
ครบรอบ 16 ปี โศกนาฏกรรมคลื่นยักษ์ ‘สึนามิ’ พัดถล่ม 14 ประเทศชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2 แสนคน เฉพาะ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีก 2,000 คน
เหตุการณ์ความสูญเสียในครั้งนั้น นำมาสู่การถอดบทเรียนเพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่เฉพาะกับสึนามิ แต่ยังรวมถึงพิบัติภัยอื่น ๆ
ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์สึนามิ แม้ชาวบ้านมีความตื่นตัวพอสมควรในเรื่องภัยพิบัติ มีความเข้าใจเรื่องระบบการแจ้งเตือนภัย และระบบข้อมูลข่าวสาร สามารถรู้ว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่จะส่งผลกระทบกับชุมชนอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามยังพบปัญหาใหญ่ คือ ชุมชนยังไม่มีระบบความพร้อมรับมือภัยพิบัติที่เกี่ยวกับเส้นทางหนีภัยเรื่องนี้ถือเป็นจุดสำคัญที่ยังขาดความร่วมมือ และการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ
“ในภาพใหญ่จึงเห็นว่า คนตื่นรู้และตื่นกลัว แต่อาจจะขาดระบบการจัดการ” ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าว ปัจจุบันมีชุมชนที่เป็นแบบอย่างแก่ชุมชนอื่น ๆ แค่ประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด ที่มีการเรียนรู้ระบบแจ้งเตือนภัย ซึ่งส่วนนี้ชาวบ้านมีข้อมูลรับรู้ได้เอง
ทั้งนี้ ชุมชนบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นตัวอย่างชุมชนที่มีการจัดตั้งเครือข่ายจัดการด้านภัยพิบัติ ซึ่งการมีเครือข่ายดังกล่าวก่อให้เกิดการเรียนรู้และตื่นตัวของสังคมตลอดเวลา และขยายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ส่งผลให้สาธารณะรับรู้ว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ชุมชนที่มีความพร้อมจะสามารถรับมือได้
ไทยมีพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ 7 หมื่นชุมชน
ส่วนการสร้างความตระหนักรู้เรื่องภัยพิบัติให้คนในชุมชน ไมตรี กล่าวว่า ในความเป็นจริงเราผลักดันมาตลอดว่าจะทำอย่างไรให้คนทั้งประเทศได้เรียนรู้เรื่องภัยพิบัติจากธรรมชาติไปด้วยกัน โดยเรื่อง ‘สึนามิ’ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ไปผลักดันให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ นำไปสู่แผนภัยพิบัติระดับชาติ ซึ่งในแผนฉบับนั้นเขียนไว้ว่า หน่วยงานไหนมีหน้าที่ทำอะไร แต่ปัญหา คือ เมื่อมีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับชาติแล้ว คณะกรรมการชุดนี้กลับประชุมน้อยเกินไป และ ยังไม่นำไปสู่การติดตามการขับเคลื่อนแผนระดับชาติ
ยกตัวอย่างนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ มีการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องภัยพิบัติในโรงเรียน แต่ยังไม่นำไปสู่นโยบายที่ทุกโรงเรียนสามารถทำได้ หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีแผนในการดูแลผู้ประสบภัยอย่างไร จะเห็นว่ากรณีดังกล่าว หากขาดคณะติดตามหนุนเสริมให้เป็นไปตามแผน ก็จะไม่สามารถปฏิบัติการได้จริงในภาวะวิกฤต
