เมื่อปรากฎการณ์ COVID Slide อาจบานปลาย กระทบ ‘เด็กยากจนพิเศษ’ 1.4 แสนคน เรียนที่บ้าน เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ทำความรู้ถดถอย หลัง รร.ปิด ด้านผลวิจัยพบเด็กสหรัฐฯ อยู่บ้าน ความรู้คณิตหายร้อยละ 50 -การอ่านลดร้อยละ 30
ปรากฎการณ์ COVID Slide ซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้หลายโรงเรียนในประเทศต้องปิดชั่วคราว จัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์แทน ปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษ (นักเรียนยากจนพิเศษ หมายถึง นักเรียนในครัวเรือนที่สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนไม่เกิน 3,000 บาท เเละมีคะเเนนความขาดเเคลนทุนทรัพย์มากกว่า 50 คะเเนนขึ้นไป) อาจไม่มีเทคโนโลยีที่เข้าถึงระบบดังกล่าว
ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนปิดชั่วคราวแล้ว 28 จังหวัด จำนวน 7,053 แห่ง นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน 2,375,187 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กยากจน 130,361 คน และเด็กยากจนพิเศษ 143,507 คน โดย ‘ตาก’ เป็นจังหวัดที่มีเด็กยากจนพิเศษไม่ได้ไปโรงเรียนมากที่สุด 31,652 คน
ขณะที่งานวิจัยจากสถาบัน NWEA พบว่า นักเรียนในสหรัฐอเมริกาที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน ทำให้ความรู้วิชาคณิตศาสตร์หายไปถึงร้อยละ 50 และความรู้ด้านการอ่านลดลงร้อยละ 30 แม้แต่ในกลุ่มนักเรียนฐานะดี แต่เมื่อต้องใช้เวลากับหน้าจอเป็นเวลานานก็ส่งผลต่อสุขภาพจิต พัฒนาการด้านสังคม และอารมณ์
สอดคล้องกับงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการด้านระบบการสอนของสถาบัน MIT พบว่า การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถชดเชยผลจากการไม่ได้มาโรงเรียน เช่น ความรู้ที่ถดถอย ขาดประสบการณ์เข้าสังคม การได้รับอาหารที่มีโภชนาการ บริการทางสังคมต่าง ๆ หรือการเรียนที่เหมาะสมกับช่วงวัยได้
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่าแม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีผลการศึกษาติดตามผลกระทบจาก COVID Slide ออกมา แต่จากแนวโน้มที่มีผลการศึกษาในระดับนานาชาติข้างต้น ก็พอจะคาดการณ์ได้ถึงผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ
1) ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา
2) ภาวะถดถอยของพัฒนาการด้านการเรียนรู้และสุขภาวะของเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กยากจนด้อยโอกาส เด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กพิการ เด็กที่ต้องการการศึกษาแบบพิเศษ ซึ่งจะขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเมืองและชนบท ให้กว้างขึ้นมากกว่าปีการศึกษา 2563
ทั้งนี้ ในระยะยาวอาจส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้วงจรความยากจนส่งผลถึงคนรุ่นต่อไป

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยก่อนโควิด ของกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น จากสัดส่วนน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ลดลง อัตราขาดเรียนลดลง เป็นผลจากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยเฉพาะครูที่ร่วมกันค้นหาตัวเด็กพร้อมกับมีระบบสารสนเทศช่วยสนับสนุนการคัดกรอง
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ทำให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องปิดลง ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 และ 2 คิดเป็นร้อยละ 40 ของปีการศึกษาที่นักเรียนต้องเรียนจากบ้าน โดยพบว่า มีเด็กยากจน และยากจนพิเศษในพื้นที่การระบาดสีแดงและสีแดงเข้มใน 28 จังหวัด ส่วนหนึ่งต้องออกไปทำงานหารายได้ บางแห่งมีข้อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี
แม้ว่าต้นเดือนมกราคม กสศ.จะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินโครงการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค เพื่อป้องกันนักเรียนยากจนพิเศษ 900,000 คน ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา
ทั้งนี้ สิ่งน่ากังวลคือความเสี่ยงของเด็ก ซึ่งจะมีพัฒนาการเรียนรู้และสุขภาวะถดถอย จึงต้องใช้ 3 เดือนสุดท้ายของปีการศึกษาหาเด็กเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID Slide ให้พบ พร้อมมีมาตรการที่ควรตั้งรับ คือ
1) เมื่อเปิดการสอนในวันที่ 1 ก.พ. ครูควรตรวจพัฒนาการของร่างกายและการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคลว่าถดถอยลงหรือไม่
2) การจัดการสอนเสริม หรือ After school programme สำหรับผู้เรียนที่มีพัฒนาการเรียนรู้ถอดถอยก่อนการเลื่อนชั้น
3) การเฝ้าระวังรอยต่อการศึกษาในทุกช่วงชั้น ตั้งแต่ ป.1 ม.1 ม.4/ปวช. โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนยากจนในพื้นที่ไม่มีโรงเรียนรองรับ รองผู้จัดการ กสศ. ระบุวิกฤตนี้สามารถพลิกเป็นโอกาสปฏิรูประบบการศึกษา จากเดิมที่เด็กต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไปหาการศึกษา เปลี่ยนเป็นการศึกษาไปหาเด็กทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคและยั่งยืน ซึ่ง กสศ. มีข้อมูลเด็กรายคน พร้อมตำแหน่งรายละเอียดสภาพแวดล้อมบันทึกในระบบสารสนเทศ iSEE โดยความร่วมมือจากโรงเรียน เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังติดตาม สนับสนุนทุนการศึกษา ส่วนเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา มีกลไกระดับจังหวัด และ 61 องค์กรภาคีเครือข่ายในการทำงาน เพื่อเข้าถึงเด็กเยาวชนเรื่องปากท้อง เตรียมความพร้อมเพื่อกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นหรือการฝึกอาชีพ.