COP-26 – ในงานประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ หรือ COP-26 ทุกประเทศที่เข้าร่วมจำเป็นจะต้องเสนอ Nationally Determined Contributions หรือ เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งเป้าหมายล่าสุดที่ไทยได้ยื่นไปเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 คือ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 – 25% ภายในปี 2030
เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 ได้มีการประกาศว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2065-2070 เพื่อผลักดันให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’ (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ โดยจะเป็นโมเดลที่จะช่วยขยายเศรษฐกิจไทยให้โตขึ้น พร้อมกับช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจัยหลักของโมเดลนี้คือการผสมผสานของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว คาดว่าโมเดลนี้จะสร้างมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท หรือ 24% ของ GDP ประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า และจะทำให้เกิดการจ้างงาน 16.5 ล้านคน
สิ่งนี้น่าจะเป็นความหวังที่ดีสำหรับภาคเอกชนและภาคประชาชน ที่ต้องการเห็นการผลักดันสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนแบบเป็นรูปธรรม ทางสหราชอานาจักรเองซึ่งเป็นเจ้าภาพของงาน COP26 ปีนี้ก็มีการตั้งเป้าการเพิ่มการจ้างงานในภาคส่วนเศรษฐกิจสีเขียวให้ถึง 2 ล้านคน ภายในปี 2030 จาก 225,000 คนในปัจจุบัน