
รายงาน NDC Synthesis Report ประจำปี 2022 ขององค์การสหประชาชาติระบุว่าหากประเทศต่างๆ ปฏิบัติตามคำมั่นเพื่อรักษาสภาพภูมิอากาศของโลก ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะอยู่ที่ 10.6% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับระดับปริมาณเมื่อปี 2010
โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 43% ภายในปี 2030 เพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ท่ามกลางกำหนดการที่บรรดาผู้นำโลกกำลังจะไปรวมตัวกันที่ Sharm el-Sheikh ในประเทศอียิปต์เพื่อเข้าร่วมการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศ COP27 ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนนับเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น

“ในการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ Glasgow เมื่อปีที่แล้ว ทุกประเทศเห็นชอบร่วมกันว่าจะทบทวนและยกระดับแผนจัดการสิ่งแวดล้อม” Simon Stiell เลขานุการบริหารของการประชุมกล่าวในแถลงการณ์ “แต่ความเป็นจริงที่มีการส่งแผนซึ่งปรับปรุงใหม่หรือจัดทำใหม่เข้ามาเพียง 24 ฉบับนับตั้งแต่การประชุม COP26 ถือว่าน่าผิดหวัง”
ในบรรดาแผนการเหล่านี้มีทั้งจากโบลิเวีย วานูอาตู และยูกันดา รวมถึงประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากอย่างอินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนมากเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าและเผาป่าพรุ โดยอินโดนีเซียให้คำมั่นว่าจะตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 31.89% ภายในปี 2030
ขณะที่แผนการของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกซึ่งมีเป้าหมายที่ไม่เท่าเทียมกันจะทำให้โลกมุ่งสู่การมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 2.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2100

แม้ว่าการคาดการณ์เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10.6% จะดีกว่าการประเมินครั้งก่อนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งรายงานของ UN คาดว่าประเทศต่างๆ กำลังมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 13.7% ภายในปี 2030 แต่ก็ยังนับว่าเป็นความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น