Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

ผันน้ำยวมเติมภูมิพล…ก้าวยากของทุกฝ่ายใครคือคนที่รวยขึ้น(ตอนที่ 2)

โดย ผศ. ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ที่ปรึกษา ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ไทยพีบีเอส

การก่อตั้งกรมชลประทานเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เพื่อให้ทำหน้าที่รับผิดชอบงานการขุดคลอง การทดน้ำ การส่งน้ำ และการสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกอย่างทั่วถึง ย่อมแสดงถึงการที่ภาครัฐให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพาะปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ข้าว’ ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย ดังนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งน้ำ การกระจายน้ำ สร้างความมั่นคงทางน้ำ และใช้ทรัพยากรทุกอย่างเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าว และเพื่อให้ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นที่ 1 ของโลก ดังเป็นความภาคภูมิใจมาหลายยุคหลายสมัย

อย่างไรก็ตามประเทศชาติต้องเดินไปตามกระแสโลกที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เร่งกระบวนการสร้างการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น เกษตกรผู้ได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติก็ต้องเร่งปลูกเร่งสร้างผลผลิตไม่ต่างกัน จากที่เคยทำนา 1 ครั้งต่อปี เพิ่มมาเป็น 2 ครั้งต่อปี และเป็น 5 ครั้งต่อ 2 ปี ดังเช่นหลายจังหวัดในเขตพื้นที่ชลประทาน … แม้กระนั้น ชาวนาส่วนใหญ่ก็ไม่รวย!!! ตรงกันข้าม รายจ่ายจากค่าปุ๋ย ค่ายาที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนรอบการทำนา ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้ผู้ค้ารายใหญ่และเจ้าหนี้ แต่มีรายได้ต่อรอบการปลูกที่ไม่แน่นอน ทำให้ชาวนามีหนี้สินพอกพูน ใช้ชีวิตแบบ ‘หนูถีบจักร’ ทำนาหาเงินได้เท่าไหร่ ก็ไม่พอใช้ต้น จ่ายได้แค่ดอก แล้วก็กู้ใหม่ ซื้อปุ๋ย ซื้อยามาทำนาให้ได้หลายๆ รอบ วนแบบนี้มาแรมปี … ถึงวันนี้

สส. บางคน ข้าราชการบางกลุ่ม ใช้วิกฤตหนี้ของชาวนามาต่อเป็นข้ออ้าง วาดฝันชาวนาดีใจไปกับความมั่นคง มั่งคั่ง หากมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์สำหรับทำนาได้แบบไร้ข้อจำกัด!! จะทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปาก มั่นคง มั่งคั่ง

ให้พวกเราเห็นด้วยกับการทุ่มงบประมาณถึง 71,000 ล้านบาท เพื่อผันน้ำข้ามลุ่มมาแก้ปัญหาน้ำไม่พอทำนาใน ‘พื้นที่ชลประทานเดิม’ … นี่มันคือวาทกรรมหลอกลิงให้ดีใจ หลอกไก่ว่าจะให้พลอยชัดๆ เพราะโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ที่ว่านั้น ต้องใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่การเข้าเคลียร์พื้นที่ป่า ซึ่งเป็นทั้งป่าสมบูรณ์และพื้นที่มีชาติพันธุ์อาศัยอยู่และทำกินมากว่า 40 ปี จนก่อสร้างเสร็จ ส่งน้ำได้ถึง 9 ปี!!!

(อ้างอิงข้อมูลจากรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ)

จากการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2549 – 2560 พื้นที่เกษตรกรรมในลุ่มเจ้าพระยาลดลงร้อยละ 4 พื้นที่ป่าลดลงร้อยละ 12 แต่พื้นที่ชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ตัวเลขดังกล่าว หมายถึงความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ (สำหรับความต้องการน้ำกินน้ำใช้นั้น เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำเพื่อการเกษตร)

ผลการวิเคราะห์การลดลงของการพื้นที่ทำนานี้ สอดคล้องกับข้อมูลแวดล้อมและการวิเคราะห์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ที่ระบุว่ามีสาเหตุมาจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบอาชีพของเกษตรกร การเติบโตทางอุตสาหกรรม และความต้องการด้านที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นผู้เขียนได้พิจารณาตัวเลขรายได้ของเกษตรกรที่ได้จากการทำนาปลูกข้าว (ในที่นี้ ผู้เขียนได้วิเคราะห์ตัวเลขรายได้ของชาวนาในลุ่มน้ำท่าจีน ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ พื้นที่ทำนาเกือบทั้งหมดอยู่ในเขตชลประทาน มีดินดำ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการปลูกข้าวอย่างที่สุด) หากใน 1 ปี ทำนาปี 1 ครั้ง และนาปรัง 1 ครั้ง เกษตรกรจะมีรายได้เหนือต้นทุนการปลูกข้าวเท่ากับ  3,633.7 บาท/ไร่/ปี ซึ่ง ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้ให้ข้อมูลไว้เมื่อปี พ.ศ. 2557 ว่า จากการคำนวณตัวเลขขึ้นทะเบียน ชาวนาถือครองที่ดินเฉลี่ยแล้วแค่คนละ 1 ไร่เท่านั้น โดยชาวนาที่มาขึ้นทะเบียน จำนวน 4.8 ล้านคน

