‘สึนามิ’ อาจเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของคนทั้งโลกที่จดจำ ที่สำคัญ คือ ประเทศไทย 6 จังหวัดอันดามัน ถูกคลื่นถล่มยับไปด้วย และเรียนรู้ไม่มีวันลืม
พังงาอาจดูเหมือนเป็นจังหวัดเล็ก ๆชายฝั่งอันดามัน ที่มีผู้ประสบภัยอย่างหนัก ร้ายแรง และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 5,000 คน บทเรียนครานั้น สึนามิที่เกิด…ไม่เคยมีใครเชื่อ…ไม่เคยมีใครรู้จัก จึงสร้างความเสียหายขนาดใหญ่กับประเทศไทย ส่งผลให้สังคมไทยได้ตระหนักและให้การเรียนรู้กับคน ชุมชน ที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
หลังสึนามิ ‘ชุมชนบ้านน้ำเค็ม’ ได้ก่อเกิดขึ้นภายใต้การฟื้นฟูภัยพิบัติ เกิดองค์กรชุมชนที่มีระบบการจัดการการเงิน การฟื้นฟูที่อยู่อาศัย การฟื้นฟูอาชีพ การเชื่อมร้อยเครือข่ายผู้ประสบภัย ‘เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ’ ชุมชนบ้านน้ำเค็มฟื้นชุมชนให้คืนกลับมาเฉกเช่นเดิม แต่เรายังไม่สามารถอาศัยอยู่ภายในชุมชนที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติได้อย่างสงบสุข ชุมชนจึงผลักพลังให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยองค์กรชุมชน โดยการสนับสนุน หนุนเสริมของภาคีพัฒนาที่หลากหลาย จากชุมชนผู้ประสบภัย กลับกลายเป็นชุมชนป้องกันและพร้อมรับมือภัยพิบัติ
โมเดลบ้านน้ำเค็ม เกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเครือข่ายผู้ประสบภัยจากทั่วโลก กว่า 70 ประเทศ และยังขยายไปสู่ประเทศที่เกิดภัยในทั่วโลก พม่า อินโด อินเดีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ที่เกิดภัย
ชุมชนนี้ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฟื้นฟูภัยพิบัติ จนเกิดเครือข่ายภัยพิบัติขึ้น เกิดแหล่งเรียนรู้ขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ เช่นที่เครือข่ายภัยพิบัติ อุบลราชธานี เครือข่ายรักอ่าวไทยตอนบน เครือข่ายสิ่งแวดล้อมปทุม เครือข่ายชุมชนท่าหิน จ.สงขลา และเครือข่ายภัยพิบัติชะอวด-เชียรใหญ่ เป็นต้น
วงจรภัยพิบัติของเมืองไทย….สิบปีมานี้ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก มีแต่เพิ่มความถี่และรุนแรงขึ้น เริ่มตั้งแต่น้ำท่วมในภาคเหนือ ไล่ลงมาที่ภาคอีสานเหนือ อีสานใต้ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลงไปที่ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เราอาจเฉลี่ยภาคละ 1 เดือน รวมแล้วกว่า 9 เดือน นี่เฉพาะภัยน้ำท่วมเท่านั้น หากรวมภัยแล้ง ภัยหนาว ประเทศไทยควรมีจำนวนเดือนให้มากกว่าประเทศอื่น ๆ เพื่อจะได้จัดแบ่งช่วงปฏิทินภัยให้พอดีกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น
นี่ไม่รวมแผ่นดินไหว สึนามิ แต่ในหลายชุมชนเขามีปฏิทินภัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดวิถีชีวิตชุมชนของเขาเองและเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแล้ว โดยกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นพื้นที่รูปธรรม ให้ชุมชนอื่น ๆได้เรียนรู้ดูงาน ยังคงเหลือแต่รัฐไทยที่ยังไม่ได้เตรียมการรับมือ เพียงเตรียมการเยียวยาและถุงยังชีพ
วัฏจักรความจน ชาวอุบลราชธานี เคยกล่าวไว้ ว่า “คนอุบล น้ำท่วม 3 เดือน กู้เงินเพื่อฟื้นฟูบ้าน ฟื้นฟูอาชีพ 4 เดือน และหาเงินใช้หนี้อีก 5 เดือน แล้วเราจะหนีความจนได้อย่างไร”
ผู้ประสบภัยจะหวนคืนวิถีชีวิตได้ดั่งเดิม เวลาอาจผ่านไป 3 หรือ 4 เดือน กว่ารายได้จะหวนคืนสู่ครอบครัวที่เคยประสบภัยน้ำท่วมอีกครั้งหนึ่ง เขาและเธอเหล่านั้นต้องจัดสรรปันส่วนรายได้อย่างระมัดระวัง เพราะไหนจะดอกเบี้ยเงินกู้ ไหนจะค่าใช้จ่ายในครอบครัว ไหนจะเป็นต้นทุนทางการผลิต ใกล้ถึงเวลาฟ้าหลังฝนสดใสอีกครา และแล้วจะไม่ทันตั้งตัว หลายพื้นที่ภัยหนาวเข้ามาเยือนอีกครั้ง บางพื้นที่เกิดภัยแล้งต่อ บางพื้นที่ก็พอจะเริ่มต้นตั้งหลักได้ วิถีชีวิตชุมชน ครอบครัวเข้าที่เข้าทาง ครบรอบ 1 ปี พอดี ภัยพิบัติหวนกลับคืนมาอีกครา น้ำท่วมอีกครั้ง หนี้เก่ายังใช้ไม่หมด น้ำท่วมซ้ำอีก ครบรอบวงจรอีกครั้ง เหตุการณ์เหล่านี้สะสม รุนแรงและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
