังนาข้าวของเขา “…..พอรู้สึกว่ามันแปลก ๆ เลยลองขับรถขึ้นไปดูที่เขื่อน ก็เห็นว่าเขายกบานประตูระบายน้ำขึ้นเล็กน้อย ทำให้น้ำที่มาจากตัวเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนไหลไม่สะดวก แล้วพอมันมีน้ำจากพื้นที่มาหนุน มันก็ดัน ๆ กันอยู่อย่างนั้น พอระบายไม่ได้มันก็เอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของชาวบ้าน…..” เขาอธิบายซ้ำพร้อมกับชี้เสาไฟฟ้ากลางท้องนา ที่มีคราบสีเข้มซึ่งเกิดจากการท่วมขังของน้ำในระยะเวลายาวนาน

“น้ำมีเจ้าของ” วลีของชาวบ้าน ต่อโครงการของรัฐ
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวร้อยเอ็ด ไม่ต่างกับสิ่งที่ชาวยโสธรต้องเผชิญ จากการสร้างเขื่อนยโสธร-พนมไพร เช่นกัน “ถ้าเขื่อนช่วยแก้ปัญหาภัยพิบัติได้จริง ทำไมนาแถวนี้ยังแห้งแล้ง พอหน้าฝนก็ยังท่วม แถมหนักกว่าเดิม….” น้อย เทพเจริญ ชาวนาริมฝั่งน้ำชี อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลังก่อนหน้านี้ เขาเชื่อว่าโครงสร้างเขื่อนจะช่วยแก้ปัญหาความแห้งแล้งและน้ำท่วมได้

เมื่อถามว่า ชาวบ้านพยายามแก้ไขด้วยตัวเองเบื้องต้นอย่างไร ได้รับคำตอบว่า พยายามประสานขอให้ชลประทานผันน้ำ มาช่วยในฤดูแล้ง และ ระบายน้ำที่ท่วมขังนาข้าวในฤดูฝน แต่ไม่ได้รับการแก้ไข พวกเขาจึงนิยามน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่แห่งนี้ว่า “น้ำมีเจ้าของ” ซึ่งเจ้าของน้ำที่พวกเขาสื่อถึง มีนัยยะถึงความเหลื่อมล้ำการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ “ประชาชนธรรมดาไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรมอีกทั้งยังถูกเอาเปรียบ ด้วยการผลักพื้นที่การเกษตรหลายพันไร่ให้กลายเป็นจุดรับน้ำเมื่อมวลน้ำมีปริมาณมากเกินไปด้วย” หนึ่งในชาวบ้านทิ้งท้าย

เมื่อดูข้อมูลอย่างละเอียดพบว่า โครงการนี้ สร้างเขื่อน บริเวณแม่น้ำชี และ แม่น้ำมูล มีทั้งหมด 14 ตัว และยังพบว่า ไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เนื่องจาก พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เพิ่งบังคับใช้ปี พ.ศ.2535 หลังโครงการอนุมัติ 3 ปี

ผลวิจัย POST-EIA สะท้อนอะไร?
เมื่อไม่มี EIA ทำให้ต้องศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายหลังการก่อสร้าง หรือที่เรียกว่า Post-EIA ขั้นตอนนี้นักวิชาการ ม.เกษตร และม.มหาสารคาม ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ชาวบ้าน นำภาพจากแผนที่ดาวเทียม ก่อนและหลังสร้างเขื่อนมาเปรียบเทียบ ผลการศึกษา พบว่า การสร้างเขื่อนทำให้เกิดผลกระทบน้ำท่วมนานกว่าความเป็นจริง โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ครอบคลุม 4 จังหวัด 19 อำเภอ
ไม่ใช่แค่น้ำท่วมน้ำแล้ง แต่เชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงทางอาหารและระบบนิเวศด้วย
“….ถ้าเราลงไปลึก ๆ ในเรื่องของระบบนิเวศเกี่ยวกับเรื่องของพันธุ์ปลาหรืออะไรต่าง ๆ เรายิ่งจะเห็นว่ามันเกิดผลกระทบมาก มากกับเรื่องของแหล่งอาหาร มากกับเรื่องของชนิดพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูล ในแม่น้ำชี และสัตว์ต่าง ๆ เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้ว ของพวกนี้มันไหลไปเป็นระบบ แต่พอมีเขื่อนไปกั้น มันก็ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร เพราะพอระบบนิเวศตรงนี้มันได้รับผลกระทบ เช่น กรณีเกิดน้ำท่วมเป็นระยะเวลานานขึ้น มันทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป พืชผักบางครั้งมันมีขีดจำกัดในความอดทนต่อสภาพน้ำท่วม พืชบางชนิดผักบางอย่าง หรือแม้กระทั่งสัตว์เล็กสัตว์น้อย ที่อยู่ในพื้นที่แถบนั้นก็ล้มหายตายจากไปกับความเปลี่ยนแปลงสภาพเชิงนิเวศ” นิรันดร คำนุ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สรุปข้อเท็จจริงจากผลการศึกษาผลกระทบเขื่อน 3 แห่ง ในแม่น้ำชี

เช่นเดียวกับ ดร.กิตติชัย ดวงมาลย์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่า การศึกษา Post-EIA ของกรมชลประทาน พบผลกระทบภายหลังการก่อสร้างเขื่อน คือทำให้เกิดน้ำท่วมในระยะเวลาที่นานขึ้น อีกทั้งยังพบความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสัตว์ป่า ส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลง ของพื้นที่ป่าบุ่ง ป่าทาม ดั้งเดิมตามสภาพภูมิประเทศ และความสมบูรณ์แร่ธาตุ ที่อยู่ภายในขอบเขตน้ำท่วมซึ่งอาจกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ทำให้สัตว์ชนิดนั้น ๆ ต้องสูญหายไปจนหมด โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2543-2547 พบกลุ่มสัตว์ป่าที่อาจได้รับอันตรายจากการที่น้ำท่วมที่อยู่อาศัย และแหล่งหากิน ทำให้สัตว์ป่าประเภทสัตว์บกสูญเสียแหล่งอาศัย และแหล่งหากิน เช่นเดียวกันกับ ผลกระทบต่อสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดที่อาศัยในระบบนิเวศด้วย

ผลการศึกษา Post-EIA นำไปสู่ขั้นตอนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน
ตัวแทนกรมชลประทาน ระบุว่ามาตรการการชดเชยผลกระทบ อ้างอิงจากการประเมิน การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมาใช้ประกอบ โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วม ในกระบวนการศึกษาและประเมินมูลค่าการสูญเสียโอกาส จากรายได้ในการทำนา และการใช้ประโยชน์จากป่าบุ่ง ป่าทาม รวมถึงป่าชุมชน เบื้องต้น กรมชลประทานได้สรุปมูลค่าการชดเชยเยียวยา ความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมนาข้าว ในอัตรารวมไร่ละ 7,000 บาท ซึ่งขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบภาพแผนที่ดาวเทียมพื้นที่ถูกน้ำท่วมกับโฉนดที่ดินของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจริง และหากแล้วเสร็จจะมีการนำเรื่องเสนอที่ประชุมเพื่อดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านต่อไป…