
ใกล้เข้ามาทุกทีกับความหวังที่คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ในต่างประเทศ อย่าง สหรัฐฯ อินโดนีเซีย จีน หรือเวียดนาม เริ่มฉีดกันแล้ว และเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ตรงจากคนที่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 งานนี้ทีม DXC Online ได้ติดต่อพูดคุยกับ คุณแจ่มจันทร์ เพ็งเจริญ หรือป้าแจ่ม วัย 70 ปี คนไทยที่อาศัยอยู่ที่เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มานานถึง 25 ปี (ได้สัญชาติอเมริกันแล้ว) ถึงประสบการณ์ตรง สด ๆ ร้อน ๆ หลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดสแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา
ป้าแจ่ม เล่าว่า ที่สหรัฐอเมริกา คนที่เป็นพลเมืองอเมริกันทุกคนมีสิทธิได้รับวัคซีนฟรี ทางการจะประกาศให้ผู้ที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งผู้ที่มีสิทธิได้รับวัคซีนลำดับแรก เริ่มจากผู้สูงอายุที่อายุระหว่าง 65 – 75 ปี ลดหลั่นลงมาเรื่อย ๆ เนื่องจากถือเป็นกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง ตามมาด้วยกลุ่มคนวัยทำงานที่อาจนำเชื้อไปแพร่ให้กับลูกหลานในบ้าน ส่วนเด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะหอบหืด หรือโรคเกี่ยวกับปอดจะไม่ได้รับสิทธิ เนื่องจากอาจได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของวัคซีน ส่วนบุคลาการทางการแพทย์ไม่ต้องพูดถึง รัฐบาลสหรัฐฯ เค้าให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนโดยไม่ต้องร้องขอหรือลงทะเบียน
หลังลงทะเบียนกรอกประวัติส่วนตัว จะได้รับอีเมลตอบกลับ พร้อมกับ QR Code เพื่อนำไปสแกนยืนยันสิทธิในวันนัดฉีดวัคซีน ป้าแจ่มเล่าว่า กว่าจะลงทะเบียนสำเร็จ ต้องทำ 4-5 รอบ เนื่องจากมีผู้ลงทะเบียนจำนวนมาก และการจัดสรรวัคซีนยังจำกัด โดยรัฐบาลจะจัดสรรอิงตามสัดส่วนประชากรในแต่ละเมือง จนเมื่อลงทะเบียนสำเร็จ ปรากฏว่าได้คิวเมื่อวันศุกร์ที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา

“คนที่อยู่ในเมืองไหน ต้องลงทะเบียนฉีดในเมืองของตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถไปฉีดที่เมืองอื่น หรือรัฐอื่นได้ อย่างในแอลเอมีจุดฉีดวัคซีน 2 จุด อยู่ใกล้จุดไหน เราก็ไปฉีดที่จุดนั้น”
แม้จะได้คิวนัดบ่ายสามโมงห้าสิบนาที แต่ป้าแจ่มและสามี เลือกออกจากบ้านตั้งแต่เที่ยง เดินทางไปยังหน่วยฉีดวัคซีน Dodgers Stadium โดยรถส่วนตัว มีลูกชายเป็นพลขับ จากบ้านไปประมาณ 20 นาทีก็ถึงที่หมาย ภาพที่เห็นคือรถจำนวนมากที่ต่อแถวรอ ไม่มีใครลงจากรถ เพราะมาตรการคือห้ามทุกคนลงจากรถ มีเพียงเจ้าหน้าที่แต่งกายปกติ สวมถุงมือและหน้ากากอนามัยประจำจุด ประมาณ 15 นาที หลังรอคิวรถก็เคลื่อนมาถึงจุดแรก มีเจ้าหน้าที่ขอตรวจใบ Confirmation ที่ปริ้นมา หลังทำการสแกน Qr Code บนกระดาษ พร้อมดูจำนวนผู้ที่มาฉีดในรถ เจ้าหน้าที่จะจัดแจงให้รถเคลื่อนไปยังแถวที่แยกไปตามจำนวนผู้ได้รับการฉีด คือ แถวสำหรับรถที่มีสมาชิกต้องฉีด 2 คน 3 คน ไล่ไปตามจำนวน

