เครื่องหมายอัศเจรีย์

ความตายที่ “ปลายจมูก”

ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ (ศ.11)
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระอานนท์ว่า อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง? พระอานนท์กราบทูลตอบว่า นึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า พระองค์ตรัสว่า ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก สำหรับพุทธศาสนิกชนการเจริญมรณานุสตินับว่าเป็นบุญใหญ่ที่สามารถปฏิบัติได้โดยง่าย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ นอกเสียจากการเจริญสติที่ระลึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา

ในฐานะนักเคมีวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์สารพิษในฝุ่นและจับงานวิจัยด้านมลพิษอากาศมานานกว่า 20 ปี อดที่จะสงสัยไม่ได้ทุกครั้งเวลามีโอกาสได้ฟังเทศน์ฟังธรรมเกี่ยวกับการเจริญมรณานุสติว่า เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว ตถาคตท่านทราบได้อย่างไรว่าในอากาศที่เรากำลังหายใจเข้าไปต่างเต็มไปด้วยสิ่งที่นำพามนุษย์สู่ความตายได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นที่มีหลากหลายขนาดตั้งแต่ขนาดที่ใหญ่กว่า 100 ไมครอนจนถึงฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางในระดับนาโนเมตรเท่านั้น ยังไม่รวมถึงก๊าซพิษอีกนานับชนิดไม่ว่าจะเป็นก๊าซเรือนกระจกอย่าง คาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการดูดซับรังสียูวีอย่างโอโซน หรือก๊าซที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพอย่างกลุ่มสารอินทรีย์ระเหยง่ายหรือที่รู้จักกันในนาม ก๊าซ VOC

ใช่ครับ อากาศที่เรากำลังหายใจเข้าไปอยู่นี้แหละที่เต็มไปด้วยทั้งก๊าซพิษที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกหรือที่รู้จักในนามก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมทั้งโลหะหนักอีกหลายชนิดที่ส่งผลร้ายต่อร่างกายเช่น ปรอท สาเหตุของโรคมินามะตะ แคดเมี่ยม ธาตุต้นเหตุของโรคอิไตอิไต สารหนู ต้นตอของการเกิดมะเร็งหากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเกินไป ยังไม่รวมสารก่อมะเร็งอย่าง โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน หรือสารก่อการกลายพันธุ์อย่างสารไดออกซิน ซึ่งแฝงเร้นซ่อนตนเองอยู่ทั้งในรูปแบบของก๊าซและอนุภาค ฟุ้งกระจายไปทั่วทุกอณูของชั้นบรรยากาศ

สรุปโดยง่ายก็คืออากาศที่เรากำลังสูดเข้าไปในทุกขณะนี้แหละครับที่เต็มไปด้วยมลพิษนานานับประเภททั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและถูกปลดปล่อยออกมาทั้งโดยเจตนาก็ดีหรือโดยไม่ได้เจตนาก็ดีโดยน้ำมือของมนุษย์ 

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นในกลางเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2563 ช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิตกจริตด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 โดยมียอดผู้ป่วยรวมสะสมทั่วโลก 39,061,447 คนและมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 1,100,586 คนโดยในประเทศไทยยังคงตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ 59 คนและจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่ 3,665 คน จัดเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับที่ 142 จากการสำรวจทั้งหมด 216 ประเทศซึ่งนับว่าการบริหารจัดการของประเทศไทยทำได้ดีทีเดียว เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีทั้งงบประมาณและทรัพยากรบุคคลมากกว่าหลายเท่าแต่กลับควบคุมการแพร่ระบาดของโรคร้ายได้ไม่ดีเท่า แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกเกือบหนึ่งล้านหนึ่งแสนคนโดยประมาณจะเป็นตัวเลขที่สูงและสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างชนิดที่ต้องนิยามศัพท์ว่ามันคือ New Normal หรือความปกติในรูปแบบใหม่ของมนุษยชาติ แต่สื่อทั่วโลกกลับละเลยและไม่ค่อยพูดถึงภัยร้ายอีกประเภทที่สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้มากกว่าโควิด19 เกือบ 7 เท่านั้นคือผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสุขภาพจากการสูดดมเอามลพิษทางอากาศเข้าไปในร่างกาย  โดยองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้สูงถึงปีละ 7 ล้านคน!

