ครั้งเมื่อ เกิดเหตุภัยพิบัติ สาธารณภัย หรือสงคราม ที่ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินขีดความสามารถในการให้บริการของโรงพยาบาลในพื้นที่ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามถือเป็นอีกแนวทางในการดูแลผู้ป่วย เช่นเดียวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ เวลานี้ ที่หลายจังหวัดเตรียมแผนจัดตั้งเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจมีแนวโน้มร้ายแรงขึ้น
ผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการโรงพยาบาลสนามในสถานการณ์โควิด-19
ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และอื่น ๆ
หมายเหตุ : ควรกำหนดคณะทำงานผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชน
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม
1. จัดตั้งระบบบริการการดูแลรักษาพยาบาล ผู้ป่วยที่เข้าข่าย PUI ในกรณีที่เกินขีดความสามารถของ โรงพยาบาล ตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วย การให้การวินิจฉัยดูแลรักษา แบบ One Stop Services
2. สามารถรับผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 ไว้ดูแลรักษาแบบผู้ป่วยใน และให้การดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง
3. ใช้เป็นสถานที่เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ และได้รับการส่งตัวมาจากโรงพยาบาลซึ่งดูแลผู้ป่วย ในภาวะเฉียบพลัน หรือวิกฤต จนดีขึ้นแล้ว

การบริหารจัดการโรงพยาบาลสนาม
1. การเลือกสถานที่ในชุมชนที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
1.1 อากาศโปร่ง และเป็นสถานที่ที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี
1.2 ไม่ควรอยู่ในที่ชุมชนแออัด เช่น ตลาดสด
1.3 มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านสาธารณูปโภคที่สำคัญในการดำเนินงาน เช่น ไฟฟ้า ประปา และอื่น ๆ ตัวอย่างโรงพยาบาลสนาม เช่น อาคารเรียน หอพัก หอประชุมวัด ที่อยู่ห่างจากชุมชน แต่ระบบน้ำประปา และไฟฟ้าเข้าถึง
2. การจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น รวมถึงวัสดุสำนักงาน เครื่องอุปโภคบริโภค และน้ำดื่ม เสบียง อาหาร รวมถึงการฝึกอบรม ปฐมนิเทศ ตลอดจนการกำกับดูแลการทำงานของบุคลากร โดยเฉพาะอาสาสมัคร
3. ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้เป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุข
4. ระบบการบริหารจัดการหน่วยผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วย การจัดเวร ประเมินความเพียงพอของการให้บริการ
5. ระบบการขนส่งต่าง ๆ รวมถึง ระบบการส่งต่อผู้ป่วย การขนส่งวัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ วัสดุ อุปกรณ์อื่น ๆ ขยะติดเชื้อ การจัดการ และการเคลื่อนย้ายศพ เป็นต้น
6. ระบบการเชื่อมโยง และระบบสื่อสาร เช่น ระบบเวชระเบียน การติดต่อสื่อสารทั่วไป ระหว่างโรงพยาบาลสนาม กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงาน ป้องกันควบคุมโรค การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
7. ระบบการป้องกันควบคุมการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ
7.1 ควรสำรวจ และเตรียมสำรองอุปกรณ์ป้องกันตนเอง (PPE) ให้พร้อมและเพียงพอ เมื่อมีการระบาด และสามารถจัดหามาเพิ่มได้
7.2 การฝึกซ้อม การสวมและถอด PPE
7.3 การทำความเข้าใจ หลักการพื้นฐานของการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (Infection prevention and control)
8. ระบบสนับสนุน รวมถึงการจัดการด้านสาธารณูปโภค ที่พักบุคลากร โภชนาการ เครื่องปั่นไฟ เครื่องกรองน้ำ ประปาสนาม ฯลฯ
9. ระบบรักษาความปลอดภัย แก่บุคลากร ผู้ป่วย ยา เวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
10. งานสังคมสงเคราะห์และจิตวิทยา
11. การจัดระบบการสื่อสารความเสี่ยง ให้ผู้ป่วย ญาติ รวมถึง ประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจตั้งแต่ก่อนจัดตั้ง และในระหว่างการระบาด
ทั้งนี้ ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข
บุคลากรในโรงพยาบาลสนาม ประกอบด้วย
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ บุคลากรด้านการรักษา แพทย์ พยาบาล เภสัชกร รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์สาขาอื่น เช่น นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีแพทย์ นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติมาแล้ว
ทั้งนี้ อาจเป็นบุคลากรในพื้นที่ระบาด หรืออาสาสมัครที่ได้รับการอบรม เป็นต้น
2. บุคลากรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบหลักด้านการแพทย์ ผู้รับผิดชอบหลักด้านการพยาบาล ผู้รับผิดชอบด้านบริหารงานทั่วไป
3. บุคลากรสนับสนุนด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย
1) งาน Back office เช่น งานเวชระเบียน การสื่อสารประชาสัมพันธ์ งานธุรการ งานพัสดุ และเวชภัณฑ์ งานการเงิน
2) งานบริการด้านอื่น ๆ เช่น โภชนากร งานสาธารณูปโภค งานช่างและซ่อมบำรุง งานยานพาหนะ
3) งานสนับสนุนอื่น ๆ เช่น งานจ่ายกลาง งานขยะ การจัดการศพ

เน้นย้ำว่า คุณสมบัติของบุคลากรผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโดยตรง
ควรเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง
ที่มา : แนวทางการจัดเตรียมพื้นที่กรณีมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวงกว้าง : โรงพยาบาลสนาม ฉบับวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2563 กลุ่มฉุกเฉินทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข