เครื่องหมายอัศเจรีย์

จับตา “วัคซีนป้องกันโควิด-19” จะซ้ำรอยคดี ‘โกง’ วัคซีนพิษสุนัขบ้า หรือไม่?

ภายในปี พ.ศ. 2564 คนไทยอย่างน้อยร้อยละ 50 หรือครึ่งประเทศ จะได้รับการฉีดวัคซีน ‘ฟรี’ เพื่อป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ระยะเร่งด่วน วัคซีนล็อตแรก 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ ผู้ผลิตจากประเทศจีน จะถูกจัดส่งมายังประเทศไทยช่วงครึ่งปีแรก

โดยตั้งแต่ ก.พ. จำนวน 2 แสนโดส ตั้งเป้าฉีดให้ประชาชน 1 แสนคน เริ่มที่บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงแรก จากนั้น มี.ค. และเม.ย. จะได้รับอีก 8 แสนโดส สำหรับ 4 แสนคน และ 1 ล้านโดส สำหรับ 5 แสนคน ตามลำดับ

ส่วนช่วง พ.ค. นั้น รัฐบาลจะได้รับมอบจากบริษัท แอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส สำหรับ 13 ล้านคน และจัดหาจัดซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส

ในระยะยั่งยืน รัฐบาลยังให้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมีการรับเทคโนโลยีมาแล้ว ผลิตให้ได้ปีละ 200 ล้านโดส นอกจากนี้ยังมีแหล่งผลิตจากคณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พล.อ.ประยุทธ์ ยึดหลัก “สร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุข” ดังนั้น คนไทยทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฟรี

อย่างไรก็ตาม ดร.มานะ นิมิตร มงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เสนอความเห็นเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาลและลดความเสี่ยงในองค์กร โดยให้รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำงบประมาณจัดหาวัคซีนฉีดให้บุคลากรหรือจัดให้มีระบบโควต้าแบ่งวัคซีนให้แต่ละจังหวัดไปจัดสรรกันเอง

อ่านเพิ่มเติม: ใครควรได้ฉีดวัคซีนก่อน

ทั้งนี้ อาจต้องป้องกันการทุจริตวัคซีนไปในคราวเดียวกัน ด้วยหวั่นว่าจะซ้ำรอยกรณีการโกงวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อปี พ.ศ.2561 จนทำให้การควบคุมโรคล้มเหลว

ถอดบทเรียนโกงวัคซีนพิษสุนัขบ้า

ย้อนกลับไป ปี พ.ศ.2561

เวลานั้นมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 7 คน นำมาสู่การตั้งคำถามถึงมาตรฐานของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่กรมปศุสัตว์เป็นผู้จัดซื้อ

ประกอบกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียกคืนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 3.5 ล้านโดส เพราะไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ปี พ.ศ.2559 เหลือวัคซีนที่ใช้ได้เพียง 1.5 ล้านโดส จากทั้งหมด 5 ล้านโดส

สังคมจึงหันมาจับตากรณีดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดโปงประเด็นทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของกรมปศุสัตว์

มีการตรวจสอบพบว่า อปท.หลายแห่งนำวัคซีนไม่ได้มาตรฐานฉีดให้สุนัขและแมว และยังพบการผูกขาดการจัดซื้อจัดจ้างจากภรรยาของอดีตรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ที่เปิดบริษัทเข้าร่วมประมูลติดต่อกันหลายปี

การออกมาเปิดโปงของสังคม ทำให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องกระบวนการขั้นตอนมาตรการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และกระบวนการขั้นตอนการจัดหาวัคซีนของกรมปศุสัตว์ ที่มีการผูกขาดจากภรรยาอดีตรองอธิบดีกรมปศุสัตว์

แม้ผลสอบอย่างเป็นทางการจะไม่ถูกเปิดเผย แต่กรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญให้สังคมต้องช่วยกันจับตา และระมัดระวังไม่ไห้การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องซ้ำรอยการโกงคดีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มิฉะนั้นคนไทยที่ฝากความหวังไว้กับยาตัวนี้ อาจต้องพบกับความสิ้นหวัง.

แชร์