วงพูดคุย World Café “แม่สาย ยังไม่สาย ถ้าจะสร้างเมืองให้พร้อมรับมือภัยพิบัติ” ครั้งที่ 1 ณ เทศบาลตำบลแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้จบลงไปแล้ว โดยเป็นการพูดคุยระหว่างนักวิชาการด้านภัยพิบัติด้านน้ำ ภัยพิบัติด้านฝุ่น และภัยพิบัติด้านธรณีพิบัติ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลแม่สาย, เทศบาลตำบลเวียงพางคำ, เทศบาลตำบลห้วยไคร้, เทศบาลตำบลแม่สายมิตรภาพ,องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไคร้, องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะช้าง, องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งผา, องค์การบริหารส่วนตำบลศรีเมืองชุม, องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านด้าย, และ องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงาม

แม้จะเป็นวงพูดคุยเล็กๆ แต่ก็ทำให้เกิดจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็น “น้ำท่วม” “น้ำหลากข้ามพรมแดน” “แผ่นดินไหว” “ดินสไลด์-ดินถล่ม-หินถล่ม” และ “ฝุ่นข้ามพรมแดน”
น้ำท่วมข้ามพรมแดน ต้องเร่งผลักดันติดตั้งเครื่องมือในประเทศเมียนมา
การพูดคุยที่แบ่งกันเป็นกลุ่มเล็กๆ 3 กลุ่ม แบ่งเป็นภัยพิบัติด้านน้ำ มีนายพีรพงศ์ เลิศวัฒนารักษ์ นักวิเคราะห์ข้อมูล ชำนาญการพิเศษงานวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) หรือ สสน. เป็นผู้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอำเภอแม่สาย โดยได้เริ่มให้ข้อมูลของ สสน. ทำหน้าที่เป็นคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ที่มีการนำข้อมูลจากหน่วยงานทั่วประเทศ 52 แห่ง มาศึกษาวิเคราะห์และวางแผนพัฒนาการจัดการน้ำ
แบ่งสาเหตุของน้ำท่วม
- ภาวะโลกร้อน
- แก๊สเรือนกระจก
- ปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา
- น้ำที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน
ทำให้เกิดผลกระทบ
- ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดู
- ทำให้เกิดฝนตกหนักในรอบ 30 ปี ในปี 2526 และ ปี 2525 ส่วนฝนที่ตกรุนแรงที่สุดในประเทศไทยคือ ปี 2547
ปริมาณการใช้น้ำ
- ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 5 ของโลก
- อเมริกา อยู่ในอันดับที่ 1 ของโลก
จะเห็นได้ว่าข้อมูลดังกล่าวอนาคตจะมีการใช้น้ำมากกว่าปัจจุบัน ดังนั้นหากน้ำอยู่ในระดับที่น้อยลงทุกปี จะส่งผลให้เกิดปัญหาให้อนาคตมีน้ำไม่พอใช้ต่อปริมาณความต้องการ ดังนั้นการสร้างเทคโนโลยีการเตือนภัยจึงมีประโยชน์ต่อการพยากรณ์ และรู้ถึงปริมาณฝนที่ตกในประเทศต่างๆ ที่ปริมาณฝนมีผลกระทบต่อประเทศไทย อย่างประเทศลาวที่ได้ให้ความร่วมมืออย่างดีที่ให้มีการติดตั้งเครื่องมือเรดาร์ แต่ทางฝั่งประเทศเมียนมา ที่มีพรมแดนติดกับอำเภอแม่สาย และยังมีแม่น้ำสายที่มีต้นทางน้ำมาจากเมียนมาสู่อำเภอแม่สาย ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ให้ความร่วมมือในการนำเครื่องมือไปติดตั้ง แต่ สสน. ก็ได้พยายามที่สร้างเครื่องมือเพื่อรับรู้ข้อมูลปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่ ทั้งการทำแบบภาพจำลองพื้นที่ และภาพจำลองทางน้ำ หากเกิดน้ำหลากอย่างฉับพลัน เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาต่อยอด เพราะอำเภอแม่สายถือได้ว่าเป็นเขตเศรษฐกิจ และการเกษตร ที่จะต้องเร่งดำเนินการและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
- ต้องการมีการประชุมร่วมกับฝั่งประเทศลาว และประเทศเมียนมาในเรื่องของน้ำท่วม
