เครื่องหมายอัศเจรีย์

สึนามิ : บทเรียนจากญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย

สึนามิ (Tsunami) เป็นภาษาญี่ปุ่น มีความหมายตามรากศัพท์ว่า “คลื่นที่ท่าเรือ (harbor wave)” เป็นกลุ่มคลื่นน้ำที่เกิดขึ้นจากการย้ายที่ของปริมาตรน้ำขนาดใหญ่ในมหาสมุทรหรือทะเลสาบขนาดใหญ่ สาเหตุที่ก่อให้เกิดสึนามินั้นมาจากการเกิดแผ่นดินไหวในทะเล การปะทุของภูเขาไฟและการระเบิดใต้น้ำอื่น ๆ (รวมทั้งการจุดวัตถุระเบิดหรือวัตถุระเบิดนิวเคลียร์ใต้น้ำ) จากดินถล่ม จากการไถลของธารน้ำแข็ง จากการชนของอุกกาบาตและการรบกวนอื่น ๆ ไม่ว่าเหนือหรือใต้น้ำ

สึนามิในประเทศญี่ปุ่น พ.ศ.2554 (ค.ศ.2011)

ธรณีพิบัติครั้งประวัติศาสตร์ขนาด 9.0 ริกเตอร์ เขย่าญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2554  ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงสูงที่สุดเท่าที่สำนักสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ เคยวัดได้ โดยจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากชายฝั่งจังหวัดมิยางิทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชูในมหาสมุทรแปซิฟิกเพียง 130 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนจากธรณีพิโรธครั้งนี้ ซึ่งรับรู้ไกลถึงกรุงโตเกียว ยังก่อให้เกิดเกลียวคลื่นยักษ์สึนามิความสูงถึง 10 เมตร ซัดถล่มหลายจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศ อันได้แก่ จังหวัดมิยางิ ฟูกุชิมะ รวมทั้งตัวเมืองหลวงเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

หลังจากเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่น พ.ศ.2554 รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมการรับมือภัยพิบัติ โดยการสร้างกำแพงกั้นคลื่นสึนามิสูง 22 เมตร ป้องกันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฮามะโอกะ ที่ชิซุโอกะ สามารถรองรับแผ่นดินไหวที่ระดับความรุนแรง  9 แมกนิจูด กันเกิดเหตุซ้ำรอยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ นอกจากนี้ ทางบริษัทนิปปอน สตีล แอนด์ ซูมิคิน จำกัด (มหาชน) ได้จัดสร้าง “หอคอยหลบภัยสึนามิ” ขึ้นมา โดยเฉพาะเพื่อความปลอดภัยของพนักงาน โดยมีความสูงจากพื้นดินประมาณ 11 เมตร หอคอยประกอบด้วยสามชั้น ชั้นแรกเป็นเพียงโครงสร้างหอคอย มีเพียงเสาเท่านั้น ส่วนชั้นที่ 2 เป็นชั้นสำหรับเก็บของ เช่น ผ้าห่ม อาหาร วิทยุ ไฟฉาย เสื้อผ้า และชั้นที่ 3 เป็นชั้นสำหรับนอน โดยหอคอยสามารถรองรับคนได้ถึง 400-500 คน  ดังนั้น จึงถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบของญี่ปุ่นทีเดียวในด้านการดูแลความปลอดภัยของพนักงานจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิ

สึนามิในประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ.2561 (ค.ศ.2018)

เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561 เกิดเหตุแผ่นดินไหวระดับตื้น ซึ่งวัดขนาดความรุนแรงได้ 7.5 ตามมาตราขนาดโมเมนต์ โดยมีจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในเขตอำเภอดงกาลา ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาแห่งหนึ่งของจังหวัดซูลาเวซีกลาง ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากเมืองปาลู (เมืองหลักของจังหวัด) ไปทางทิศเหนือประมาณ 77 กิโลเมตร (48 ไมล์) และสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ไกลถึงเมืองซามารินดาในจังหวัดกาลีมันตันตะวันออก และเมืองตาเวาในรัฐซาบะฮ์ ประเทศมาเลเซีย แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดตามหลังแผ่นดินไหวนำหลายระลอก ระลอกที่ใหญ่ที่สุดมีขนาด 6.1 ตามมาตราขนาดโมเมนต์ และเกิดขึ้นเมื่อ 3 ชั่วโมงก่อนหน้า

