
การปลูกป่าและปัญหาของการอนุรักษ์ระบบนิเวศ
ในปัจจุบันกิจกรรมการ “ปลูกป่า” ได้รับการชวนเชื่อว่าเป็นการช่วยธรรมชาติและแสดงถึงการมีจิตสำนึกของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นการรักษาหรือยิ่งเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตามก็มีการตั้งคำถามจากกลุ่มนักวิชาการด้านนิเวศวิทยาว่า
” การปลูกต้นไม้ที่นิยมทำโดยได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มข้นจากหน่วยงานรัฐและเอกชน สร้างประโยชน์และเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง? “
องค์ประกอบของชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตและจำนวนความหนาแน่นของแต่ละชนิดก็จะถูกกำหนดทั้งจากปัจจัยทางกายภาพและความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง โดยปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดในแต่ละพื้นที่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นชนิดและปริมาณความหนาแน่นของพืชสัตว์และจุลินทรีย์ในระบบนิเวศก็จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ยกเว้นพื้นที่ที่ ได้รับผลจากภัยพิบัติเฉียบพลันเช่นแผ่นดินไหว สึนามิหรือพายุ ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่ระบบก็จะค่อยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพของพื้นที่นั้น

เมื่อมนุษย์เริ่มมีวิวัฒนาการมากขึ้นก็เริ่มมีการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ เช่น การล่าสัตว์ จับปลา เก็บหาผลไม้ ตัดไม้มาใช้ประโยชน์ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นไม่มากนักระบบนิเวศก็ยังคงรองรับได้ ต่อมาเมื่อมนุษย์มีจำนวนมากขึ้น มีการเรียนรู้มากขึ้นก็เริ่มมีการคัดเลือกพืชและสัตว์ที่ใช้ประโยชน์ได้ เพื่อมาเพาะปลูกและเลี้ยง จนเกิดเป็นการเกษตรที่ทำให้ได้ผลผลิตในปริมาณมากตามเวลาที่ต้องการ อันนำไปสู่การเปลี่ยนพื้นที่จากระบบนิเวศ ดั้งเดิมเป็นพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ โดยเลือกเฉพาะบางชนิดที่ใช้ประโยชน์ได้ พืชสัตว์แมลงและจุลินทรีย์ที่ไม่พึงประสงค์ถูกจัดให้เป็นศัตรูที่ต้องกำจัด
“มนุษย์เริ่มมีวิวัฒนาการ และใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศมากขึ้น ทำให้พื้นที่จากระบบนิเวศดั้งเดิมเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ พืช สัตว์แมลงและจุลินทรีย์ ที่ไม่มีประโยชน์กลายเป็นศัตรูที่ถูกกำจัด“
การทำการเกษตรทั้งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ถึงแม้จะทำให้ได้ผลิตตรงต่อความต้องการของมนุษย์ แต่ก็ต้องการการดูแลแทนที่ธรรมชาติ หรือมากกว่าธรรมชาติ เช่น การรดน้ำ การใส่ปุ๋ย การถางพรวนดินและใช้ สารกำจัดสิ่งที่เรียกว่าวัชพืชหรือศัตรูพืชซึ่งอาจจะมีอยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อนมีการเกษตรด้วยซ้ำ การทำการเกษตรไม่ใช่เรื่องผิด รวมถึงการพัฒนาระบบและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเกษตร เช่น ระบบชลประทาน การใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ การใช้ยาและสารป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เป็นต้น ก็เป็นความจำเป็นเพื่อให้ผลผลิตมีเพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ชาติ