- พยายามขอความร่วมมือให้ประเทศเมียนมาติดตั้งเครื่องมือการเตือนภัยน้ำในประเทศเมียนมา เนื่องจากประเทศลาวให้ความร่วมมือกับประเทศไทยในเรื่องนี้แล้ว
- พยายามมีการพูดคุยเจรจากับประเทศเมียนมาให้มากขึ้น
ทั้งนี้ในระหว่างที่ยังไม่สามารถเข้าไปติดตั้งเครื่องมือแจ้งเตือนน้ำได้ ประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่สาย และเจ้าหน้าที่ จะสามารถวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่สามารถเจข้าถึงได้ง่าย ที่เว็บไซต์ www.thaiwater.net ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ได้
“สิ่งสำคัญของการแก้ปัญหาน้ำข้ามพรมแดน คือการที่หน่วยงานทั้งสองประเทศต้องมีการเจรจาให้ได้ เพราะในอนาคตคาดว่าน้ำจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น หากมีระบบเตือนภัยก็จะทำให้ทั้งสองประเทศสามารถวางแผนรับมือกับน้ำท่วมได้”
ลดการเผา ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ในอำเภอแม่สาย
ส่วนภัยพิบัติด้านฝุ่นและมลพิษทางอากาศ เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวในอำเภอแม่สาย นางสาวปิยนุช ทรวงคำ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 กรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ให้ข้อมูลและภาพรวมของสภาพฝุ่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ระบุว่า จุดกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 ในอำเภอแม่สาย มาจาก 3 ส่วนหลักๆ คือ การเผาขยะ ซึ่งมาจากในประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนใหญ่ซึ่งลมเป็นตัวพัดฝุ่นควันเข้ามาภายในประเทศไทย , การเผาไหม้ป่า หรืออัคคีภัย และ การเผาพืชทางการเกษตร เช่น ฝางข้าว ข้าวโพด
โดยมองว่า ต้นตอจริงๆของฝุ่นในอำเภอแม่สาย คือข้าวโพดที่มีปริมาณที่เยอะ ดังนั้นต้องลดการเผาข้าวโพด หรือเผาสิ่งต่างๆ จะทำให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลงมากถึง 70% โดยการเผาเกิดจากบริษัทแห่งหนึ่งที่มีการให้ประเทศเมียนมาปลูกพืชการเกษตรตามที่ต้องการจำนวนมาก และส่วนใหญ่ในช่วงก่อนและหลังเก็บเกี่ยวก็จะใช้วิธีการเผา จึงทำให้เกิดฝุ่นควันลอยเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าปกติ ปกติค่าฝุ่นที่อยู่ในบรรยากาศไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าเกินกว่านี้จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น มีการเกิดกรณีที่เด็กอนุบาลมีเลือดกำเดาไหลออกมาเนื่องจากมีการสูดดม PM 2.5 เข้าไปร่างกายและเด็กก็ยังมีภูมิต้านทานที่ไม่แข็งแรงมากเหมือนผู้ใหญ่ทำให้มีเลือดกำเดาไหลมา และผู้ที่น่าเป็นห่วงอีกวัยคือคนแก่ซึ่งร่างกายอาจจะมีภูมิต้านทานที่ไม่เพียงพอเช่นกัน ดังนั้นในการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ คือการใช้เครื่องฟอกอากาศติดตั้งตามบ้านเรือน แต่ก็มีปัญหาโดยส่วนใหญ่คือการที่บ้านเรือนแต่ละที่มีโครงสร้างที่ไม่เหมือนกัน และถึงแม้จะใช้เครื่องฟอกอากาศก็ทำให้ไม่เกิดประโยชน์เพราะโครงสร้างบ้านไม่ได้ปิดทึบมากพอ จึงทำให้อากาศที่มีฝุ่นเล็ดลอดเข้ามาและเครื่องฟอกอากาศก็จะทำการฟอกอากาศไม่ดีพอ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการป้องกันตัวเองด้วยการการสวมใส่หน้ากากอนามัย N95 ที่มีมาตรฐาน,การป้องกันฝุ่น PM 2.5 โดยการสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น N 95 ,การรักษาสุขภาพการป้องกันมลพิษเข้าสู่ร่างกาย
“สิ่งสำคัญคือต้องการออกกฎ หรือข้อบังคับห้ามพื้นที่การเกษตรเผาในช่วงดังกล่าว และต้องมีการเจรจาหรือพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านให้ชัดเจน หากลดการเผาได้ ปัญหาฝุ่นก็จะลดลง”