ทั้งนี้ จากการที่เราผลักดันส่งผลให้องค์กรที่เข้าใจเรื่องงานชุมชนหันมาสนับสนุนชุมชนมากขึ้น ขณะที่หน่วยงานรัฐกลับยังทำงานเหมือนเดิม คือ ส่งเสริมชุมชนเป็นฐาน โดยทำโครงการขนาดย่อย ปีละ 400 ชุมชน ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงประสบภัยพิบัติ 7 หมื่นชุมชน หากทำครบทั้งประเทศ จะใช้ระยะเวลา 150 ปี ซึ่งเราอาจอยู่ไม่ถึง เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในเวลานั้น
แนะเอาตัวรอดจากความตระหนักรู้
ด้าน รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวถึงระบบเตือนภัยสึนามิในประเทศไทย หลังจากเกิดเหตุสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 ว่า ไทยมีทุ่นเตือนภัยสึนามิทุ่นแรก ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยติดตั้งในมหาสมุทรอินเดียห่างจากชายฝั่งประเทศไทยประมาณ 1,200 กิโลเมตร หลังจากนั้นไทยได้ติดตั้งทุ่นเตือนภัยสึนามิของตัวเองอีกหนึ่งทุ่น อยู่ห่างจากชายฝั่ง จ.ภูเก็ต ประมาณ 800 กิโลเมตร ทำให้ปัจจุบันไทยมีทุ่นเตือนภัยสึนามิจำนวนสองทุ่น
อย่างไรก็ตาม กลับพบปัญหาว่า เมื่อมีทุ่นเตือนภัยสึนามิหลายระบบ ทำให้ไม่ค่อยมีเสถียรภาพ ลองจินตนาการดูว่า เมื่อทุ่นดังกล่าวอยู่ในทะเลและมีระยะห่างไกล 1,000 กิโลเมตร 800 กิโลเมตร และ 200 กิโลเมตร เมื่อมีอะไรมาเกี่ยวเสาอากาศหรือสมอทำให้ทุ่นชำรุดบ่อยครั้ง
ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ เห็นว่า ระบบการใช้ฐานข้อมูลในการเตือนภัย ซึ่งทำได้เร็วกว่าตอบโจทย์เช่นกัน เหมือนดังเช่นญี่ปุ่นมีฐานข้อมูลประมาณ 1 แสนฐาน ขณะที่ไทยมีเกือบประมาณ 500 ฐาน ซึ่งขณะนี้โรงแรมต่าง ๆ ใน จ.ภูเก็ต กระบี่ และพังงา มีการนำระบบนี้มาใช้ ทว่า ในอนาคตเสนอให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีทุ่นเตือนภัยสึนามิต่อไป แต่ท้ายที่สุด อย่าไปคาดหวังพึ่งระบบเตือนภัย แต่ควรสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นมากกว่า
“อย่าไปหวังพึ่งระบบเตือนภัยหรือว่าระบบจากทุ่นเตือนภัยสึนามิหรือระบบอะไรก็ตาม เพราะในประวัติศาสตร์พบว่าคนจะรอดจากสึนามิด้วยความตระหนักรู้ของตนเอง ถ้าไม่มีความตระหนักรู้ อาจมีการเสียชีวิต ดังนั้นการฝึกซ้อมเส้นทางอพยพ การมีศูนย์อพยพ หรือการรู้ตำแหน่งที่จะวิ่งไปทิศทางใด จึงยังเป็นสิ่งจำเป็น” รศ.เสรี กล่าว
16 ปี สึนามิ แพทย์นิติเวช-ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ศพเพิ่มขึ้น
แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผู้ที่มีบทบาทในการพิสูจน์ซากศพในเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ บอกเล่าว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มีการซักซ้อมกระบวนการแก้ไขปัญหาในการพิสูจน์ซากศพกรณีภัยพิบัติ แต่ปัจจุบันพบว่า กระบวนการดังกล่าวหายไปหมดแล้ว หมายความว่า ผู้ที่ต้องทำหน้าที่โดยหลัก นั่นคือ ตำรวจสากล กำหนดว่าเป็นตำรวจ ในต่างประเทศระบุเลยว่า ไม่สามารถใช้ระบบนี้ได้ ประเทศออสเตรเลียที่ดูแลภูมิภาคแถบนี้ ระบุว่าควรจะอยู่ในระบบแพทย์มากกว่า
