ผลพวงจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ หลายสถานที่ยกเลิกจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิต บางพื้นที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาด จากเดิมที่เคยได้รับบริจาควันละ 1,400-1,800 ยูนิต ปัจจุบันเหลือเพียงวันละ 700 – 900 ยูนิต ส่งผลให้ปริมาณการบริจาคโลหิตลดลงร้อยละ 50 สภากาชาดไทยไม่สามารถจ่ายโลหิตให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 340 แห่ง ได้อย่างเพียงพอ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ จึงประกาศขาดเลือดพร้อม ๆ กัน
และเนื่องจากทั่วโลกยังไม่มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในโลหิตบริจาค การจะทำให้โลหิตทุกยูนิตมีความปลอดภัยจากการติดเชื้อ COVID-19 จึงทำได้เพียงอาศัยการแจ้งข้อมูลที่เป็นจริงของผู้บริจาคโลหิต และการออกมาตรการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไวรัส COVID-19 ทางโลหิต ฉบับที่ 4 ดังนี้
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ หรือเดินทางมาจากพื้นที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 งดบริจาคโลหิตเป็นเวลา 4 สัปดาห์
- ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 งดบริจาคโลหิตเป็นเวลา 4 สัปดาห์
- ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัส COVID-19 นับตั้งแต่ตรวจพบเชื้อ และหายป่วยโดยไม่มีอาการใดๆ หลงเหลืออยู่ งดบริจาคโลหิตเป็นเวลา 4 สัปดาห์
- ภายหลังบริจาคโลหิต หากผู้บริจาคโลหิตได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าติดเชื้อ COVID-19 ให้แจ้งหน่วยงานที่รับบริจาคโลหิตทันที และหากผู้บริจาคโลหิตไม่แน่ใจการได้รับเชื้อโรคดังกล่าว ควรงดการบริจาคโลหิตชั่วคราว
สำหรับความต้องการหมู่โลหิต ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีความต้องการโลหิตทุกกรุ๊ป ตามสัดส่วนพบได้ในประชากรไทย ดังนี้
- กรุ๊ป O พบได้ร้อยละ 38 มีความต้องการ 11,400 ยูนิตต่อเดือน ปัจจุบันมีอยู่ในคลังเพียงร้อยละ 46.72
- กรุ๊ป B พบได้ร้อยละ 34 มีความต้องการ 17,110 ยูนิตต่อเดือน ปัจจุบันมีอยู่ในคลังเพียงร้อยละ 46.46
- กรุ๊ป A พบได้ร้อยละ 21 มีความต้องการ 22,800 ยูนิตต่อเดือน ปัจจุบันมีอยู่ในคลังเพียงร้อยละ 41.94
- กรุ๊ป AB พบได้ร้อยละ 7 มีความต้องการ 5,700 ยูนิตต่อเดือน ปัจจุบันมีอยู่ในคลังเพียงร้อยละ 38.79
จากสัดส่วนดังกล่าวบ่งบอกว่า ผู้ป่วยที่มีหมู่โลหิต O มีความต้องการโลหิตสูงสุด รองลงมาเป็นหมู่โลหิต B และ A และ AB ตามลำดับ และหมู่โลหิตพิเศษ (Rh-negative) ซึ่งจัดเป็นหมู่โลหิตที่หายาก ได้แก่ กรุ๊ป A- ,B-, O- และ AB- โดยจำนวนประชากร 1,000 คน จะมีหมู่โลหิตอาร์เอชลบ (Rh-) 3 คน หรือคิดเป็น 0.3% เท่านั้น

ล่าสุด (18 ม.ค. 64) สภากาชาดไทยยังออกประกาศ ผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาคโลหิต ยังคงสามารถบริจาคได้ตามสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
- หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ 6 แห่ง ได้แก่
- สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค)
- บ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง)
- เดอะมอลล์ บางแค
- เดอะมอลล์ บางกะปิ
- เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน
- ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม
ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่ง ได้แก่
- ภาคฯ จ.ลพบุรี
- ภาคฯ จ.ราชบุรี
- ภาคฯจ.ขอนแก่น
- ภาคฯจ.นครสวรรค์
- ภาคฯ จ.เชียงใหม่
- ภาคฯ จ.ภูเก็ต
- ภาคฯ จ.ชลบุรี
- ภาคฯ จ.นครราชสีมา
- ภาคฯ จ.อุบลราชธานี
- ภาคฯ จ.พิษณุโลก
- ภาคฯ จ.สงขลา
- ภาคฯ จ.นครศรีธรรมราช โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ
โดยผู้บริจาคโลหิตต้องมีการเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต และมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- มีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม ขึ้นไป
- อายุ 17-70 ปี (อายุ 17 ปี มีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ (ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง)
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ 24 ชั่วโมง
- ผ่าตัดใหญ่ เว้น 6 เดือน ผ่าตัดเล็ก เว้น 7 วัน
- ไม่มีอาการท้องเสีย ท้องร่วง 7 วัน ที่ผ่านมา
- งดสูบบุหรี่ ก่อนและหลังการบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง
- สุขภาพสมบูรณ์ทุกประการ ไม่เป็นไข้หวัด หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาแก้อักเสบใดๆ
- รับประทานอาหารมื้อหลักก่อนมาบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่
- ดื่มน้ำ 3-4 แก้ว และเครื่องดื่มเหลวเพิ่ม เช่น น้ำผลไม้ นม น้ำหวาน เพื่อเพิ่มปริมาณ โลหิตในร่างกาย
- จะช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อน เช่น มึนงง อ่อนเพลีย หรือวิงเวียนศีรษะภายหลังบริจาคโลหิต