นอกจากนี้ยังมีนายกัมปนาท ดีอุดมจันทร์ หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ (GISTDA) ที่ได้พูดถึงภาพรวมของการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการวิเคราะห์ภาพรวมของภัยพิบัติ ระบุว่า พื้นที่แม่สาย เป็นพื้นที่ที่เกิดฝุ่นควันและมลพิษข้ามพรมแดน และในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาจิสด้าได้มีการใช้ดาวเทียมตรวจจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และมีการนำมาวิเคราะห์การเกิดจุดความร้อน เพื่อส่งข้อมูลให้กับพื้นที่ในการรับมือไฟป่า หรือหมอกควัน โดยการโคจรของดาวเทียมจะมีการตรวจสอบพื้นที่ 4 ช่วงเวลา ที่จะทำให้เกิดรายละเอียดของภาพชัดเจน ซึ่งจะสามารถตรวจวัดได้ทั้งเปลวไฟ และความร้อนที่ยังคุกรุ่นและไฟป่าที่ไหม้อย่างช้าๆ โดยไม่มีเปลวไฟ ที่มีขนาดตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร

ขณะที่จิสด้า ยังใช้ดาวเทียมสำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ โดยการนำภาพถ่ายมาวางแผนวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องว่ามีการขยายวงกว้างมากน้อยแค่ไหน และยังเป็นข้อมูลสถิติของการเกิดน้ำท่วมในแต่ละครั้ง โดยข้อมูลดังกล่าวจะเป็นสถิติในการวิเคราะห์ของสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อที่จะได้มีการวางแผนรับมือ
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเทคโนยีมีความจำเป็นในการที่จะช่วยจัดการและรับมือกับภัยพิบัติในพื้นที่ได้
ควรมีแผนที่ชุมชนเสี่ยงภัย หากเกิดธรณีพิบัติ
ขณะที่ธรณีพิบัติ ทั้งแผ่นดินไหว – ดินสไลด์-ดินถล่ม มีนายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรี กรมทรัพยากรธรณี เป็นผู้ให้ความรู้ว่า พื้นที่แม่สายอยู่ในจุดที่มี 4 รอยเลื่อนที่ทรงพลังคือ รอยเลื่อนเม็งซิง ประเทศจีน ,รอยเลื่อนน้ำมา ประเทศเมียนมา ,รอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย และรอยเลื่อนแม่อิง จ.เชียงราย จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ แม้อาจจะไม่ได้บ่อยมาก แต่ในพื้นที่โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จะต้องมีการเตรียมรับมือกับแผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น
· กำหนดเส้นทางปลอดภัยเพื่อการหนีออกมาอยู่ในพื้นที่โล่งมากที่สุด การเตรียมอาหารให้พร้อม
- การออกมาอยู่ในบริเวณพื้นที่โล่งมากที่สุด
- การเตรียมอาหารให้พร้อม
- สร้างอาคารบ้านเรือนให้มีความแข็งแรง และตรงตามกฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันการที่บ้านเรือนพังทลาย และทางภาครัฐไม่มีเงินชดเชยที่มากพอ
- การทำประกันภัยบ้านในเรื่องของแผ่นดินไหว
- ต้องมีกฎหมายในการปลูกอาคารให้รองรับแผ่นดินไหว
ขณะที่ดินโคลนถล่ม – หินถล่ม ยังเป็นจุดเสี่ยงเพราะเป็นพื้นที่ติดกับบริเวณดอยและยังเสี่ยงกับเรื่องน้ำท่วมกับน้ำป่าไหลหลากด้วย นั่นก็เพราะพื้นที่เขาเหล่านี้เป็นลักษณะของหินแกรนิตที่เปราะง่าย หากฝนตกติดต่อกัน 24 ชั่วโมงและเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดการสไลด์ของหน้าดิน

นายสุวิทย์ ระบุว่า การรับมือที่จะต้องเร่งทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อลดความสูญเสียและความเสียหาย เพราะภัยพิบัตินี้เราไม่สามารถหนีได้ แต่เราเตรียมรับมือได้ด้วยการ
- การจัดทำแผ่นที่เสี่ยงภัยในทุกๆชุมชน เพื่อระบุพิกัดอันตราย เพื่อไม่อนุญาตให้สร้างสิ่งปลูกสร้าง หรือที่อยู่อาศัย