ปัญหาของเกษตรกรรมและปัจจัยสนับสนุนทางการเกษตรต่างๆ จะเป็นเรื่องของผลกระทบทางตรงของการเกษตรต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จะเป็นเรื่องความขัดแย้งของการใช้ที่ดิน การแย่งใช้น้ำ มลพิษ จากสารเคมีการเกษตรเป็นต้น ปัจจุบันก็มีการยกเป็นประเด็นกันอย่างกว้างขวางในที่ต่างๆ และไม่ใช่สาระหลักที่จะกล่าวถึงในที่นี้
สิ่งที่อาจจะมีการพูดกันน้อย คือการนำวิธีคิดของการทำการเกษตรมาใช้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศ ซึ่งหลักคิดของการทำการเกษตร จะเป็นการมองตั้งต้นจากประโยชน์ที่ต้องการ จากนั้นจึงเลือกหาพืชที่ตอบโจทย์และสามารถเติบโตได้ในพื้นที่นั้นเพื่อมาปลูก เก็บเกี่ยวหรือตัดฟันมาใช้ประโยชน์เมื่อพืชเหล่านั้นได้อายุ เช่น ต้องการธัญพืชก็ปลูกข้าว ต้องการน้ำตาลก็ปลูกอ้อย ต้องการยางก็ปลูกยางพารา ต้องการผลไม้ก็ปลูกมะนาว มังคุด ละมุด ลำไย ต้องการไม้เนื้อแข็งก็ปลูกสัก ยางนา ต้องการเยื่อกระดาษก็ปลูกยูคาลิปตัส ต้องการเชื้อเพลิงก็ปลูกโกงกาง กระถินต่างๆ เป็นต้น
ปัจจุบันความต้องการประโยชน์จากการปลูกพืชไม่ได้จำกัดแต่เพียงการเก็บหาผลผลิตเท่านั้น แต่รวมไปถึงการปลูกเพื่อประโยชน์ที่ไม่ต้องมีการเก็บเกี่ยวอีกด้วย เช่น ต้องการลดภาษีที่ดินก็ปลูกไม้โตเร็ว ต้องการป้องกันการพังทลายของดินก็ปลูกหญ้าแฝก ต้องการพื้นที่ร่มเงาเพื่อสันทนาการก็ปลูกก้ามปู สนทะเล และที่เป็นประเด็นสำคัญในที่นี้ก็คือการปลูกต้นไม้เพื่อการอนุรักษ์และเพิ่มความหลายหลายของพืชพรรณ
ความนิยมการปลูกต้นไม้โดยเฉพาะไม้ยืนต้นเพื่อการอนุรักษ์นั้นน่าจะมาจากความเข้าใจว่า “ป่า” คือพื้นที่ที่มีต้นไม้ยืนต้นอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จึงให้ความสำคัญกับต้นไม้ขนาดใหญ่ และยิ่งต้นไม้ขนาดใหญ่ที่นิยมปลูกกันนั้น เป็นไม้ที่ใช้ประโยชน์เนื้อไม้ได้หรือมีผลหรือใบที่กินได้ ก็ยิ่งสอดคล้องกับค่านิยมของสังคมที่ให้ ความสำคัญต่อประโยชน์ที่จะได้รับก่อนที่จะคิดถึงการเสียสละใดๆให้กับสิ่งมีชีวิตร่วมโลก การปลูกต้นไม้ยืน ต้นอะไรก็ได้เป็นจำนวนมากในพื้นที่ จึงเป็นการ “ทำดี” เพราะเป็นการ “ปลูกป่า”

“ค่านิยมการ ทำดี คือ การ ปลูกป่า ด้วยต้นไม้ยืนต้นอะไรก็ได้ จำนวนมากๆ ในพื้นที่ แต่ไม่ใช่ตามหลักทางนิเวศวิทยา “
ตามหลักการทางนิเวศวิทยานั้น ป่าไม่ใช่แต่เพียงพื้นที่ที่มีต้นไม้ยืนต้นมาขึ้นรวมกัน แต่ต้องประกอบด้วยพืช สัตว์ เห็ดราและจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ในปริมาณและความหลากหลายที่สอดคล้องกับสภาพ ทางกายภาพและความสัมพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระบบนิเวศนั้น ในป่าที่แท้จริงโดยเฉพาะในเขตร้อนนั้น ถึงจะมีแหล่งต้นพันธุ์ในพื้นที่ใกล้เคียงที่หลากหลาย แต่ต้นไม้แต่ละต้นต้องผ่านการต่อสู้เพื่อให้อยู่รอด ต้นที่สู้ไม่ได้ หรือขึ้นในจุดที่ไม่เหมาะสมก็จะตายไปและมีชนิดอื่นมาขึ้นแทน จึงทำให้มักไม่มีต้นไม้ชนิดใดที่มีความโดดเด่น จนเกินไป