หลังเกิดแผ่นดินไหวหลัก ทางการอินโดนีเซียได้ออกประกาศเตือนภัยสึนามิบริเวณช่องแคบมากัซซาร์แต่ยกเลิกหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม มีรายงานสึนามิท้องถิ่นเข้าซัดชายฝั่งเมืองปาลูและกวาดทำลายอาคารบ้านเรือนที่เรียงรายตามชายฝั่งจนเสียหาย แผ่นดินไหวและสึนามิยังส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2,010 ราย ทำให้แผ่นดินไหวครั้งนี้กลายเป็นแผ่นดินไหวที่ร้ายแรงที่สุดของอินโดนีเซียนับตั้งแต่แผ่นดินไหวในยกยาการ์ตา พ.ศ. 2549 สำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์อินโดนีเซีย (เบเอ็มกาเก) ยืนยันว่าได้เกิดสึนามิขึ้นจริง โดยมีความสูงระหว่าง 4–6 เมตร และเข้าซัดชุมชนต่าง ๆ ในเมืองปาลู อำเภอดงกาลา และเมืองมามูจู

สึนามิที่ภูเขาไฟอานัคกะรากะตั้ว (Anak Krakatao or Child of Krakatao) บริเวณช่องแคบซุนด้าของอินโดนีเซีย เกิดขึ้นเมื่อเวลา 21.30 เวลาท้องถิ่น (14.30 GMT) คืนวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2561 ภูเขาไฟกรากะตั้ว เกิดระเบิดขึ้นเมื่อสิงหาคม พ.ศ.2426 (ค.ศ.1883) ถือได้ว่าเป็นการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงมากที่สุด 1 ใน 3 ลูกที่ผ่านมา ผลของการระเบิดครั้งนั้นก่อให้เกิดคลื่นสีนามิสูงถึง 41 เมตร ฆ่าผู้คนไปถึงราว 30,000 คน ความรุนแรงพอกับระเบิด TNT 200 เมกกะตัน หรือราว 13,000 เท่าระเบิดปรมาณูที่ถูกทิ้งลงที่ฮิโรชิมา เมื่อปี พ.ศ.2488 (ค.ศ.1945) ตัวเกาะกะรากะตั้วหายไปแล้วมีการสะสมตัวขึ้นใหม่เป็น Anak Krakatoa เมื่อปี พ.ศ.2470 (ค.ศ.1927)

สรุปบทเรียนจากเหตุการณ์สึนามิ

จากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น พ.ศ.2554 และในอินโดนีเซีย พ.ศ.2561 จำเป็นจะต้องมีระบบบริหารจัดการภัยพิบัติสึนามิมารองรับและต้องทำงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ความคาดหวังเพื่อที่จะทำให้การป้องกันและบรรเทาพิบัติภัยที่มีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นอยู่กับประชาชนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเอาตัวรอดในภาวะวิกฤต ร้อยละ 70  ความช่วยเหลือจากภาครัฐ ร้อยละ 20 และระบบการแจ้งเตือนภัย ร้อยละ 10 ดังนั้น การให้ความรู้ในการเอาตัวรอดกับประชาชน มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยต้องเริ่มต้นจากเด็กและเยาวชนยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนประถมศึกษาชิชิโกะ ซึ่งถือเป็นโรงเรียนต้นแบบของการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน สำหรับการเตรียมพร้อมภัยสึนามิกับเด็กนักเรียน

