เครื่องหมายอัศเจรีย์

เทคโนโลยีดาวเทียมจับจุดความร้อน-เฝ้าระวังภัยแล้ง ปี 64

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA แถลงข่าวการดำเนินงานในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ร่วมกับเซ็นเซอร์ตรวจจับภาคพื้นของหน่วยงานอื่น ช่วยแก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ในประเทศไทย โดยวิเคราะห์จุดความร้อน (Hotspot) ซึ่งเป็นพื้นที่กำเนิดของไฟป่าในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ตลอดช่วงเดือนมกราคม-เมษายน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นำข้อมูลไปใช่บรรเทาและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA บอกถึงสาเหตุที่ต้องนำข้อมูลจากหน่วยงานอื่นมาร่วมวิเคราะห์ เนื่องจาก ข้อมูลจากดาวเทียมมีขีดจำกัด เพราะดาวเทียมโคจรผ่านประเทศไทยเพียงวันละ 2 รอบ ข้อมูลจึงเป็นลักษะ Near Realtime โดยปกติจะเป็นช่วงเวลา 10.00 และ 22.00 น. จึงมีการพยายามนำข้อมูลที่มีอยู่วิเคราะห์ด้วยระบบ AI แล้วนำเข้าสู่ระบบ Big Data ซึ่งจะมีความใกล้เคียงกับสถานการณ์จริง แต่สิ่งที่สำคัญคือการสื่อสารข้อมูลเหล่านี้กับประชาชน ด้วยการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารร่วมกัน

ข้อมูลจากดาวเทียมมีขีดจำกัด เพราะดาวเทียมโคจรผ่านประเทศไทยเพียงวันละ 2 รอบ ข้อมูลจึงเป็นลักษะ Near Realtime

โดยตั้งแต่ในปี 2564 สถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า และจุดความร้อนที่ตรวจพบ เริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่เขาพระบาท จ.ลำปาง มีปัญหาหมอกควันไฟป่าที่บริเวณใกล้กับเขื่อนภูมิพล ส่วนการคาดการณ์สถานการณ์ไฟป่าในปี 2564 ว่าจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งทางด้านกายภาพ ด้านเชื้อเพลิง และด้านเศรษฐกิจสังคม แต่จากการเก็บข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่เมื่อปี 2560 จุดสะสมความร้อนทั่วประเทศจะพบมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งแนวโน้มปีนี้จากข้อมูลปัจจุบัน ถือว่ามีแนวโน้มการเกิดจุดความร้อนต่ำกว่าเมื่อปี 2563 ทั้งนี้ สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้แต่ต้องนำปัจจัยต่าง ๆ มาประกอบ

จากการเปรียบเทียบความชื้นในดินย้อนหลังช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นว่าในปี 2564 ประเทศไทยมีความชื้นมากขึ้น ยกเว้นในปี 2562 ที่ค่าความชื้นในดินใกล้เคียงกับปีนี้ ความชื้นยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดไฟป่าเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้สิ่งที่สามารถวิเคราะห์ได้เบื้องต้น คือ สถานการณ์ดัชนีภัยแล้ง ที่พบว่า ความแห้งแล้งปีนี้น้อยกว่าในปี 2563 ซึ่งทำให้โอกาสการเกิดหมอกควันไฟป่าลดลงด้วย

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ สภาพภูมิอากาศโลก แต่จากการวิเคราะห์ด้วยดาวเทียมของ Gistda ความชื้นในดินปีนี้ที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับอิทธิพลจากดัชนีของปรากฏการณ์ลานีญาที่ไม่รุนแรงมาก ดังนั้นแนวโน้มสถานการณ์แล้งในปีนี้ จึงถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยังคงต้องเฝ้าระวังในเรื่องของการเพาะปลูก และการบริหารจัดการน้ำด้วยความระมัดระวัง เพราะฝนไม่ได้ตกครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ แต่จะตกมากบริเวณภาคกลาง และภาคเหนือฝั่งตะวันตก ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบนยังคงต้องเฝ้าระวัง

แชร์