เครื่องหมายอัศเจรีย์

“ถอดบทเรียน จากเหตุการณ์ แผ่นดินไหว อันดามัน”

สถานการณ์แผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะอันดามัน

ที่เริ่มด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด M4.5 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เวลา 12:35:52 น. ตามเวลาในประเทศไทย และตามมาด้วย แผ่นดินไหว ที่ทยอยกันมาอีก 29 ครั้งขนาดตั้งแต่ M4.1-5.1 ในวันนี้เพียงวันเดียว ตามด้วยวันที่ 5  (ขนาด M4.2-5.4)  9 ครั้งวันที่ 6  (ขนาด M4.5-5) 6 ครั้งและอีก 4 ครั้งในวันที่ 8   (ขนาด M4.5-5.2)

สถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดในวันเดียว 30 ครั้งในวันที่  4 กรกฎาคม เป็นเหตุให้ประชาชนที่อาศัยใน 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามันตกอยู่ในภาวะวิตกกังวล ร้อนรน เกรงว่าจะเกิดสึนามิขึ้นอีก เหมือนเหตุการณ์สึนามิเอเชียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จากเหตุแผ่นดินไหวสุมาตราเหนือขนาด Mw9.1 ซึ่งนำมาทั้งการสูญเสียชีวิตของคนในครอบครัวญาติ และเพื่อนรวมทั้งทรัพย์สินเสียหายเป็นอย่างมาก จนบางรายแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว  

ดังนั้นการรอคอยคำตอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ หรือ กรมอุตุนิยมวิทยา ที่จะออกมาประกาศหรือให้ข้อมูล ว่าจะมีสึนามิหรือไม่ก็เป็นไปอย่างใจจดใจจ่อ มาถึงเช้าวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ก็ยังไม่มีการแถลงข่าวใดๆ ออกมา นับว่าเป็นความผิดหวังของประชาชนอย่างมาก ดังนั้นกระแสของการเรียกร้องข้อมูลการเกิดสึนามิทางสื่อโซเชียลก็พุ่งตรงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนี้อย่างรุนแรง

จนกระทั่งในวันที่ 6 กรกฎาคม จึงได้มีการแถลงข่าวขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อประชาชนได้รับข้อมูลที่ล่าช้าความผิดหวังและคลางแคลงใจก็เกิดขึ้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดความล่าช้าในการแถลงข่าว และหากเกิดสึนามิจริงๆ ความสูญเสียก็อาจเกิดขึ้นไปมากแล้ว

รูป ขนาดของแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันระหว่าง 4-8 กรกฎาคม 2565 รวม 49 ครั้ง

ก่อนที่จะถอดบทเรียน

ในฐานะนักแผ่นดินไหววิทยา จึงขอสรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหวถี่ๆในอันดามันครั้งนี้ เพื่อความเข้าใจและข้อมูลทางวิชาการที่เป็นเหตุผลในการตอบคำถามประชาชนว่าจะไม่มีสึนามิเกิดขึ้นแน่นอนจากแผ่นดินไหวกลุ่มนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลอันดามันครั้งนี้ เป็นแผ่นดินไหวถี่ๆ ในช่วงระยะเวลาสั้น ไม่มีเมนช็อกหรือแผ่นดินไหวหลักที่ชัดเจน มีขนาดเฉลี่ย M4.8 และเป็นแผ่นดินไหวตื้นเกิดในแนวแยกตัวของพื้นทะเล (seafloor spreading) อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวของแผ่นอินเดียที่มุดเข้าหาแผ่นยูเรเซีย ทำให้พื้นทะเลในบริเวณนี้มีการเลื่อนตัวในแนวนอน ในขณะเดียวพื้นทะเลที่อยู่ใกล้กันก็จะแยกตัวออกจากกัน ทำให้หินเหลวหรือแมกม่าที่อยู่ด้านล่างอัดตัวขึ้นมา จึงเป็นเหตุทำให้เกิดแผ่นดินไหวถี่ๆที่เรียกว่าสวอร์ม (Swarms) ซึ่งอาจจะเป็นคำที่ใหม่สำหรับประชาชน หรือแม้แต่นักวิชาการต่างสาขา ขนาดแผ่นดินไหวที่เกิดในแนวแยกตัวนี้จากสถิติ 54 ปีที่ผ่านมามีขนาด M3.8-5.6 ซึ่งไม่มีพลังงานเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดสึนามิตามที่วิตกกันได้แต่อย่างใด

รูปการเกิดแผ่นดินไหวในแนวแยกตัวของพื้นทะเลตั้งแต่ปี 2513-2565 รวม 343 ครั้ง

ทุ่นเสียจะเตือนสึนามิได้หรือไม่?

