เปิดศักราชปี 64 เฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 สัปดาห์แรกของปี อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ค่าดัชนีสูง ผู้ว่าฯ ตั้งศูนย์วอร์รูมบัญชาการ ตั้งเป้าลดพื้นที่เผาไหม้ เหลือ 1 ล้านไร่
สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (Particulate Matters :PM2.5) ถูกเฝ้าระวังมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะถือเป็นมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่มักมีจุดเผาไหม้ในพื้นที่ต่าง ๆ
ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุวันที่ 1-9 ม.ค. 2564 พบค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกินค่ามาตรฐาน อยู่ระหว่าง 6-70 ไมโครกรัม/ลบ.ม. (ดัชนีคุณภาพอากาศสูงเกิน 100 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) ยกเว้นบางพื้นที่ใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และ อ.แม่สอด จ.ตาก
อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยฝุ่น โดยเฉพาะใน กทม. และปริมณฑล ถือว่าลดลงจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 42 ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการให้ประชาชนทำงานที่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่การเผาไหม้ในภาคเหนือก็ลดลงด้วย
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ประมาณการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค. 2564 ในช่วงต้นสัปดาห์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะน้อย เพราะลมมีกำลังแรง แต่หลังจากวันที่ 15 ม.ค. 2564 ลมจะมีกำลังอ่อนลง อาจทำให้มีแนวโน้มเกิดการสะสมสูงขึ้น
ทั้งนี้ หากมีมาตรการจำกัดการจราจรและลดการเผาไหม้ เชื่อว่า ฝุ่น PM2.5 จะไม่สูงเกินค่ามาตรฐาน ยกเว้นบางพื้นที่อาจเกินค่ามาตรฐานบ้างเล็กน้อย
“ภาคเหนือ ภาคตะวันเฉียงเหนือ และภาคกลาง อาจเกิดการสะสมของฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม แต่ยังอยู่ในระดับดีมาก-ปานกลาง ยกเว้นในบางพื้นที่จะมีแนวโน้มเกินมาตรฐาน อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ”
รองอธิบดีกรมอนามัย ยังเปิดเผยผลการเฝ้าระวังในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยพบผู้ป่วยจาก PM2.5 แล้ว 38 ราย เข้าพักรักษาตัวในแผนกฉุกเฉิน (ER) 32 ราย และแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) 6 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหอบหืด
ขณะที่ผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมการป้องกันตนเองจาก PM2.5 พบมีผลต่อสุขภาพร้อยละ 48 อันดับ 1 คือ อาการคัดจมูก มีน้ำมูก อันดับ 2 แสบจมูก อันดับ 3 แสบตา คันตา และตาแดง โดยพื้นที่ซึ่งพบผู้มีอาการมากที่สุด ได้แก่ กทม. นนทบุรี และตาก น่าสังเกตว่า กลุ่มที่สะท้อนมีอาการต่าง ๆ นั้น อยู่ในวัยทำงาน อายุ 25-34 ปี (ร้อยละ 38.03) รองลงมา อายุ 35-44 ปี (ร้อยละ 30.12) และผู้มีโรคประจำตัวจะมีอาการมากกว่าผู้ไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งมักมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก และแสบจมูก

‘เชียงใหม่’ ตั้งเป้า ‘ลดพื้นที่เผาไหม้’ เฝ้าระวัง 5 อำเภอ
จากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะเห็นว่า อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงที่สุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่
ไม่เฉพาะพื้นที่ดังกล่าว หากยังต้องเฝ้าระวังพื้นที่อื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ จ.เชียงใหม่ จึง เปิด “ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)” ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง
เป้าหมาย ปี พ.ศ.2564 เปรียบเทียบกับปี พ.ศ.2563 คือ การลดจุดความร้อน (HOTSPOT) เหลือไม่เกิน 17,326 จุด จากเดิม 21,658 จุด และลดพื้นที่เผาไหม้ลงร้อยละ 25 ให้เหลือเพียง 1.03 ล้านไร่ จากเดิม 1.38 ล้านไร่
นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงถึงสาเหตุ อ.แม่แจ่ม มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากการเผาไหม้พื้นที่เกษตรกรรม แต่จากการสอบถามนายอำเภอแม่แจ่ม ทราบว่า เกิดจากการติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) บริเวณริมถนนหน้าที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งเป็นจุดที่มีการจราจรคับคั่ง ทำให้เกิดฝุ่นจากควันท่อไอเสียของรถ

ทั้งนี้ ปี พ.ศ. 2564 จ.เชียงใหม่ ตั้งเป้าหมายลดจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ โดยการบริหารจัดการเชื้อเพลิง นำวัชพืชหรือเศษใบไม้มาเผาตามหลักการที่ถูกต้องของกรมป่าไม้ ด้วยวิธีรอให้แห้งสนิท ก่อนแบ่งกองเผา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“จ.เชียงใหม่ จะให้ความสำคัญกับพื้นที่ระดับหมู่บ้านและตำบล ซึ่งประชาชนและหน่วยงานต้องปรึกษาหารือกันถึงปัญหาในปีที่ผ่านมา เน้นการป้องกัน โดยนำพื้นที่ได้รับความเสียหายในปีที่ผ่านมาเป็นตัวตั้ง จากนั้นกำหนดเป้าหมายต้องลดพื้นที่เผาไหม้ให้ได้ร้อยละ 25 เหลือ 1.03 ล้านไร่ และจุดความร้อน เหลือ 1.7 หมื่นจุด” ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ระบุ
นายเจริญฤทธิ์ ยังระบุถึงนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้นำใบไม้จากป่ามาทำปุ๋ย หลีกเลี่ยงการเผา หากจำเป็นต้องประเมินตนเองและหาเวลาที่เหมาะสม โดยจัดทำในรูปแบบปฏิทินเวลาการเผา อย่างไรก็ตาม พื้นที่ต้องเฝ้าระวังมี 5 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่แจ่ม อ.อมก๋อย อ.ฮอด อ.จอมทอง และ อ.ดอยเต่า
ฝุ่น PM2.5 จะหมดไปก็ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ลดการเผาไหม้ ลดการใช้รถยนต์ และหันมาใช้รถโดยสารสาธารณะหรือรถจักรยาน โดยสร้างถนนที่เอื้อต่อการจราจร ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้.