แน่นอนหากพูดถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ สิ่งที่จะเด้งขึ้นมาในสมองก่อนเพื่อนเลยคงหนีไม่พ้น สึนามิ อุทกภัย แผ่นดินไหว โคลนถล่ม ไฟป่า และวาตภัย น้อยคนนักที่จะนึกถึง “มลพิษทางอากาศ” ขึ้นมาเป็นอันดับแรก ทั้งที่มันคือสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกกว่า 7 ล้านคน

ลองมาเปรียบเทียบสถิติการเสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ 5 อันดับแรกเท่าที่มีการจดบันทึกในประวัติศาสตร์พบว่า

1. วิกฤตมหาอุทกภัยในประเทศจีนปี พ.ศ. 2474 ยอดผู้เสียชีวิต 4,000,000 คนโดยประมาณ

2. วิกฤตมหาอุทกภัยในประเทศจีนปี พ.ศ. 2430 ยอดผู้เสียชีวิต 2,000,000 คนโดยประมาณ

3. แผ่นดินไหวที่มณฑลซานซีปี พ.ศ. 2099 ยอดผู้เสียชีวิต 830,000 คนโดยประมาณ

4. แผ่นดินไหวที่มณฑลถังชานปี พ.ศ. 2519 ยอดผู้เสียชีวิต 655,000 คนโดยประมาณ

5. พายุไซโคลนโบลาปี พ.ศ. 2513 ยอดผู้เสียชีวิต 500,000 คนโดยประมาณ

เมื่อนำเอายอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มีการจดบันทึกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ 5 อันดับแรกมารวมกันยังมีตัวเลขสูงกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยมลพิษอากาศต่อปีเพียงแค่ 985,000 คนเท่านั้น!

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีผลงานตีพิมพ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตกับระดับความเข้มข้นของมลพิษในชั้นบรรยากาศมากขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวของนักวิชาการทั่วโลกเกี่ยวกับภัยร้ายที่แฝงตัวเป็น “มัจจุราชเงียบ” คอยบั่นทอนสุขภาพและคร่าชีวิตผู้คนอยู่ทุกชั่วลมหายใจ เช่น งานวิจัยที่สำรวจประชากรในเขต Wake County รัฐ North Carolina สหรัฐอเมริกา พบว่า PM2.5 มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันโดยไม่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุโดยทุก ๆ การเพิ่มขึ้น 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของ PM2.5 จะส่งผลให้มีอัตราเสียชีวิตแบบเฉียบพลันพุ่งสูงขึ้นถึง 1.17 เท่า[1] นอกจากนี้มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM2.5 มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับโรคร้ายชนิด เช่น

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง โดยเฉพาะส่วนที่สร้างโดพามีน (dopamine) ทำให้โดพามีนมีปริมาณน้อยลง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหว เช่น เกิดอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า พูดช้า หกล้มง่าย รวมทั้งมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล

จากการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-Analysis) ซึ่งเป็นวิธีการวิเคราะห์ทางสถิติประเภทหนึ่ งพบว่า การสูดดมเอามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM2.5 ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และโอโซน (O3) เป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดโรคพาร์กินสันได้ [2]

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)

โดยปกติแล้วความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์จะสูงขึ้นเมื่อคนไข้มีอายุมากขึ้น ดังจะสังเกตได้จากอาการที่หลงลืมอะไรได้ง่าย เช่น กฎ กติกาของกีฬาที่เล่นเป็นประจำ ลืมตำแหน่งสิ่งของที่พึ่งวางไปหมาด ๆไม่ได้ ลืมขั้นตอนง่าย ๆ ของสิ่งที่ทำเป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น การโอนเงินเป็นต้นนี้ คือสัญญาณเริ่มต้นของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อม

จากงานวิจัยล่าสุดโดย Shou และคณะซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Ecotoxicology and Environmental Safety พบว่า PM2.5 มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ง่ายขึ้น [3]

โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)

โรคชนิดนี้คือโรคที่มีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าค่าที่ถูกกำหนดขึ้นในทางการแพทย์ ซึ่งได้มาโดยการเก็บข้อมูลทางสถิติของระดับไขมันในเลือดของประชากรทั่วไป โดยปกติแล้วแพทย์จะกังวลใจกับคอเลสเตอรอลชนิด LDL หรือไขมันชนิดไม่ดีมากกว่าไขมันชนิดความหนาแน่นสูง (HDL) เนื่องจากเป็นคอเลสเตอรอลที่ส่งผลต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันและหลอดเลือดสมองตีบ

