กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยฤดูร้อนจะยาวต่อเนื่องไปจนถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากอุณหภูมิที่ส่งผลถึงสภาพอากาศ โรคภัย และการดำรงชีวิต อีกปัญหาที่มักเกิดขึ้นในทุกฤดูร้อน คือ “ไฟป่า” ที่หลายหน่วยงานพยายามเร่งแก้ปัญหา วางมาตรการ ไปจนถึงกำหนดนโยบายเพื่อตอบโจทย์ผู้ปฏิบัติงาน
DXC online ได้มีโอกาสพูดคุยกับอีกแรงสำคัญ ผู้อุทิศตนเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการไฟป่า พวกเขาคือเครือข่าย ที่เรียกตัวเอง “นักล่าไฟ”
นักล่าไฟ ! อาสา
“ข้างหน้าเป็นไฟ ข้างหลังเป็นเหว วินาทีนั้นผมเลือกวิ่งฝ่าเข้ากองไฟ ตอนนั้นก็ต้องทางที่รอดที่สุดละครับ”
นี่คือหนึ่งในประสบการณ์เสี่ยงชีวิต ที่ นายสุภะชัย บุญทด หรือ “ผัดไท รักษ์ป่า” นักล่าไฟป่าอาสา เครือข่ายอนุรักษ์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ผู้อุทิศตนให้กับงานดับไฟป่ามานานกว่า 20 ปี เล่าให้ DXC online ฟัง ถึงภารกิจสำคัญเมื่อครั้งต้องเดินเท้าเข้าป่าลึกในพื้นที่อำเภอแม่วงก์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสถานีดับไฟป่า และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อดับไฟ

การดับไฟในป่าต่างจากดับไฟในพื้นที่เมือง ด้วยอุปสรรคของพื้นที่หรือการเดินทาง ทั้งไกลและลาดชัน บางครั้งต้องเดินเท้าต่อเนื่องหลายวัน การจะนำอุปกรณ์ดับไฟขึ้นไปด้วยก็ยาก จึงมีเพียงสิ่งของที่จำเป็น อย่าง น้ำเปล่าขวดลิตร มาม่า ปลากระป๋อง ยา และมีด
“เพราะเราไม่สามารถนำอะไรขึ้นมากกว่านี้ได้ ที่แบกน้ำขึ้นไปเป็น 10 ขวด เพราะแหล่งน้ำบนป่าไม่ได้กินได้ทุกที่ เคยมีทีมกินน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในป่าแล้วติดเชื้อในกระแสเลือด ดังนั้นสำคัญคือไม่ควรกินน้ำจากในป่า ส่วนอาหารการกิน มาม่าถือเป็นสิ่งที่เบาและง่ายที่สุดแต่กินมาม่าดิบนะ ไม่ได้ต้ม เพราะแค่ดับไฟก็เหนื่อยแล้ว”

อุปสรรคนักล่าไฟ
เมื่อเกิดไฟป่า หากมีลมมาก เพียงชั่วโมงเดียวไฟอาจลุกลามเร็วถึง 15 กิโลเมตร การดับไฟป่าจะแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ
ระดับที่ 1-2 ไฟประมาณหัวเข่า จะใช้มีดตัดกิ่งไม้แล้วตบบนไฟ
ระดับ 3 ใช้วิธีทำแนวกันไฟ คือใช้ไฟชนไฟ
ระดับ 4-5 เฝ้าระวัง รอจนไฟดับ สังเกตทิศทางลม เพราะหากไฟอยู่บนเขาจะมีเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก่อนที่ไฟจะมาถึงตัว บางครั้งทำแนวดักหน้าแล้วแต่ไฟแรงมาก ไม่สามารถดับได้ ก็ต้องยอมเสียพื้นที่ส่วนน้อยเพื่อรักษาพื้นที่ส่วนมาก
ภูมิประเทศ ความสูงชันของพื้นที่ สภาพอากาศที่ร้อน และความรกของป่า รวมถึงสัตว์ป่า คืออุปสรรคใหญ่ ต้องรู้พื้นที่ป่า รู้รหัสป่า โดยเฉพาะเสียงของสัตว์ รู้ข้อห้าม เช่น ไม่นอนใกล้แหล่งน้ำนิ่ง หรือขวางทางช้าง เราเคยแม้กระทั่งโดนช้างป่าไล่ โชคดีที่มีพรานป่าเก่าเข้ามาเป็นจิตอาสาจึงไม่ค่อยได้รับอันตราย มีก็แต่แผลจากไฟ รองเท้ากัด และผลจากควันที่ทำให้ล้มป่วยหลายครั้ง หัวหน้าชุดจึงต้องมีความรู้พื้นฐานต่าง ๆ ทั้งการปฐมพยาบาล การดูแผนที่ การเดินป่าและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องตัดสินใจให้ดี เพราะทุกนาทีคือชีวิตของทีม