สำหรับในกรณีที่เกิดสึนามิจากแผ่นดินไหวใหญ่ที่เกิดในแนวมุดตัวและทุ่นสึนามิในอ่าวเบงกอลเสียทั้งหมด ทั้งทุ่นไทยและทุ่นอินเดีย จะเตือนภัยสึนามิได้อย่างไร ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ประชาชนกังวลเป็นอย่างยิ่ง ต้องเรียนว่า เทคโนโลยีการตรวจวัดแผ่นดินไหวในปัจจุบันเป็นระบบดิจิทัล ระบบมีโปรแกรมคำนวณขนาดของแผ่นดินไหวได้อย่างรวดเร็ว สามารถหาศูนย์กลางแผ่นดินไหวว่ามีความลึกกี่กิโลเมตร สามารถบอกได้แม้กระทั่งว่าเปลือกโลกเคลื่อนตัวอย่างไร ทำมุมกี่องศา และที่สำคัญ คือ เราสามารถรับรู้ข้อมูลทั้งหมดนี้ได้เร็วกว่า การรอข้อมูลจาก “ทุ่น” ถึง 50 เท่า ดังนั้น การที่ ทุ่นสึนามิเสีย จึงไม่ส่งผลต่อการแจ้งเตือนสึนามิ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันสามารถแจ้งเตือนการเกิดสึนามิภายใน 10 นาที หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเลหากตรวจ พบว่า 1. เกิดแผ่นดินไหวขนาด M 7 ขึ้นไป 2. ศูนย์กลางแผ่นดินไหวต้องมีความลึกไม่เกิน 50 กิโลเมตร 3. การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกมีมุมในแนวดิ่ง นอกจากนี้ก็มีโปรแกรมคำนวณเวลาที่คลื่นสึนามิเดินทางถึงทุ่นและชายฝั่งที่อยู่ในทิศทางที่คลื่นเดินทางเข้าฝั่ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลล่วงหน้าในการเตรียมการอพยพผู้คนไปในที่ปลอดภัยก่อนคลื่นจะซัดเข้าฝั่ง

ประโยชน์ของทุ่นสึนามิในปัจจุบันนอกจากใช้ในการเตือนภัย ก็ใช้เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อยืนยันว่าจะเกิดสึนามิขึ้นหรือไม่ หากพ้นระยะเวลาที่ประเมินไว้ทุ่น ยังตรวจไม่พบสึนามิ ก็จะประกาศยกเลิกการเตือนภัย แต่หากเกิดสึนามิ ก็จะประเมินได้ว่าคลื่นที่ขึ้นฝั่งจะมีความสูงมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นแม้ว่าไม่มีทุ่นก็สามารถเตือนภัยสึนามิได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลังสถานการณ์อันร้อนแรงได้สงบลง โดยตั้งแต่วันที่ 9-11 กรกฎาคมไม่ปรากฏว่ามีแผ่นดินไหวในบริเวณอันดามันนี้อีก สิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาพิจารณาคือการหาทางป้องกันและแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่นนี้ขึ้นมาอีก เพราะมีผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ชาวบ้านไม่เป็นอันกินอันนอน นักท่องเที่ยวไม่กล้าไปเที่ยว เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวพังพินาศ การถอดบทเรียนจากครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากมาประเมินถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก็พบได้หลายประเด็นดังนี้

รูป ทุ่นสึนามิของไทย

1. การตอบสนองของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบโดยตรง คือศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา มีความล่าช้า อาจเป็นเพราะสังกัดกันคนละกระทรวงทำให้การประสานงานไม่รวดเร็วเท่าที่ควร หรือ อาจจะขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้ข้อมูลเชิงวิชาการ หรือมีความลังเลเกรงว่าหากให้ข้อมูลไปแล้วเกิดความผิดพลาดก็จะถูกทัวร์ลงกระหน่ำ จึงรีๆรอๆที่จะจะให้ข่าว จึงมาแถลงเอาในวันที่ 6 กรกฎาคม ล่าช้าไปสองวัน ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมาก กับการรับมือภัยพิบัติสึนามิ ภายใต้สภาวะวิกฤติศูนย์เตือนภัยต้องเปิดวอร์รูมแถลงข่าวทันทีที่มีข้อมูลเพียงพอ

 2. ต้องเข้าใจว่าปัจจุบันประชาชนสามารถหาข้อมูลแผ่นดินไหว ที่รายงานโดยหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆได้รวดเร็วจากอินเตอร์เน็ต แต่เขาไม่สามารถที่จะสรุปหรือคาดการณ์ได้ว่าภายใต้สภาวะแผ่นดินไหวถี่ๆ รัวๆ แบบนี้มันจะมีโอกาสเกิดสึนามิขึ้นหรือไม่เพราะเขาไม่มีความรู้ การรวมกลุ่มเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบออกมาแจ้งข่าว จึงเป็นประเด็นร้อนขึ้นในวันแรกของการเกิดกลุ่มแผ่นดินไหวในอันดามัน