- หาพื้นที่ในการหลบภัยที่ปลอดภัยที่สุดของชุมชน
- ทำการประเมินผลพื้นที่เสี่ยงภัย กับตรวจจับปริมาณน้ำฝนของหน่วยงาน
- ซักซ้อมการป้องกันในพื้นที่เสี่ยง
- ทำระบบการเเจ้งเตือน
ส.ส.ในพื้นที่ มีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายแก้ปัญหา
ในการพูดคุยครั้งนี้ ยังมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ได้เข้าร่วมรับเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและผลักดันนโยบาย โดยมีนายรชฎ อึ้งอภินันท์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงราย พรรคไทยสร้างไทย และนายพีรเดช คำสมุทร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ปัญของน้ำ ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำท่วม แต่ยังมีเรื่องของทางฝั่งเมียนมามีการทำโครงสร้างเพื่อป้องกันตลิ่งตลอดแนวแม่น้ำสาย ในขณะที่ทางฝั่งประเทศไทยไม่สามารถทำได้โดยมีเหตุผลของสนธิสัญญา ดังนั้นเมื่อน้ำหลากมาอย่างรวดเร็วจึงทำให้เกิดการกัดเซาะพื้นที่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการทิ้งขยะจากฝั่งเมียนมา โดยที่ไม่มีกระบวนการจัดการน้ำ ทำให้ขยะทั้งหมดลอยเข้ามาทางฝั่งไทย

โดยมองว่าจะต้องมีการถ่ายโอนอำนาจ และงบประมาณมาให้กับทางท้องถิ่น เพื่อดำเนินการแก้ปัญหา หรือการสร้างประตูระบายน้ำให้แข็งแรงมั่นคง รวมถึงระบบการจัดการขยะ ที่ปัจจุบันงบประมาณไม่เพียงพอ เพราะปริมาณขยะที่ลอยเข้ามาในประเทศไทยเกิดขึ้นทุกวัน
สาเหตุหลักของการแก้ปัญหาต้องใช้ขั้นตอนที่จะต้องเป็นหน้าที่ของสภา รวมถึงส่นกลางการบริหารจะต้องสร้างบทบาทความสัมพันธ์ให้เกิดความไว้วางใจนี้ เพื่อทำให้การบริหารจัดการน้ำจังหวัดเชียงรายมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้จะต้องถ่ายโอนอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ทั่วถึง ทำให้ไม่สามารถผลักดันหรือดำเนินการนโยบายต่างๆ ได้ไม่เต็มที่
ส่วนในเรื่องของฝุ่นควันข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นปัญหาหลักของอำเภอแม่สาย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ทั้งสองคนมองว่า ในขณะที่เรายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่เราควรเน้นในเรื่องของการป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วย ซึ่งจากที่ทราบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลายแห่งไม่มีเครื่องฟอกอากาศ หรือบางพื้นที่ตัวอาคารไม่มีคุณภาพและอาคารเก่าทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องฟอกอากาศเข้าไปช่วยได้ จึงต้องวางแผนกันต่อไป
รวมถึงหน้ากากอนามัย ชาวบ้านและเด็กเล็กไม่สามารถที่จะซื้อหน้ากากอนามัยที่ช่วยกันฝุ่น PM2.5 ได้ ทำให้ชาวบ้านต้องสูดดมฝุ่นต่อไปและรายได้ไม่เพียงพอต่อการซื้อหน้ากากอนามัย N95 เนื่องจากมีราคาชิ้นละกว่า 80 บาท เป็นราคา 1 ใน 3 ของรายได้ต่อวัน ในผลระยะยาว 40-50 ปีกว่าจะเป็นมะเร็ง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคมะเร็งในจังหวัดเชียงรายเพิ่มขึ้น
ขณะที่การแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจ มองว่าหากเรามีตลาดรองรับ ก็จะทำให้คนบนดอยมีทางเลือกในการปลูกพืชมีมูลค่าทางการตลาด นอกจากข้าวโพด และจะต้องออกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเอกสารสิทธิที่ดิน โดยมองว่า สิ่งแวดล้อม สามารถผ่อนปรนด้านกฎหมายบางอย่างเพื่อให้การค้าการลงทุน ที่จะทำให้เราสามารถซื้อพืชจากชายแดนได้โดยมีข้อกำหนดต้องเป็นพืชที่เกิดป่าเพิ่ม ซึ่งจะช่วยลดการเผาพื้นที่เกษตร