เหตุการณ์ไม่คาดคิด เมื่อชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย
“เมื่อปี 2563 เราแบ่งทีมดับไฟที่แม่วงก์ร่วมกับจิตอาสาชาวบ้านในพื้นที่ โดยทำแนวกันไฟร่วมกัน เกิดความผิดพลาดด้านการสื่อสาร คือขณะที่ชาวบ้านขึ้นเขาไปทำแนวกันไฟไม่ให้ไหม้มาอีกฝั่ง ทีมตรงกลางจุดไฟโดยไม่ได้ประสานทีมข้างบน ไฟมันโหมขึ้นไปล้อมคนที่อยู่บนเขา ก็ติดอยู่ในเกาะของไฟ ตอนนั้นเราเป็นอาสาสมัครที่ยังไม่ได้สังกัดในหน่วย เข้าไปช่วยพร้อมกับเจ้าหน้าที่ ฝ่าวงล้อมไฟเข้าไป ปรากฏว่าโดนไฟลวกขาทั้งสองข้าง อีกคนโดนลวกมือ อีกคนสำลักควัน แต่ครั้งนั้นโชคดีที่เราช่วยได้ทั้งหมดคือ 11 คน ถ้าไม่ขึ้นไปพวกเขาอาจจะโดนไฟคลอก”
อีกครั้งตอนเป็นทีมล่าไฟป่าต้องขึ้นไปดับไฟในเขตอุทยานฯ กัน 3 คน ขณะกำลังดับไฟลมเกิดเปลี่ยนทิศ จึงต้องวิ่งออกมาจากจุดนั้น แต่กลับวิ่งไปเจอเหว
“ข้างหน้าเป็นไฟ ข้างหลังเป็นเหว เราก็ต้องเลือกที่คิดว่ารอดที่สุด คงไม่มีใครวิ่งลงเหว เลยฝ่าไฟออกมา โชคดีไม่มีใครเป็นอะไร”
อีกเหตุการณ์คือเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ทีมเดินเข้าไปสามวันแล้ว ไปเจอไฟจึงต้องอยู่ต่ออีกสามวัน ไม่มีเครื่องวิทยุ ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น มีก็แต่แผนที่ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด สมมติมีผู้ประสบเหตุ เราต้องค่อย ๆ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังเซฟโซน หรือจุดปลอดภัยให้ได้ ถ้าขาหักแขนหักเคลื่อนย้ายไม่ได้ต้องทำลานจอด ฮ. นี่ในทางทฤษฎี

ด้วยใจและอุดมการณ์
“เราเคยเหนื่อยมาก ๆ ดับทางนี้เสร็จ ทางนู้นไหม้ต่อ เราก็เหนื่อย แต่เหนื่อยมากแค่พักก็หาย ถามว่าได้อะไร? ตอบได้เลยว่า ความรู้สึก ไม่ใช่ใครก็ทำได้ คนสิบกว่าคนที่สามารถดูแลพื้นที่ป่าได้แสนไร่ แม้จะไม่ได้รับอะไรตอบแทน แต่ภารกิจจบนั่นคือรางวัล คือความสุข…ถ้าทุกคนทำเพราะประโยชน์ของตัวเองก็คงไม่มีใครเสียสละ
เราคือนักดับไฟป่า ใช่ผู้พิทักษ์ ไม่ถือปืนห้ามใคร แต่เราใช้ใจ หลังจบภารกิจไฟป่า เราช่วยชาวบ้านในภัยต่าง ๆ อย่างน้ำท่วม โควิด เราก็ไปช่วย สุดท้ายเราได้ใจ”
นี่คืออีกบทสัมภาษณ์น่าประทับใจ จาก ผัดไท รักษ์ป่า นักล่าไฟอาสา
DXC online ขอขอบคุณเรื่องเล่า ประสบการณ์ แรงกายแรงใจของเจ้าหน้าที่และอาสาทุกคน ที่ทุ่มเทเสียสละ ไม่เพียงเพื่อผืนป่า สัตว์น้อยใหญ่ แต่เพื่อความปลอดภัยของเราทุกคน