3. ภายใต้ความต้องการคำตอบว่าจะเกิดสึนามิหรือไม่ ก็มีเพจต่างๆ นำมาเสนอข้อมูลแล้วคาดการณ์ไปต่างๆนานา ทั้งโดยหวังดี และหวังยอดคนติดตามและยอดไลท์ บางเพจถึงกับบอกว่ามันเป็นลางบอกเหตุภัยพิบัติครั้งใหญ่ ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทำให้โลกโซเชียลร้อนฉ่าขึ้นมาทันที เป็นผลทำให้ชาวบ้านใน 6 จังหวัดอันดามันตื่นตระหนกตกใจ กังวล นักท่องเที่ยวไม่กล้าไปเที่ยว

4. การนำเสนอข่าวของสื่อโทรทัศน์ช่องหลัก ที่มีประชาชนติดตามเป็นจำนวนมาก ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะแต่ละช่องพยายามไปหาแหล่งข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เพื่อจะได้ไม่ซ้ำกัน หากช่องนี้ไปสัมภาษณ์คนนี้ อีกช่องก็ไปหาอีกคนเพื่อที่จะแย่งเรตติ้งในการเสนอข่าว ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของธุรกิจพอเข้าใจได้ ปัญหามันอยู่ที่ว่าผู้สื่อข่าวไปถามนักวิชาการที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พูดง่ายๆคือถามผิดคนการให้ข้อมูลก็เลยคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ยิ่งทำให้เกิดความสับสนว่า ช่องไหนนำเสนอข่าวที่เชื่อถือได้ ต้องเข้าใจด้วยว่าประชาชนทั่วไปไม่มีความรู้มากพอที่จะมาวินิจฉัยหรือใช้วิจารณญาณในการพิจารณาว่าข่าวไหนถูกหรือไม่ถูกอย่างไร หรือไม่  ดังนั้นสื่อเองก็ต้องระมัดระวังเพราะจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แทนที่ชาวบ้านจะคลายความกังวล กลับยิ่งตื่นตระหนกกันไปใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นทุ่นสึนามิเสีย จนป่านนี้ประชาชนก็ยังหวาดระแวงว่าหากเกิดสึนามิขึ้นมาจริงๆ มื่อทุ่นสึนามิเสีย จะมีการเตือนภัยสึนามิได้ทันหรือไม่

5. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้จัดการหรือดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่โพสต์ข่าวหรือนักเลงคีย์บอร์ด ที่สร้างเพจ ปั่นกระแสแผ่นดินไหวและสึนามิหรือภัยพิบัติธรรมชาติอื่นๆ ในโลกโซเชียลโดยไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เลยแม้แต่น้อย จนทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและตื่นตระหนก อาศัยการแก้ข่าวภายหลังมันไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงความคิดเขาภายในระยะเวลาอันรวดเร็วได้ เพราะความเจ็บปวดจากสึนามิ 2547 มันยังฝังตราตรึงอยู่ในความรู้สึกของเขาผู้ประสบภัย

แนวทางการแก้ไข

การแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำขึ้นอีกก็คือ การแสวงหาความร่วมมือระหว่าง ภาคประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และสื่อ ดูเหมือนว่า การจัดเสวนาผู้มีส่วนร่วมเหล่านี้ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้ด้านแผ่นดินไหวและสึนามิ ซึ่งจะทำให้ลดช่องว่างการสื่อสารและข้อมูลที่คลาดเคลื่อนลงได้ ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ต้องเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง การวิเคราะห์สถานการณ์ อย่างรวดเร็วทันต่อเวลา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็ต้องให้การสนับสนุนการจัดตั้งสถานีเครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวภาคประชาชน (Citizen Seismograph Network, CSN) ซึ่งลงทุนถูกมากใช้งบประมาณเพียง 15000 บาท ดังเช่นสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวนาหม่อม (RD0A1)  ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพของการตรวจวัดแผ่นดินไหวในประเทศไทย  และยังสามารถเชื่อโยงข้อมูลเข้ากับเครือข่ายนานาชาติได้  ไม่ใช่มุ่งแต่จะไปดวงจันทร์ มันต้องแก้ปัญหาของประชาชนควบคู่ไปด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งดูแลเกาะ อุทยานต่างๆ ก็อำนวยสถานที่ตั้งสถานี  การรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติสาขาต่างๆ เช่น วาตภัย อุทกภัย แผ่นดินไหว ดินถล่ม ฯลฯ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง  และอย่าไปฝากความหวังไว้กับหน่วยงานราชการ พวกเรานี่แหละช่วยกันจัดทำและแจกจ่ายให้ทุกภาคส่วนที่กล่าวข้างต้น  เพื่อที่จะได้สื่อสารกันได้อย่างใกล้ชิดทันท่วงที อีกประเด็นที่สำคัญคือการพัฒนานักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ ที่ทำอินโฟกราฟฟิคให้ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้าใจข้อมูลวิชาการโดยง่าย เพราะคนไทยไม่ชอบอ่านบทความวิชาการที่มันยาวและเข้าใจยาก และข้อเสนอในการแก้ปัญหาภัยพิบัติในภาพรวมของประเทศโดยการจัดตั้ง กระทรวงภัยพิบัติ จึงเป็นเรื่องที่ รัฐบาลควรจะนำพิจารณา

แชร์