เขื่อนภูมิพล เขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศไทยความจุเก็บกัก 13,462 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2507 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 – 2509) ซึ่งตอบสนองการเร่งสร้างรากฐานเพื่อพัฒนาการเกษตรที่มั่นคง ด้วยการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ในภาคเหนือ คือ เขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก และเขื่อนท่าปลาที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนระบายน้ำที่แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี และเขื่อนอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ในระยะ 6 ปีของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 1 นี้ กิจการชลประทานของประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่ปรากฏมาก่อน ต่อเนื่องมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 และ 3 รัฐมีความมุ่งหวังยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้นโดยการระดมทรัพยากรของประเทศมาใช้เร่งรัดการเพิ่มผลผลิตการเกษตรมีโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญหลายโครงการเกิดขึ้น อาทิ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี โครงการชลประทานแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่เป็นต้น รวมทั้งการก่อสร้างระบบคลองส่งน้ำของโครงการชลประทานต่างๆ ให้สมบูรณ์เพื่อเร่งรัดการผลผลิตและการขยายเนื้อที่เพาะปลูก 2 ครั้งในเขตชลประทานจวบจนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 เกิดเค้าลางของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ แหล่งแร่ และความไม่เพียงพอของทรัพยากรน้ำ และสะท้อนออกมาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 ที่เริ่มมีนโยบายให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพการวางแผนการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง ต่อเนื่องมาถึงนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530 – 2534)

ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจากประชากรที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวทางเศรษฐกิจนอกภาคเกษตร ประกอบกับการบริหารและจัดการน้ำยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้เกิดข้อขัดแย้งของผู้ใช้น้ำกลุ่มต่างๆ ภาครัฐจึงกำหนดแนวทางและมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) และ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) เน้นให้พิจารณาถึงความเหมาะสม ด้านอุทกวิทยาสภาพภูมิศาสตร์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก การมีส่วนร่วมของประชาชน แผนการจัดหาแหล่งน้ำดิบสำหรับการประปา การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการเพื่อลดปริมาณน้ำสูญเสียของน้ำประปาเป็นต้น อย่างไรก็ตามในขณะที่ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติลดลงและเสื่อมโทรมซึ่งมีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สร้างความขัดแย้งในสังคม และเกิดมลพิษอันเป็นอันตรายต่อ
สุขอนามัยของประชาชน ปัญหาภัยธรรมชาติเริ่มรุนแรงขึ้น สะท้อนถึงความไม่สมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีมนุษย์และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ ทำให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2549)ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554) และ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) เน้นการพัฒนาแบบองค์รวมโดยยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และจากวิสัยทัศน์ของกรอบยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการ พัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป้าหมายแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) จึงยึดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ โดยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ รักษาคุณภาพน้ำ เห็นได้ว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งน้ำในอดีตที่สอดคล้องกับนโยบายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติช่วงแรกๆ เน้นการก่อสร้างทั้งโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ต่อมาเมื่อมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นจึงได้ปรับเปลี่ยนนโยบายจากการพัฒนาการก่อสร้างมาเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการมากขึ้น ให้ความสำคัญต่อสมดุลธรรมชาติ และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เน้นย้ำถึงนโยบายการสร้างสมดุลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ถึงฉบับที่ 12 มาสู่การปฏิบัติในโลกความจริงนับถึงวันนี้เกือบ 30 ปีแล้วที่เรายังคงรับรู้รับทราบถึงความย้อนแย้งระดับชาติ …
จำนวนมากกับโครงการเพิ่มพื้นที่ป่า แต่กลับพบว่าป่าไม้ยังลดลงเรื่อยๆ โครงการก่อสร้างที่อ้างว่าเพื่อการพัฒนาแต่ทำลายพื้นที่ป่ามาสังเวยการพัฒนาที่ไม่รู้ว่าจุดสมดุลอยู่ตรงไหน ความย้อนแย้งดังกล่าวยังรวมถึงนโยบายที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน หากแต่ประชาชนผู้ยากไร้ในพื้นที่ห่างไกลยังเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐมีกระบวนการมีส่วนร่วมที่จริงใจ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การพูดอยู่ฝ่ายเดียวของคนจากบริษัทรับจ้างศึกษา การมีส่วนร่วมที่ไม่ใช่การนับจำนวนผู้เห็นด้วยจากภาพถ่ายกิจกรรมใดๆ ที่ให้ชาวบ้านยกมือ ที่ชาวบ้านรับแจกเจลอแอลกอฮอล์ รับแจกน้ำดื่ม รับแจกของเล่น รับแจกยาแก้ไอ สมุนไพร มะขามป้อม ดังที่ปรากฎอย่างน่าอายในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือที่รู้จักกันในชื่อ โครงการผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน

โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล
ที่ปัจจุบันถูกรื้อฟื้นขึ้นมาทบทวนการศึกษาความเหมาะสม และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ใช่โครงการใหม่ แต่เป็นโครงการที่มีแนวคิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงานหลังจากที่การศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2549 โครงการนี้ก็ถูกพับไปเนื่องจากใช้งบประมาณสูงมากจวบถึงปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลโดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อ้างถึงปัญหาวิกฤติภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาทบทวนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล รวมทั้งรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมที่สุด
จากที่มาที่ไปดังกล่าว ปัจจุบันรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ที่กรมชลประทานได้ว่าจ้าง บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บนความขัดแย้งระหว่างกรมชลประทานและกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และข้อทักท้วงของนักอนุรักษ์ นักวิชาการหลากหลายสาขา รวมทั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อาทิ
1. กระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐ โดยคณะทำงานของผู้รับจ้างศึกษา เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริงหรือไม่ มีเจตจำนงค์ที่จะรับฟังและบรรเทา หรือ แก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด หรือเป็นเพียงขั้นตอนการนำเสนออยู่ฝ่ายเดียวต่อกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มที่มีความเข้าใจต่อภาษาไทยเพียงน้อยนิด
2. ประเด็นทางด้านความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่โครงการ ในเล่มการศึกษาความเหมาะสมฯ และ รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบุ “… พื้นที่โครงการเป็นพื้นที่มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง และเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บริเวณใกล้เคียงในอดีต … เป็นกลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง…”
3. ประเด็นทรัพยากรธรณี เนื่องจากพื้นที่โครงการมีแร่ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี ยูเรเนียม ฯลฯ โดยรายงานฯ ระบุว่าถึงความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนโลหะหนักสู่ดิน น้ำ และ อากาศ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขอนามัยในระดับรุนแรงหากไม่มีมาตรการลดผลกระทบที่ดีพอ
4. นักวิชาที่มีความเชี่ยวชาญทรัพยากรด้านน้ำ ยังมีคำถามต่อการปนเปื้อนทางชีววิทยาของพันธุ์ปลาและสิ่งมีชีวิตในน้ำ จากลุ่มน้ำสาละวิน ไปสู่ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา สู่ลุ่มน้ำท่าจีน และออกอ่าวไทยในที่สุด ซึ่งมาตรการลดผลกระทบฯ ที่ปรากฎในเล่มรายงานนั้น ผู้เขียนระบุว่าเป็นวิธีการที่ยังไม่เคยทำมาก่อนในลุ่มน้ำใด
5. ประเด็นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไปเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ซึ่งนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มีคำถามต่อการที่ผู้รับจ้างศึกษาได้พูดคุยกับเกษตรกรในลุ่มเจ้าพระยาเพียง 28 ราย และการพยายามปั้นแต่งให้ตัวเลขผลประโยชน์จากโครงการสูงเกินความเป็นไปได้หรือไม่
6. มีแนวโน้มจะดำเนินการในรูปแบบ PPP หรือ รัฐ-เอกชน ร่วมทุน ซึ่งน้ำเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นสำหรับทุกชีวิต รัฐไม่อาจใช้แนวคิดแสวงหากำไรมาดำเนินการได้ ที่สำคัญ หากรูปแบบการดำเนินกิจการส่งผลต่อราคาต้นทุนของน้ำ ภาครัฐยังไม่อาจให้ความกระจ่างได้ว่าใคร หรือ หน่วยงานใด จะเป็นผู้รับผิดชอบในค่าน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และ ด้วยวิธีการใด
7. ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ผลจากการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ คือ จากลุ่มน้ำยวม ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำสาละวิน มายังลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำเจ้าพระยานี้ ผู้ได้รับผลกระทบคือ เกษตรกรทุกคน ผู้ใช้น้ำประปาทุกคน ชาวประมงทุกคน ในลุ่มน้ำยวม ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีน ล้วนเป็นผู้ได้รับกระทบที่ยังไม่รู้ตัวทั้งสิ้น

ขั้นตอนการพิจารณาและอนุมัติรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานฯเพื่อผ่านไปยังคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่ขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณการก่อสร้าง ที่สูงถึง 71,000 ล้านบาท ยังเป็นประเด็นที่กลุ่มชาติพันธุ์ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง นักวิชาการหลากหลายสาขา รวมทั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกต และยังสงสัย ว่าโครงการจะดินไปในทิศทางใดต่อไป ยังสามารถกลับมาสู่กระบวนการรับฟังและการมีส่วนร่วมที่แท้จริงและจริงใจได้หรือไม่ จะมีขั้นตอนใดที่ทำให้หน่วยงานและผู้รับผิดชอบได้หวนกลับมาพิจารณาอย่างถ้วนถี่ รอบคอบ ในทุกมิติ ก่อนที่จะสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรด้านน้ำ พันธุ์ปลาและสิ่งมีชีวิตในน้ำ ที่อยู่ต่างลุ่มน้ำและต่างทะเล ต่อชีวิตเกษตรกร ต่อผู้ใช้น้ำประปาทุกคน ต่อชาวประมง และต่อสมดุลนิเวศ ที่นำไปสู่หายนะระดับประเทศได้หรือไม่?
นอกเหนือจากคำถามต่อ “สถานะทางการเงินของประเทศ” ในปัจจุบัน … ยังไม่มีผู้ใด หรือ หน่วยงานใดรับประกันได้ว่า “หากทุ่มงบประมาณ 71,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล นี้แล้ว จะแก้ปัญหาด้านน้ำของลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้อย่างยั่งยืน” ???