นี่คือวัฏจักรความจน..ของคนไทย จึงจะอยู่คู่กันตลอดไปและหนักหนาสาหัสขึ้น ทวีความรุนแรงขึ้น หากรัฐบาลไม่มีระบบการจัดการน้ำทั้งระบบ รัฐไม่มีแผนรับมือ ป้องกันภัยพิบัติแบบกระจายลงสู่ชุมชน รัฐบาลไม่ส่งเสริมสนับสนุนชุมชนให้มีแผนรับมือภัยพิบัติ อบรม พัฒนา หรืออื่น ๆ
ชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เพื่อลดวัฎจักรความจน หลายพื้นที่ชุมชนได้มีความพยายามที่จะจัดการตนเอง การเตรียมตนเอง การเตรียมชุมชน การเริ่มต้นที่อาจต่างกัน แต่ในพื้นที่เหล่านั้นมีศักยภาพพอที่จะรับมือภัยพิบัติ โดยเป้าหมายสำคัญ คือ ลดความสูญเสียชีวิตให้ได้ ลดความเสียหายต่อทรัพย์สิน วิเคราะห์สาเหตุของการเกิดภัยพิบัติ หากสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐได้ก็จะป้องกันความเสียหายได้ทั้งระบบ ทั้งชุมชน ทั้งเมือง และยังบริหารความเสียหาย ลดความเสียหาย บริหารการจัดการอาชีพของคนในชุมชน ตำบล เมือง ได้
ช่วง 7 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา น้ำกำลังท่วม ไล่ลงมาอีกแล้วทั้งที่ดูเหมือนรัฐบาลจะเตรียมพร้อมรับมือ น้ำท่วมปีนี้อาจเป็นบทพิสูจน์เช่นเดียวกันว่า ตกลงรัฐบาลป้องกันน้ำท่วมได้หรือไม่ รัฐบาลบริหารจัดการน้ำได้หรือไม่ รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงทีหรือไม่ รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทั่วถึงหรือไม่
เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือผู้ประสบภัยได้รับความเดือนร้อน เพราะรอความช่วยเหลือ หรือผู้ประสบภัยลุกขึ้นช่วยเหลือกันเองได้ หรือรอให้รัฐแจกข้าวกล่อง หรือผู้ประสบภัยจัดตั้งศูนย์ดูแลช่วยเหลือกันเอง ทำอาหารกินกันเอง รัฐส่งวัตถุดิบ หรือรอถุงยังชีพ หรือว่าเราเตรียมรับมือภัยพิบัติอยู่ก่อน อาจดูเหมือนเป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีคำตอบตายตัว ว่าอย่างไหน แบบไหน ที่เหมาะกว่ากัน
เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นฐานจากทั่วประเทศ ได้มีการสรุปบทเรียนกันปีแล้วปีเล่า โดยมีข้อเสนอ เร็ว ๆ ว่าการจัดการภัยพิบัติโดยสนับสนุนให้ชุมชนเตรียมพร้อมรับมือ และรับสนับสนุนกระบวนการ งบประมาณ และหนุนเสริมเมื่อเกิดภัยตามแผนรับมือ เช่น
1.)รัฐยกเลิกการแจกข้าวกล่องและสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนจัดตั้งครัวกลางดูแลกันเองในระดับชุมชน
2.) รัฐยกเลิกการแจกถุงยังชีพ แต่สนับสนุนงบประมาณตรงให้ชุมชนบริหารจัดการตามกรอบงบประมาณ
3.) รัฐสนับสนุนให้ชุมชนจัดหาเครื่องมือในการจัดการภัยพิบัติ เช่น ศูนย์พัก เรือ ส้วม เครื่องครัว เพราะจะสร้างความยั่งยืนและช่วยเหลือกันเอง
4.) รัฐควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้เตรียมการป้องกันภัยพิบัติโดยท้องถิ่น การช่วยเหลือเยียวยา ให้ท้องถิ่นเป็นหลัก โดยเข้าถึงงบทดลองราชการในการจัดการภัยพิบัติด้วย
5.) ต้องปรับปรุงกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้สอดคล้องกับ ภัยพิบัติในปัจจุบัน ด้วย
ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อเสนอที่ผ่านกระบวนการถอดบทเรียนร่วมกันของเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ และเครือข่ายภัยพิบัติชุมชนจากทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และอาจมีข้อเสนออื่น ๆ ที่จะพัฒนาร่วมกันไป แต่ภัยพิบัติจะยังคงมาเยือนพวกเรา ถี่ขึ้น หนักขึ้นเรื่อย ๆ หรือเราจะเอาชีวิต ครอบครัวฝากความหวังไว้กับหน่วยงานองค์กร หรือคนอื่นทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าเขาจะช่วยอะไรเราได้ทันท่วงที วัฎจักรความจน…จางหายไปเมื่อรัฐไทยหวนกลับมาทำหน้าที่หนุนเสริมให้ชุมชนบริหารจัดการภัยพิบัติด้วยตัวเอง รัฐมีหน้าที่สนับสนุน หนุนเสริมทรัพยากร องค์ความรู้ ในการจัดการที่หลากหลายภายใต้บริบทของชุมชน คือ คำตอบ
ความเชื่อเรื่องการจัดการภัยพิบัติชุมชน “ช่วยเหลือเขาให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืน ช่วยเหลือเขาให้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างปลอดภัย และช่วยเหลือเขาให้ช่วยผู้อื่นได้ในอนาคต”