ในขณะที่การปลูกโดยมนุษย์จะใช้ต้นพันธุ์หรือกล้าที่ได้จากการเพาะ ซึ่งจะมีน้อยชนิดกว่าในธรรมชาติมาก แต่เมื่อถูกนำไปปลูกเป็นจำนวนมาก ทำให้เพิ่มโอกาสในการอยู่รอดมากกว่าต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ จนกลายเป็นชนิดพันธุ์ที่โดดเด่นกว่าต้นไม้ตามธรรมชาติไปในที่สุด
ต้นไม้ที่นิยมปลูกกันจำนวนไม่น้อยเป็นพืชต่างถิ่น ทั้งที่เป็นพืชต่างประเทศ เช่น ก้ามปู กระถิน สนทะเล ยูคาลิบตัส พืชต่างถิ่นเหล่านี้มักจะเป็นต้นไม้โตเร็ว ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย มีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าต้นไม้ดั้งเดิม เป็นต้นไม้ที่ถูกนำเข้ามาเพื่อการปลูกเพื่อการใช้เนื้อไม้อย่างรวดเร็วในสวนป่า ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการนำไปปลูกในป่าตามธรรมชาติ
ต้นไม้ต่างถิ่นที่มีการปลูกในพื้นที่ป่าจะรวมถึงต้นไม้ที่อาจพบในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ แต่ไม่เคยปรากฎในป่าแห่งนั้นมาก่อนอีกด้วย เช่น การปลูกโกงกางในพื้นที่ตะกาดในระบบนิเวศหาดทรายในหลายพื้นที่ของประเทศ การปลูกต้นไม้ต่างถิ่นหรือแม้แต่ปลูกต้นไม้ชนิดที่มีอยู่เดิมแต่ปลูกในปริมาณและความหนาแน่นที่มากกว่าธรรมชาติ อาจจะไม่ใช่การอนุรักษ์หรือเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศนั้นก็ได้ ถ้าหากต้นไม้ที่นำมาปลูกก่อให้เกิดผลในทางลบต่อพืช สัตว์และจุลชีพต่างๆที่มีอยู่เดิม

“ต้นไม้ต่างถิ่นที่นำไปปลูกในพื้นที่ป่า เช่น ก้ามปู กระถิน สนทะเล ยูคาลิบตัส โกงกาง อาจส่งผลกระทบต่อพืชดั้งเดิมในพื้นที่ เช่น การแย่งน้ำ แย่งอาหาร บดบังแสงแดด พิษจากราก”
ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากการแย่งน้ำ แย่งอาหาร การบังแสงเพิ่มร่มเงา พิษจากราก ลำต้น ใบ ดอกและผล เป็นต้น จนทำให้จำนวนชนิดและความหลากหลายในภาพรวมของระบบนิเวศนั้นลดลง ทัศนคติของการปลูกพืชในระบบเกษตรคือปลูกแล้วต้องขึ้น ปลูกแล้วตายคือความล้มเหลว ในขณะที่ระบบนิเวศตามธรรมชาติ ความตายคือเรื่องปกติ เป็นกลไกที่ทำให้ทุกสายพันธุ์มีที่ยืนในระบบ ดังนั้น บ่อยครั้งจะเห็นว่าการปลูกต้นไม้ในป่า จะมีการดูแลตัดสางพืชที่ไม่ใช่เป้าหมายหรือวัชพืช การให้น้ำ ให้ปุ๋ย และยาฆ่าศัตรูพืช ซึ่งน่าจะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงไม่มากก็น้อย นอกจากนี้หากต้นไม้ที่ปลูกตายไป เพราะสาเหตุตามธรรมชาติหน่วยงานที่รับผิดชอบก็อาจจะต้องชี้แจงกับหน่วยงานตรวจสอบ ดังนั้นจึงยิ่งมีการดำเนินการเพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกให้รอดให้มากที่สุด ซึ่งเป็นการคัดสรรที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติและส่งผลต่อความหลากหลายของพืชพรรณชนิดอื่นๆ ในพื้นที่