เพราะแพทย์จะอยู่กับศพนิรนามตลอดอยู่แล้ว เรื่องนี้ผู้ทำหน้าที่ตามกฎหมายอาจจะไม่พร้อม คือ ตำรวจ แต่สำหรับแพทย์ เชื่อว่าทุกที่พร้อม เพราะหลังจากเหตุการณ์สึนามิ มีแพทย์นิติเวชเพิ่มขึ้นจำนวนมากทั่วประเทศและมีแผนปฏิรูปเรื่องนี้อยู่ในแผนปฏิรูปนิติวิทยา
อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการสร้างความตระหนักรู้ในสังคมไทยว่า ในภาพใหญ่เรื่องนี้เป็นปัญหาหลักจริง ๆ ระบบการศึกษาของเราไม่ค่อยดี จึงไม่ค่อยถ่ายทอดหรือทำให้ประชาชนเรียนรู้และตระหนัก คำว่าเรียนรู้ แปลว่า ไม่ใช่เฉพาะสึนามิ ยังมีสิ่งที่เป็นภัยพิบัติหรือภัยวิกฤต เช่น เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือฝนตกน้ำท่วม ประชาชนจะต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ถึงวิธีเผชิญเหตุดังกล่าว
ความเป็นไปได้ตั้งเครือข่ายสื่อด้านภัยพิบัติ
มุมมองด้านนักสื่อสารมวลชนอย่าง ‘กิตติ สิงหาปัด’ ผู้ประกาศข่าว ถ่ายทอดประสบการณ์ครั้งลงพื้นที่ทำข่าวภัยพิบัติสึนามิว่า ขณะนั้นข้อจำกัดส่วนใหญ่ในการทำข่าว คือ โลจิสติกส์และเทคโนโลยี เนื่องจากเมื่อถึงวันเกิดเหตุ โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดถูกตัดขาด เครื่องบินไม่สามารถลงจอดที่สนามบิน จ.ภูเก็ตได้ หรือไม่คิดว่าการส่งกำลังบำรุงทั้งหมดจะถูกตัดขาดแบบนี้
“ผมยังจำได้ว่า ตอนนั้นอยู่ไอทีวี เราต้องใช้ดาวเทียม แล้วผมจำได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายท่านยังมาขอใช้โทรศัพท์ของเราที่ใช้สื่อสารกับทางสถานี ซึ่งเป็นดาวเทียม สมัยนั้นช่วงเหตุการณ์จึงยุ่งยากพอสมควรในการทำงาน ไม่นับแต่ละสถานี ซึ่งการส่งกำลังบำรุงไปยังทีมงานในพื้นที่ก็ดีหรือการส่งทีมงานเข้าไปในพื้นที่มีความยากลำบาก แต่โชคดีตอนนั้นไอทีวีมีเฮลิคอปเตอร์อยู่ลำหนึ่ง เรียกว่า สกายรีพอร์ต ฉะนั้นเราจึงใช้สกายรีพอร์ตตัวนี้บินขึ้นบินลงและบางช่วงอาจรับเจ้าหน้าที่ไปด้วยหรือส่งคนของเราไปด้วย”
กิตติ ยังเห็นด้วยให้จัดตั้งเครือข่ายสื่อมวลชนด้านภัยพิบัติ เพื่อร่วมมือกันทำงานด้านนี้ โดยมองว่า ในแง่หนึ่งเมื่อเกิดเหตุทุกช่องจะแข่งขันกัน ใครอยากได้เอ็กซ์คลูซีฟ ใครอยากได้เร็ว แต่ในอีกแง่หนึ่ง การลงพื้นที่ของนักข่าว คือกลไกหนึ่งในการช่วยเหลือ ทั้งช่วยเหลือเหยื่อที่เกิดขึ้น และช่วยเหลือในการนำข้อมูลในพื้นที่ออกมาสู่ข้างนอก ถ้ามีเครือข่ายและช่วยเหลือกันได้ จะเป็นประโยชน์มาก
สอดคล้องกับ ‘มนตรี อุดมพงษ์’ ผู้สื่อข่าวภาคสนาม ที่มองว่า เป็นไปได้ที่จะมีการจัดตั้งเครือข่ายสื่อมวลชนด้านภัยพิบัติเหมือนดังเช่นการรวมกันจัดตั้งศูนย์ข่าวภาคใต้รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบไม่มีสังกัด
มนตรี กล่าวว่า เราอยู่ในภาวะที่ต้องการผลักดันเรื่องจิตสำนึกและมนุษยธรรมนิยม แน่นอนถ้าเป็นข่าวอื่น ๆ คงจะไม่แปลก แต่เมื่อมาเกี่ยวโยงกับเรื่องภัยพิบัติและชีวิตคน มีการเรียกร้องว่า ข่าวแบบนี้ไม่ควรเกี่ยวเนื่องกับทุน ไม่ควรคิดถึงเรื่องที่ต้องลงทุนไปฝ่ายเดียว แต่ควรคิดถึงเรื่องความปลอดภัย และช่วยรักษาสังคม และมองว่าสิ่งสำคัญของการสร้างเครือข่ายอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ การสร้างองค์ความรู้ให้แก่สื่อมวลชน ในเรื่องดังกล่าว