ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปี 2563 การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 เป็นภัยพิบัติที่สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วโลก มากยิ่งกว่าการเกิดสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อปี 2547 ซึ่งคร่าชีวิตคนหลายแสนคน การระบาดของโควิด-19 จนถึงขณะนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก ไปแล้วเกือบแตะ 2 ล้านคน และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แม้ประชาคมโลกจะร่วมมือกันอย่างสุดความสามารถ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดในครั้งนี้
ขณะที่เรากำลังวางแผนรับมือเพื่อเผชิญกับภัยโรคระบาด ภัยใกล้ตัวอย่างอุบัติเหตุบนท้องถนนกลับถูกหลงลืมไป ทั้งที่ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศมีตัวเลขที่สูงกว่าโควิด-19หลายเท่าตัว หรือจะเป็นเพราะเราชินชากับการเห็นภัยพิบัติบนท้องถนนเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ตื่นเต้นหวือหวา เฉกเช่นภัยจากโรคระบาดที่ “มาใหม่” ถึงขั้นเกิดวลีฮิต #กูติดยังวะ
และเมื่อนำสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน กับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตลอดปี 2563 นับตั้งแต่มีรายงานผู้ติดเชื้อครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 มาเปรียบเทียบ ระหว่าง
- จำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ กับ จำนวนรวมผู้ติดเชื้อ
- จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กับ จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19
- จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ กับจำนวนผู้ที่กำลังรักษา
- จำนวนผู้ทุพพลภาพ กับ ผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19

จากภาพพบว่า ตัวเลขทั้งสองต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะจำนวนผู้ทุพพลภาพ กับ ผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 ที่ส่วนใหญ่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีบ้างที่ยังหลงเหลือผลกระทบทางร่างกาย ต่อระบบทางเดินหายใจและปอด ขณะที่ผู้หายป่วยจากการเกิดอุบัติเหตุหลายรายกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ ส่งผลต่อสภาพจิตใจในระยะยาว
ทีมงาน DXC Online ได้มีโอกาสพูดคุย สอบถามไปยัง ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความตื่นตระหนก การเห็นความสำคัญของโรคระบาด และการสูญเสียหลังพวงมาลัย จะมีคำถามอะไรบ้าง ไปดูกัน
“ถาม : อาจารย์มีความเห็นในเรื่องของสัดส่วนอุบัติเหตุบนท้องถนน กับสถานการณ์โรคโควิด-19 อย่างไร”
ตอบ : เราต้องแยกเป็นประเด็น ภาพรวมก็คือ ณ ตอนนี้คนที่ติดเชื้อโควิดแล้วมีอยู่ประมาณ 90 ล้านคน ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1.93 ล้านคน ขณะที่รายงานขององค์การอนามัยโลกใน 1 ปี จะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุอุบัติเหตุทางท้องถนนประมาณ 1.35 ล้านคน ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ประมาณ 50 ล้านคน ทีนี้ตัวเลขจากการสำรวจปี 2562 อ้างอิงจากสำนักงานแผนและนโยบายการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่ที่ 19,904 คน ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ
ถ้าเรานำอัตราส่วนมาเทียบจะเห็นภาพชัดขึ้น คือเอา 19,904 คูณ 100 หารด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนทั้งโลก ผลปรากฏว่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.5 ถือว่าค่อนข้างเยอะ ขณะที่โควิดเราเอาจำนวนผู้เสียชีวิตในไทยที่ตัวเลข 67 คน คูณด้วย 100 หารด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งโลกคือ 1.93 ล้านคน มันอยู่ที่ 0.003% เท่านั้นเอง มันฟ้องให้เห็นมาตรการในการบริหารจัดการเรื่องของสาธารณสุขของไทย ซึ่งถือว่าค่อนข้างดีมากในระดับโลกเลย ปัญหาหลักคืออะไร มันมีอยู่ 5 ปัจจัยหลัก
หนึ่ง เรื่องของสภาพท้องถนน ก็คือความขรุขระของท้องถนน การที่เรามีการทำท้องถนนมีการขุดถนนอยู่ตลอดเวลา หรือว่าในบางแห่งที่มีหลุมมีบ่อที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุง่าย ตัวนี้ก็เป็นตัวหนึ่งที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายนี่คือเรื่องที่หนึ่ง
เสาหลักที่ 2 ก็คือเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เช่น มีเรื่องของไฟเขียวไฟแดง สัญญาณจราจรนะครับ ป้ายห้ามเลี้ยว ป้ายที่บอกทางของสัญญาณจราจร หรือการบริหารงานในภาพรวมของในภาครัฐ มันมีประสิทธิภาพไหม อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ
