งานวิจัยชี้หน้ากาก N95/KN95/ FFP1/FFP2 ประสิทธิภาพป้องกันแพร่กระจายโควิด-19 มากสุด รองลงมา หน้ากากอนามัย ส่วนหน้ากากผ้าต่ำสุด
เคยสงสัยหรือไม่ว่า หน้ากากอนามัยประเภทใช้ครั้งเดียว (disposable surgical masks) หน้ากากผ้า (Fabric masks) และหน้ากาก N95 (N95 masks) หน้ากากประเภทใดที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคทางเดินหายใจจากละอองฝอยหรือสารคัดหลั่งจากการไอจามและการดักจับละอองของเหลวและละอองลอยแบคทีเรียจากปากและจมูกของผู้สวมใส่ได้ ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ หน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ ได้ศึกษาวิจัยประสิทธิภาพการกรองของหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า และหน้ากาก N95/KN95/FFP1 และ FFP2 ที่มีการใช้ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2563
โดยมีการสุ่มเก็บตัวอย่าง หน้ากากที่มีขายในท้องตลาดจำนวน 259 ตัวอย่าง ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยจำนวน 67 ตัวอย่าง หน้ากากผ้าจำนวน 71 ตัวอย่าง และหน้ากาก N95/KN95/FFP1/FFP2 จำนวน 121 ตัวอย่าง

ผลการศึกษาพบว่า หน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาคเฉลี่ย 50.50% ต่ำสุด 2.50% สูงสุด 95.90% และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 26.34%
หน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพการกรองอนุภาคเฉลี่ย 39.10% ต่ำสุด 5.93% สูงสุด 87.55% และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 19.64% ส่วน หน้ากากN95/KN95/FFP1/FFP2 มีประสิทธิภาพการกรองอนุภาคเฉลี่ย 72.21% ต่ำสุด 8.92% สูงสุด 99.97% และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 26.65%

โดยสรุป คือ หน้ากาก N95/KN95/ FFP1/FFP2 มีค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพการกรองอนุภาคสูงสุด รองลงมาคือ หน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้า มีค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพการกรองอนุภาคต่ำที่สุด
(มาตรฐาน ASTM F2100-19e1 ได้กำหนดให้วัสดุกรองที่นำมาใช้ทำหน้ากากต้องมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาคมากกว่าหรือเท่ากับ 95%, 98% และ 98% ในระดับการป้องกันที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ)
ในการศึกษานี้ยังพบว่า หน้ากากอนามัยมีค่าประสิทธิภาพการกรองต่ำสุดใน 3 ชนิด คือ 2.50 % เมื่อเทียบกับหน้ากากผ้าและหน้ากาก N95/KN95/FFP1/FFP2 คือ 5.93% และ 8.92% ตามลำดับ โดยค่าประสิทธิภาพต่ำสุดของหน้ากากทั้ง 3 ชนิดนี้ ถือว่าเป็นค่าที่ยอมรับไม่ได้สำหรับมาตรฐาน ASTM F2100-19e1
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการสุ่มเก็บตัวอย่างทดสอบในการศึกษานี้เป็นช่วงที่วัสดุหรือวัตถุดิบสำหรับผลิตหน้ากากขนาดแคลน จึงทำให้มีการนำวัสดุหรือวัตถุดิบ เช่น เมลต์โบลน (Melt-blown) ไม่ได้คุณภาพนำมาผลิตหน้ากากหรือไม่มีชั้นกรองอนุภาคใส่ในหน้ากากออกมาจำหน่ายโดยขาดการควบคุมคุณภาพการผลิตที่ดี จึงทำให้หน้ากากในตลาดส่วนหนึ่งไม่มีคุณภาพและมาตรฐาน ไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของโรคทางเดินหายใจจากละอองฝอยหรือสารคัดหลั่งจากการไอจาม และการดักจับละอองของเหลวและละอองลอยแบคทีเรียจากปากและจมูกของผู้สวมใส่ได้
สำหรับการเลือกซื้อหน้ากากที่ได้มาตรฐานนั้น มีวิธีการสังเกตเบื้องต้นง่าย ๆ จะต้องมี ใบมาตรฐานการผลิต ใบรับรองผลการทดสอบประสิทธิภาพ และรายละเอียดเเสดงถึงประสิทธิภาพ ที่สำคัญ แนะนำให้เลือกซื้อจากร้านขายยาหรือห้างร้านที่เชื่อถือได้ หากไม่มีรายละเอียดดังกล่าวข้างผลิตภัณฑ์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ไม่ได้มาตรฐาน!
ดาวน์โหลดงานวิจัยฉบับเต็ม คลิกที่นี่