จากงานวิจัยของ Xu และคณะซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Free Radical Biology and Medicine พบว่าการสูดดมเอาอากาศที่มีค่า PM2.5 สูงเกินมาตรฐานเป็นเวลานานอาจส่งผลให้บุคคลผู้นั้นป่วยเป็นโรคไขมันในเลือดสูงได้ [4]

โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease)

โรคชนิดนี้คือภาวะที่มีการเสื่อมสภาพของไตอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานและส่วนใหญ่มักจบลงด้วยการที่ไตเสื่อมลงอย่างถาวรและไม่สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ การวินิจฉัยของแพทย์โดยทั่วไปถึงสาเหตุของโรคไตเรื้อรังคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคอ้วน นอกจากสามโรคร้ายหลักนี้แล้วอาจต้องเพิ่มมลพิษทางอากาศเข้าไปในตำราการแพทย์อีกด้วย เนื่องจาก Liu และคณะได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยล่าสุดลงในวารสาร Environmental Toxicology and Pharmacology ยืนยันถึงความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศกับความเสี่ยงในการเป็นโรคไตเรื้อรัง [5]

โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)

เป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ว่า โรคเบาหวานเกิดจากความผิดปกติในขบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากตับอ่อนเพื่อใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และคงไม่จำเป็นต้องสาธยายต่อว่า สาเหตุหลักของโรคร้ายนี้เกิดจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งการตีความสาเหตุแบบเดิมอาจต้องทบทวนใหม่ เนื่องจากผลงานวิจัยล่าสุดโดย Liu และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environment International พบว่าระดับความเข้มข้นของ PM1 PM2.5 และ NO2 มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน หรือพูดง่าย ๆ คือต่อให้ไม่ใช่คนเสพติดการกินหวานแต่หากอยู่อาศัยในเขตที่มีมลพิษทางอากาศสูงก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน [6]

อโรคยา ปรมาลาภา หรือ ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ คือหนึ่งในคำสอนซึ่งเป็น “อกาลิโก” หรือเป็นสิ่งที่ให้ผลทุกเมื่อทุกโอกาสและอยู่เหนือซึ่งกาลเวลาที่ตถาคตได้ฝากไว้ให้กับมวลมนุษยชาติ สัจธรรมข้อนี้จะยิ่งเห็นเด่นชัดมากขึ้นในยุคสมัยที่ผู้คนต้องทนป่วยเป็นโรคร้ายสารพัดชนิดทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุโดยตรง แต่ต้องทนแบกรับมลพิษเหล่านี้ไว้ในปอด เพื่อรอเวลาให้มันสำแดงฤทธิ์เดชออกมาในเวลาที่เหมาะสม สมควรหรือไม่ที่จะฝากอนาคตสุขภาพของตัวท่านเอง ของลูกหลานและญาติสนิทมิตรสหายของท่านไว้กับอากาศที่ปนเปื้อนไปด้วยมลพิษนานับชนิด หรือจะส่งมอบอากาศที่บริสุทธิ์ไว้ให้เป็นมรดกของคนรุ่นหลัง ลองถามใจตัวท่านเองดู

เอกสารอ้างอิง

[1] Rappazzo, K. M., Joodi, G., Hoffman, S. R., Pursell Jr, I. W., Mounsey, J. P., Cascio, W. E., & Simpson Jr, R. J. (2019). A case-crossover analysis of the relationship of air pollution with out-of-hospital sudden unexpected death in Wake County, North Carolina (2013–2015). Science of The Total Environment, 694, 133744.

[2] Han, C., Lu, Y., Cheng, H., Wang, C., & Chan, P. (2020). The impact of long-term exposure to ambient air pollution and second-hand smoke on the onset of Parkinson disease: a review and meta-analysis. Public health, 179, 100-110.

[3] Shou, Y., Huang, Y., Zhu, X., Liu, C., Hu, Y., & Wang, H. (2019). A review of the possible associations between ambient PM2. 5 exposures and the development o

แชร์


  • ผอ.ศูนย์วิจัยเเละพัฒนาการป้องกันเเละจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมเเละสิ่งเเวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

  • ผอ.ศูนย์วิจัยเเละพัฒนาการป้องกันเเละจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมเเละสิ่งเเวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)