หลังต่อแถวเข้าคิวบนรถสักระยะก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ชื่อ-นามสกุล ขั้นตอนการฉีดวัคซีนนอกจากรวดเร็ว ยังสะดวก เพราะป้าแจ่มและสามีไม่จำเป็นต้องลงจากรถ เพียงยื่นแขนออกไปทางหน้าต่างข้างที่นั่งเท่านั้น หลังได้รับวัคซีนจะมีใบ COVID-19 Vaccine Record ให้ (รายละเอียดระบุว่า วัคซีนที่ได้รับเป็นของ Moderna) หลังจากนั้นก็เคลื่อนรถไปจอดพัก ดูอาการ 15 นาที จุดพักจะมีคุณหมอ และรถฉุกเฉินจอดเตรียมการไว้ หากใครมีอาการรุนแรงก็พร้อมที่จะส่งไปรักษาทันที



“ทำไมจึงกล้าฉีด ?” เพราะแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็มีข่าวเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนรุนแรง หลายรายถึงขั้นเสียชีวิต – ป้าแจ่มให้คำตอบว่า “ไม่กลัว เพราะการระบาดน่ากลัวกว่า ยอมฉีดวัคซีน เพราะที่นี่ ถ้าติดอาการไม่หนักต้องรักษาตัวเองที่บ้าน โรงพยาบาลเขาไม่รับเข้ารักษา”
ป้าแจ่มยังเสริมว่า ตลอดเกือบ 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เดินทางมาถึง จนฉีดวัคซีนเสร็จ เจ้าหน้าที่จะไม่มีการซักประวัติเพิ่มเติม หรืออธิบายใด ๆ เกี่ยวกับวัคซีน เนื่องจากในสหรัฐอเมริกาจะมีการส่งข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ผ่านอีเมลของประชาชนมาโดยตลอด เห็นแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะราบรื่นตั้งแต่แรก เพราะตั้งแต่วันแรกที่เปิดหน่วยฉีดวัคซีนจุดนี้ ก็มีข่าวว่าบางคนต้องรอกว่า 5 ชั่วโมง โชคดีวันที่ป้าแจ่มเดินทางไปเป็นการดำเนินงานวันที่สอง จึงมีการแก้ไขและบริหารจัดการใหม่แล้ว
และแม้จะมั่นใจในวัคซีนที่ได้รับ แต่ป้าแจ่มและสามีก็ไม่ลืมที่จะสังเกตอาการตัวเอง วันรุ่งขึ้นพบว่า รู้สึกปวด ๆ ตึง ๆ บ้างที่บริเวณไหล่ขวา จุดที่ฉีดมีรอยแดงเล็ก ๆ แต่ก็ไม่ต่างจากการฉีดวัคซีนทั่วไป ไม่ได้เป็นไข้หรือมีอาการใด ๆ มีบ้างที่สามีรู้สึกปวดหัวเล็กน้อย หนาว แต่ไม่มีไข้
“นี่เพิ่งโดสแรก เห็นเขาบอกว่าโดสที่ 2 ตัวยาจะเข้มข้นกว่า ก็ต้องรอดูว่าจะมีอาการข้างเคียงหรือเปล่า”
สำหรับเข็มที่ 2 เจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้ไปฉีดในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยต้องทำการลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง และลงรายละเอียดว่าเป็นการฉีดเข็มที่ 2 คล้ายการ Follow up สำหรับป้าแจ่มแล้ว ยืนยันกับทีม DXC Online ว่า “ไม่กลัว เข็มที่ 2 จะไปฉีดตามวันเวลาแน่นอน”
สุดท้ายนี้ “รักษาสุขภาพ” นะครับ ป้าแจ่ม ขอบคุณสำหรับประสบการณ์ที่นำมาแบ่งปันครับ