เสาหลักที่ 3 ก็คือในเรื่องของความปลอดภัยในยานพาหนะ เช่น การดูแลรักษา การบำรุงรักษาของยานพาหนะเป็นอย่างไร บำรุงรักษายานพาหนะดีไหม มีการตรวจเช็คคันเร่ง เบรก น้ำมันเบรกเป็นประจำหรือเปล่า ก็คือเรื่องของความปลอดภัย การตรวจเช็คลมยางรถยนต์ การเปลี่ยนยางรถยนต์เป็นประจำเพื่อไม่ให้เกิดการลื่นเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายโดยเฉพาะช่วงที่มีเวลาฝนตกแบบนี้
เสาหลักที่ 4 ก็คือตัวผู้ขับขี่มีความประมาทไหม เช่น อยู่ในอาการมึนเมาสุรามาหรือเปล่า หรือมีการเสพยาเสพติดมาไหม คือมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนไหมในขณะที่มีการขับรถ หรือว่าขับรถเร็วเกินไปไหมเคารพกฎจราจรไหม อันนี้เป็นปัจจัยของตัวผู้ขับขี่เอง ก็คือเป็นเสาหลักข้อที่ 4
เสาหลักที่ 5 ก็คือการตอบสนองต่ออุบัติเหตุก็คือความเร็วที่มันเกิดขึ้น เช่น หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุแล้วมีการตอบสนองต่ออุบัติเหตุนั้นอย่างไร เช่น มีการลำเลียงคนไปส่งที่โรงพยาบาลได้ทันท่วงทีไหม แบบนี้เป็นต้นนะครับ
ถาม : ที่กล่าวมาคือในมุมมองอุบัติเหตุ แล้วถ้ากลับมามองโควิด จากตัวเลขจริง ๆ อัตราการสูญเสียดูน้อยกว่าเยอะ แต่ทำไมคนถึงตื่นตระหนกกันมากกว่า
ตอบ : เพราะคนคิดว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว พอพูดถึงเรื่องโรคระบาดหลายอย่างเรามีความรู้สึกว่ามันป้องกันไม่ได้ ในขณะที่ถ้าเป็นในเรื่องของการขับขี่มันเกิดความคุ้นชินไปแล้ว คือ อุบัติเหตุมันเกิดขึ้นเป็นประจำก็จริง แต่ว่า Perception ของคน เช่น ถ้าเรามีการสวมใส่หมวกกันน็อกขณะขับขี่มอเตอร์ไซค์ มีการเคารพกฎจราจรอย่างสม่ำเสมอ เราก็น่าจะปลอดภัย มุมมองของผมคิดว่า ส่วนนี้เป็นหนึ่งในความเชื่อของคน
แต่พวกเขาลืมไปว่า มีอีกหลายปัจจัยใน 5 เสาหลักที่ผมพูดถึง คือ
- เสาหลักที่ 1 เรื่องของสภาพท้องถนน เราสามารถที่จะจัดการได้ไหม คำตอบก็คือเราไปจัดการอะไรไม่ได้อยู่แล้ว มันเป็นหน้าที่ของภาครัฐ
- เสาหลักที่ 2 เรื่องของการบริหารจัดการการจราจรบนท้องถนน เราจะจัดการได้ไหม ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะเราก็คงไม่มีอำนาจที่จะไปดูแลเรื่องของสัญญาณจราจรต่างๆ
- เสาหลักที่ 3 คือเรื่องของความปลอดภัยของยานพาหนะ เช่น มีการดูแลตัวรถยนต์มากน้อยแค่ไหน อันนี้เราจัดการได้
- เสาหลักที่ 4 เสาหลักของตัวผู้ขับขี่ เราสามารถควบคุมได้
- เสาหลักที่ 5 อันนี้เราก็จัดการไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของหน่วยกู้ภัย เวลาที่เกิดอุบัติเหตุ
ถาม : อยากให้อาจารย์ฝากเตือนสติทั้งเรื่องของโควิด-19 และความปลอดภัยบนท้องถนน
ตอบ : ถ้าดูจากตัวเลขมันฟ้องชัดเลยว่าปัญหาที่แท้จริงที่กระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของเรา เป็นเรื่องของอุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนน ตัวเลขของประเทศไทยเสียชีวิตบนท้องถนนอันดับต้น ๆ ของโลก ขณะที่โควิดเรารั้งท้าย ไม่ได้เสียชีวิตด้วยโควิดสูงขนาดนั้น เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่เราเอาจริงเอาจังในเรื่องของมาตรการทางสาธารณสุข และการรักษาระยะห่างทางสังคม การหมั่นล้างมือเป็นประจำด้วยแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่จะเป็นตัวแพร่เชื้อและตัวกระจายเชื้อ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงไว้ใจไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าความร้ายแรงของโควิดระลอก 2 มันจะเป็นอย่างไร
อยากจะฝากพี่น้องประชาชนว่า มันมีปัจจัยที่เราสามารถจัดการได้เอง คือการควบคุมตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ดี หรือว่าการติดเชื้อโควิด-19 ก็ดี มันมีปัจจัยที่เราสามารถจัดการได้ คือตัวเราเอง ไม่ประมาท ถ้าเป็นในเรื่องของโควิดก็คือหมั่นสวมใส่หน้ากากเสมอทุกครั้งที่ออกไปข้างนอก เพราะมีงานวิจัยชี้ชัดแล้วว่ามันช่วยลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริง แล้วก็การหมั่นล้างแอลกอฮอล์ ยกการ์ดให้สูงเสมอ รักษาระยะห่างทางสังคม ไม่ไปในที่ที่เสี่ยงหรือว่าสถานที่อโคจรก็สามารถช่วยได้”
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ธนาคาร ธนาเกียรติภิญโญ เขียน/เรียบเรียง
อ้างอิง : ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน. (2564). รายงานสถิติรับแจ้งผู้ประสบภัยจากรถทั้งประเทศ. สืบค้น 11 มกราคม 2564, จาก http://rvpreport.rvpeservice.com/viewrsc.aspx?report=0464&session=16 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย. (2563). ยอดส่งท้ายปีไทยติด COVID-19 รวมสะสม 6,884 คน. สืบค้น 11 มกราคม 2564, จาก https://news.thaipbs.or.th/content/299782