ในความเป็นจริงแล้วการปลูกต้นไม้ แม้แต่จะเป็นพืชต่างถิ่นก็ตาม ในพื้นที่ที่เหมาะสมทางกายภาพ ทางชีวภาพและความยอมรับของคนในพื้นที่นั้นเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต แต่การจะปลูกต้นอะไร ที่ใหน ในจำนวนและรูปแบบการปลูกอย่างไร หรือจะไม่ปลูกอะไรเพิ่มเลยจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน โดยต้องมีการอ้างอิงกับข้อมูลความรู้ถึงสภาพทางกายภาพและชีวภาพในทางทฤษฎีและของพื้นที่จริงจากการศึกษาที่เป็นระบบและจากคำบอกเล่า ทั้งในอดีต ปัจจุบันและมีแผนการติดตามการ เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากมีการปลูกแล้ว

การจัดประเภทของพื้นที่เพื่อการปลูกต้นไม้ เป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่
• พื้นที่ปลูกพืชเพื่อการใช้ประโยชน์ทั้งเพื่อการเก็บเกี่ยวและการใช้ประโยชน์โดยไม่เก็บเกี่ยว มีการใช้ปัจจัยการปลูกต่างๆ ได้แก่ พื้นที่การเกษตร พื้นที่เอกสารสิทธิเพื่อการลดหย่อนภาษี พื้นที่นันทนาการในเขตเมือง พื้นที่ป้องการพังและถล่มทะลายของหน้าดิน พื้นที่ประเภทนี้น่าจะมีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศ
• พืชที่ปลูกแบบผสมผสาน โดยปลูกพืชเพื่อใช้ประโยชน์ปะปนกับพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่อาจไม่ สร้างประโยชน์ต่อมนุษย์โดยตรง เช่น สวนป่า วนเกษตร
• พื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ได้แก่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตวป่า เพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงนิเวศที่ไม่มีการเก็บเกี่ยว ตัดฟัน เช่น เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ควรมีการศึกษาอย่างละเอียดว่าแหล่งต้นพันธุ์ดั้งเดิมยังมีอยู่อย่างเพียงพอหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปนั้นพื้นที่อนุรักษ์ส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังคงมีแหล่งต้นพันธ์ในพื้นที่อย่างเพียงพอ แต่การฟื้นตัวตามธรรมชาติเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานไม่เห็นผลแบบทันตาเหมือนการปลูก แต่ถ้ามีเหตุผลทางวิชาการสนับสนุนว่าควรมีการปลูกเสริมก็ต้องระมัดระวังอย่าง ยิ่งที่จะไม่ให้มีพืชต่างถิ่นหรือพืชพื้นถิ่นที่มีสายพันธุกรรมที่แตกต่างจากพันธุกรรมดั้งเดิมให้ปนเปื้อนเข้ามาในระบบนิเวศ
• พื้นที่เพื่อการสงวนรักษาระบบนิเวศ เป็นพื้นที่ยังคงความดั้งเดิมตามธรรมชาติ ทั้งในทางชีวภาพและกายภาพอย่างมาก เพื่อพื้นที่ที่ไม่คาดหวังหรือตั้งคำถามว่ามนุษย์จะได้ประโยชน์อะไรจากพื้นที่นี้ แต่เป็นพื้นที่ให้เหล่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่มาแต่ดั้งเดิมได้มีที่อยู่และสืบรักษาสายพันธ์ต่อไปเท่าที่จะทำได้ เป็นพื้นที่ที่จะไม่มีการนำพืชหรือสัตว์ใดๆ เข้าไปโดยเด็ดขาด แต่อาจมีการกำจัดจัดพืชและสัตว์ที่ไม่ใช่ สายพันธุ์ดั้งเดิมออกตามความจำเป็น เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวตามธรรมชาติเท่านั้น พื้นที่ประเภทนี้จะมี ขนาดน้อยที่สุด อาจจะไม่เกิน ๑-๒ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ
เขียนโดย : ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ในนามของคณะทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูด้านกายภาพ
มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริ โสภาพัณณวดี