หาที่ให้น้ำอยู่…ทำทางให้น้ำไหล…เก็บน้ำใต้ดินไว้ใช้
นี่คือปรัชญาบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดปี ด้วยระบบ ‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นโต้โผสำคัญผลักดันโครงการฯ ผ่าน ‘หลักสูตรชลกร’ พัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เชี่ยวชาญเรื่องบริหารจัดการน้ำปัจจุบันนำร่องแล้วในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 9 แห่ง ได้แก่ จ.สระแก้ว ยโสธร มหาสารคาม ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สุโขทัย พังงา และสงขลา
“หลักสูตรชลกรสอนเรื่องการหาที่ให้น้ำอยู่ ทำทางให้น้ำไหล กักเก็บน้ำไว้ใช้ และเสริมความรู้เรื่องนวัตกรรม ซึ่งเราจะค่อย ๆ สร้างองค์ความรู้นี้ให้อยู่ในระดับชาติ และสร้างชาติไปด้วยกัน” อ.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศ ภูมิศาสตร์ และนวัตกรรม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะผู้ร่วมพัฒนาโครงการฯ อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น
แล้วเสริมว่า การทำธนาคารน้ำใต้ดินมีอุปสรรคบ้าง โดยหากเจาะจงในเชิงพื้นที่ จะพบว่าแต่ละพื้นที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์แตกต่างกัน เราไม่สามารถตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทั้งประเทศใส่ได้ ดังนั้น ต้องศึกษาข้อมูลและตัดเสื้อให้ตรงตามความต้องการหรือตอบโจทย์การบริหารจัดการน้ำของพื้นที่
“อุปสรรคแรกจึงเป็นการเข้าถึงข้อมูลและการประเมินผลจากข้อมูลว่าควรทำอะไร ซึ่งต้องอาศัยผู้รอบรู้และความร่วมมือจากในพื้นที่ด้วย”
อ.ปริเวท ยกตัวอย่าง จ.พังงา ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพบว่า มีลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขา สภาพดินทราย แม้จะมีน้ำเพียงพอ แต่คุณภาพอาจไม่ดี โจทย์หลักจึงไม่ใช่การเก็บกักน้ำ แต่ทำอย่างไรให้สามารถชะลอน้ำและทำให้ไม่ขุ่น หรือขุดลงไปไม่มีสนิมเหล็กเจือปน
ข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินโครงการฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โมเดลดังกล่าวอาจไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อนำไปใช้จริงในชุมชน
อ.ปริเวท ระบุว่า เป็นไปได้ เนื่องจากเมื่อเราเรียนรู้จากตำรา มักนึกว่าตำราจะใช้ได้เลย แต่เมื่อนำไปกระทำจริง กลับไม่เป็นเช่นนั้น ฉะนั้นหลักสูตรชลกรจึงมุ่งให้ลงพื้นที่จริง ทำจริง และได้ประสบการณ์
พร้อมกับเน้นย้ำว่า โครงการนี้แตกต่างจากโครงการขุดสระของรัฐทั่วไป เพราะไม่ใช่งบประมาณของรัฐที่ลงทุนก้อนใหญ่ แล้วได้สระน้ำกลับมา แต่นี่คือการลงทุนในลักษณะของการกักเก็บน้ำ เพื่อให้ได้ความร่วมมือจากชุมชน ต่อไปไม่ต้องหวังว่ารัฐต้องให้เงิน แต่ชุมชนต้องมีองค์ความรู้และทำเองได้ ผ่านการรวมกลุ่มพัฒนาชุมชนของตนเอง
‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ สระแก้ว ตัวอย่างความสำเร็จแก้แล้ง
‘สระแก้ว’ จังหวัดทางภาคตะวันออก ดินมีสภาพเป็นหิน ทำให้เกษตรกรมักเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ต่อมาได้รับการคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่องดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ มีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว เป็นสถาบันที่พัฒนานักชลกรให้มีความเชี่ยวชาญ
อ.ทองอาบ บุญอาจ ผอ.วิทยาลัยเกษตรฯ สระแก้ว บอกเล่าปัญหาในพื้นที่ ในช่วงปกติที่มีฝนตก น้ำจะไหลหลากออกไปจากวิทยาลัย เก็บกักไว้ใช้ประโยชน์ได้บ้าง แต่เมื่อฤดูฝนผ่านพ้นไป กลับไม่มีน้ำเหลืออยู่ จึงมีการนำหลักการ หาที่ให้น้ำอยู่…ทำทางให้น้ำไหล…เก็บน้ำใต้ดินไว้ใช้ มาปรับใช้ ด้วยการสร้างธนาคารน้ำแบบปิด ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ธรรมชาติ โดยขุดหลุมขนาดกว้าง ยาว และลึก อย่างละ 1 เมตร จากนั้นใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น หิน กระเบื้อง ลงไปแทนที่ดิน เพื่อให้น้ำแทรกตัวอยู่ได้ และสร้างธนาคารน้ำแบบเปิด ซึ่งมีประสิทธิภาพในการเติมน้ำเร็วที่สุด แต่ใช้ต้นทุนสูง และปรับขนาดตามสภาพพื้นที่
ด้าน น.ส.ณัฐธิดา ชัยฉลาด นักเรียนหลักสูตรชลกร ระดับชั้น ปวช. วิทยาลัยเกษตรฯ สระแก้ว ระบุว่า โครงการนี้สอนให้เรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำ โดยต้องมีที่ให้น้ำอยู่ เพื่อเพียงพอในฤดูแล้ง หาทางให้น้ำไหล โดยดูทิศทางของน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใต้ดิน ทั้งนี้ จะนำโมเดลนี้ไปปรับใช้ในอาชีพเกษตรกรรมในอนาคต
“ที่บ้านทำเกษตร และมีปัญหาเรื่องน้ำ เราจึงต้องดูว่าในพื้นที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำอะไรบ้าง สมควรจะทำตรงไหน และควรปลูกพืชเกษตรชนิดใดให้ตรงกับฤดูกาล” น.ส.ณัฐธิดา กล่าว
*******
ผมเองในฐานะคนมีโอกาสลงพื้นที่ ได้เห็นจริงทุกกระบวนการ หวังว่า นักชลกรแต่ละรุ่นที่ได้รับฝึกฝนจนเชี่ยวชาญจะเป็นกำลังสำคัญในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริฯ โดยมีธนาคารน้ำใต้ดินเป็นเครื่องมือสำคัญ ตอบโจทย์ แก้ปัญหาภัยแล้ง ภายใต้ความต้องการของชุมชน .