มีที่ดินเป็นของตนเองเพียงร้อยละ 29% ส่วนอีกร้อยละ 71% ทำนาในที่ดินติดจำนอง กับอีกส่วนหนึ่งเช่าที่ดินจากนายทุนเพื่อทำกิน ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยประเมินไว้เมื่อปี พ.ศ.2559 ว่าค่าใช้จ่ายในการทำนาต่อไร่ สำหรับนาปี 3,968 บาท สำหรับนาปรัง 4,891 บาท ซึ่งตามปกติแล้ว ‘ผลผลิตข้าวต่อไร่’ โดยเฉลี่ยทั้งประเทศจะอยู่ระหว่าง 400-800 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับว่าอ้างอิงแหล่งข้อมูลใด โดยข้าวนาปรังจะมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าข้าวนาปี และนาในพื้นที่ชลประทานจะได้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่านานอกพื้นที่ชลประทาน) ขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าว สภาพดิน แหล่งน้ำ และปัจจัยอื่นๆ เรียกว่าทำนา 1 ไร่ ได้ข้าวไม่ถึง 1 ตัน ประกอบกับข้อมูลจากงานวิจัยเรื่องภาวะหนี้สินกับการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร กรณีศึกษากลุ่มองค์กรเกษตรกรบ้านคลองใหญ่ อ.หันคา จ.ชัยนาท ซึ่งระบุว่าชาวนาที่นี่ไม่ได้หารายได้จากการทำนาเท่านั้น แต่ยังหารายได้จากแหล่งอื่นๆ มาจุนเจือครอบครัวด้วย แต่สุดท้ายก็ยังพบว่า พวกเขามีรายได้สุทธิติดลบ 23,567 บาทต่อปี โดยต้นทุนรายจ่ายที่สูงสุดของชาวนาในบ้านคลองใหญ่ ก็คือ ‘ค่าเช่าที่ดิน’ ซึ่งคิดเป็น 40% ของทั้งหมด

ทั้งหมดทั้งสิ้นที่กล่าวมานั้น เพียงเพื่อจะบอกว่า ข้ออ้าง ‘การหาน้ำมาให้ชาวนา’  ทั้งลุ่มน้ำปิงตอนล่าง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ได้ทำนาอย่างไม่มีขีดจำกัดนั้น ไม่ได้นำชาวนาไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างที่ สส. และข้าราชการระดับบริหารบางหน่วยงานได้โฆษณาชวนเชื่อและพยายามสะกดหมู่กับคนทั้งลุ่มน้ำและทั้งรัฐบาล รัฐบาลควรตั้งสติ หยุดพฤติกรรมคล้ายแมลงศัตรูพืชที่เมายา แล้วบินตกลงมา หมุนๆๆๆ รอบตัวเองไม่หยุด สุดท้ายคือ เหนื่อย และตาย … ผู้บริหารในรัฐบาล และ หน่วยงานทั้งหลายโปรดแยกแยะ แจกแจง สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชาวนายากจน ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำไม่พอ หรือ ปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ .. แล้วมาเริ่มแก้ปัญหา แบบหว่านพืชหวังผลเลิศ ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบละลายงบประมาณมากถึง 71,000 ล้านบาทลงแม่น้ำเจ้าพยะยา แถมยังแก้ปัญหาน้ำได้ไม่ยั่งยืน แต่จะก่อให้เกิดหายนะระดับประเทศอย่างยากจะเยียวยา

บทความส่วนนี้ แม้ไม่ใช่เรื่องน้ำโดยตรง แต่ก็เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์การใช้น้ำที่มากที่สุด และเป็นประเด็นที่สำคัญ โดยไม่อาจมองข้ามไปได้ ตอนหน้ามาว่ากันถึง ‘แนวทางบริหารจัดการน้ำที่มีทางเลือก’

แชร์


  • ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ สาขาวิศวกรรมเเหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานเเห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

  • ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ สาขาวิศวกรรมเเหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานเเห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)