ทั้งนี้ “มาซากิ นาคัทซูจิ” รองผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้อธิบายถึงหลักสูตรการสอนว่า ได้กำหนดให้นักเรียนเรียนสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง โดยวิธีการสอน คือ เน้นการมีส่วนร่วมของเด็กในชั้นเรียนผ่านเกม ด้วยครูหรือผู้นำชุมชนอาสาสมัครจะให้สถานการณ์จำลองขึ้นมาหากเกิดสึนามิและให้เด็กนักเรียนบอกว่า จะต้องเตรียมของอะไรบ้างในความคิดเห็นของแต่ละคน เช่น บางคนอาจหยิบผ้าห่มเพราะกลัวหนาว บางคนหยิบเครื่องช่วยฟังเพื่อเอามาให้คนสูงอายุ บางคนให้เตรียมยาไว้เผื่อบาดเจ็บหรือป่วย “วัตถุประสงค์ของหลักสูตร ไม่ได้ต้องการทำให้เด็กกลัว แต่ต้องการให้เห็นความสำคัญของการเตรียมตัวก่อนเกิดสึนามิ โดยหลักสูตรจะทำให้เด็กช่วยเหลือทั้งตัวเองและผู้อื่น และจะเน้นการสอนให้เด็กเจอกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าเพราะการตัดสินใจในสถานการณ์นั้น ๆ จะสำคัญกว่าความรู้ที่เรียนมาอีก” 

นอกจากนี้ ดร.โอคูโบ โนริโกะ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ได้แนะนำให้ประชาชนเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ โดยกล่าวว่า “พลเมืองทุกคนต้องรู้หน้าที่ในการช่วยเหลือตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียวถึงจะผ่านพ้นเหตุการณ์วิกฤตไปได้” อย่างไรก็ตามท่านมีข้อเสนอแนะคือ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำหนังสือคู่มือปฏิบัติเมื่อเกิดภาวะวิกฤตเพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือภัยพิบัติที่อาจขึ้นในอนาคต

ดร.ดาเตะ ฮิโรโนริ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเรียวโคคุ  ได้บอกเล่าถึงตัวอย่างเหตุการณ์การเกิดสึนามิในญี่ปุ่นว่า “นอกจากจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ผู้ประสบภัยยังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอันเนื่องมาจากการพลัดพรากจากคนรักที่สูญหาย สึนามิจึงเป็นมหันตภัยที่ไม่ได้ส่งผลเสียหายต่อร่างกายของผู้ที่จากไปเท่านั้น แต่ยังผลต่อสภาพจิตใจของผู้ที่มีชีวิตอยู่ ดังนั้นการเยียวยาสภาพจิตใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญ อีกอย่างหนึ่งที่ต้องให้ความใส่ใจในยามที่ประเทศเกิดภาวะวิกฤตจากภัยธรรมชาติที่เราไม่อาจต้านทานได้”

จากเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย พ.ศ.2547 (ค.ศ. 2004) พบว่า ป่าชายเลนเป็นกำแพงธรรมชาติในการป้องกันคลื่นยักษ์สึนามิ ช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งความสำคัญของป่าชายเลนนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริแก่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์)ในพระราชพิธีแรกนาขวัญหว่านข้าว บริเวณสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 ความว่า “…ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชายทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบัน ป่าชายเลนของประเทศไทย กำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายไป โดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงควรหาทางป้องกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกาง เป็นไม้ชายเลนที่แปลก และขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง คือกรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน และกรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสม ในการทดลองขยายพันธุ์โกงกาง และปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป…”

เอกสารอ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki/แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ พ.ศ. 2554

https://th.wikipedia.org/wiki/แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในเกาะซูลาเวซี พ.ศ. 2561

https://bit.ly/39Hlo8R

การประชุมเชิงปฏิบัติการ “Crisis Management : Shared experiences and Lesson learned between Japan and Thailand” ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ สาธร เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2558

แชร์